
AMARIN คบ Dek-D ดีลนี้มีอะไรกันต่อ ?
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเรื่อง บริษัท อมรินทร์บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) หรือ AMARIN เข้าซื้อกิจการ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด หรือ DDI เพิ่มอีก 2,878 หุ้น คิดเป็น 25.90 หุ้น มูลค่า 105.3 ล้านบาท
ส่งผลทำให้การเข้าซื้อหุ้น Dek-D ของ AMARIN จำนวน 2 ครั้ง เข้าถือครองหุ้นคิดเป็น 50.99% ทำให้บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ทันที
- - - - - - - -
จุดเริ่มต้นของ AMARIN ก่อนเข้าซื้อ Dek-D
- - - - - - - -
จุดเริ่มต้นของ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ในปัจจุบัน เริ่มต้นจาก กองบรรณาธิการเล็ก ๆ โดยคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และพรรคพวก ร่วมกันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวนเพื่อผลิตนิตยสาร "บ้านและสวน" ฉบับแรกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2519
ก่อนที่หนังสือ “บ้านและสวน” จะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักอ่านประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทขยายกิจการก่อตั้งโรงพิมพ์เล็ก ๆ เป็นของตนเอง พร้อมรับงานพิมพ์จากสำนักอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน
จุดเปลี่ยนแรกเริ่มต้นจากการระดมทุนครั้งใหญ่ของบริษัทจนทำให้ AMARIN แปรสภาพสู่บริษัทมหาชน พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2536 พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)”
และในเวลาไม่นานก็ได้ก่อตั้งบริษัทย่อยบริษัทแรก โดยใช้ชื่อว่า บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมด พร้อมตั้งร้านค้าหนังสือร้านแรกของบริษัทชื่อว่า “นายอินทร์”
เมื่อเวลาผ่านไป AMARIN เริ่มมีฐานผู้อ่านมากยิ่งขึ้น ก็เริ่มขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่หนังสือแนวผู้หญิงที่ชื่อว่า “แพรว” และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ AMARIN กลายเป็นสำนักพิมพ์ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก
ในปี พ.ศ. 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้ประกาศขายหุ้นจำนวน 47.62% ให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นในบริษัทลดลงเหลือ 30.83%
ในที่สุดการเปลี่ยนมือครั้งแรกในรอบ 47 ปี ก็เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริหารเดิมทั้ง 3 รายของ AMARIN ได้ประกาศลาออก ส่งผลให้ตระกูล อุทกะพันธุ์ ถูกเปลี่ยนมือไปยัง ตระกูล สิริวัฒนภักดี ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะมีมติแต่งตั้ง “นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ” เข้ามาเป็นคณะผู้บริหารต่อไป
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2565 AMARIN ได้ประกาศที่จะเข้าซื้อ Dek-D เป็นครั้งแรก โดยจะซื้อหุ้นทั้งหมดในสัดส่วน 51% โดยประกาศว่าจะทยอยซื้อหุ้นให้ครบตามจำนวนภายในช่วงกลางปี พ.ศ. 2567
จนกระทั่งปัจจุบัน AMARIN ได้เข้าถือครองหุ้นของ Dek-D แล้วจำนวน 50.99% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ได้ประกาศไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
- - - - - - - -
ผลประกอบการของ AMARIN และ Dek-D ย้อนหลัง 4 ปี
- - - - - - - -
ผลประกอบการของ AMARIN ย้อนหลัง 4 ปี
ปี 2566 รายได้ 4,288 ล้านบาท กำไรสุทธิ 290 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 4,274 ล้านบาท กำไรสุทธิ 474 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 2,960 ล้านบาท กำไรสุทธิ 313 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 2,937 ล้านบาท กำไรสุทธิ 170 ล้านบาท
ผลประกอบการของ Dek-D ย้อนหลัง 4 ปี
ปี 2566 รายได้ 234 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.3 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 206 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 0.9 แสนบาท
ปี 2564 รายได้ 192 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2.5 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 154 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3.5 ล้านบาท
ในอดีตที่ผ่านมาบริษัท AMARIN ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์มาอย่างยาวนาน และเห็นถึงอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ใน 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการปรับลดบ้างเล็กน้อย
รวมถึง Dek-D แม้ว่าธุรกิจในแต่ละปีมีกำไรบ้าง และขาดทุนบ้าง เนื่องจากบริษัทยังอยู่ในช่วงระหว่างการลงทุนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่าบริษัทยังสามารถเติบโตต่อได้
นั่นหมายความว่า Dek-D ที่ปัจจุบันทำแต่บนแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถตีตลาดเข้าสู่ออฟไลน์ได้สำเร็จก็มีโอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าและรายได้เพิ่มขึ้น
- - - - - - - -
Dek-D มีอะไรดี ทำไม AMARIN ต้องเข้าซื้อกิจการ ?
- - - - - - - -
การเข้าซื้อกิจการ Dek-D มีจุดน่าสนใจหลายประการ ได้แก่
1. เปิดโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ นั่นคือกลุ่มวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน Dek-D มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน และเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่วัยรุ่นไทย ส่งผลให้ AMARIN สามารถเข้ามาตีตลาดคนกลุ่มใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสใหม่ ๆ ได้
2. เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมายให้อมรินทร์ ตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่น Dek-D ยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโฆษณา ซึ่งอมรินทร์สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มรายได้
3. Dek-D มีชื่อเสียงในด้านเนื้อหาที่หลากหลายและน่าสนใจ ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น นิยาย การ์ตูน เกมส์ ดนตรี หนังสือ และอื่นๆ อีกมากมาย เนื้อหาเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอคอนเทนต์ของอมรินทร์ และดึงดูดผู้ใช้ใหม่เข้ามาบนแพลตฟอร์มของบริษัทได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถนำหนังสือที่วางขายบนร้านนายอินทร์มาวางขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ได้ เปรียบเสมือนกับ meb เว็บอีบุ๊กชื่อดังของประเทศไทย
4. การเข้าซื้อ Dek-D เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวของอมรินทร์ในการเติบโตในตลาดดิจิทัล โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านสื่อและเทคโนโลยี ซึ่งอาจผสาน Dek-D ในช่องทางออนไลน์กับ AMARIN ในช่องทางออฟไลน์เข้าด้วยกัน
โดยสรุปแล้วการเข้าซื้อกิจการ Dek-D ของ AMARIN จะกลายเป็นการซื้อกิจการที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จาก 3 เหตุผลด้วยกัน คือ
1. ได้รับฐานลูกค้าใหม่ และแลกเปลี่ยนฐานลูกค้าเดิมระหว่างกันและกัน
2. ผลประกอบการที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากโอกาสการขยายธุรกิจทั้งออนไลน์และออฟไลน์
3. แลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ใช้งานระหว่างกัน ทำให้สามารถผลิตเนื้อหาที่โดนใจคนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว
เรียกได้ว่าจากโรงพิมพ์เล็ก ๆ เมื่อ 48 ปีที่แล้ว กำลังจะกลายเป็นสำนักพิมพ์และสื่อที่จะมาอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานแสนนาน และถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของบริษัทที่จะรับการเติบโตใหม่ ๆ พร้อมบุกเข้าตลาดออนไลน์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ถือเป็นอีกหนึ่งดีลที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบัน AMARIN ทำราคาหุ้นอยู่ที่ 4.04 บาท มีค่า P/E Ratio อยู่ที่ 17.44 เท่า และ P/BV Ratio อยู่ที่ 0.84 เท่า และอัตราเงินปันผลอยู่ราว ๆ 4.50% (อัปเดต ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567)
แต่แม้การดีลจะผ่านมา 2 วันแล้ว แต่หุ้นของ AMARIN กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ถ้ามองในแง่ราคาหุ้นที่กำลังร่วงลงเรื่อย ๆ บางทีดีลนี้อาจจะไม่ได้น่าสนใจอย่างที่นักลงทุนคิดไว้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในมุมนักลงทุนให้ดูกันยาวๆ และศึกษาในกรณีต่างๆ ในดีลต่างๆ กำไรในความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นนี้แหละ ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นก็ตาม
เด็กดีที่หลายคนคุ้นเคย เติบโตมีผู้ใหญ่เข้ามาจีบและรับเลี้ยงแล้วตอนนี้ 😬
[1] https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/amarin/financial-statement/company-highlights
[2] https://data.creden.co/company/general/0105549140470