เคยมั้ย? เจ็บปวด เมื่อใช้ “เงินสด”
แต่ไม่สลด เมื่อใช้ “บัตรเครดิต”
เปิดอาการ เงิน(สด)หมด แล้วหดหู่

.
เคยเป็นมั้ย? สมมติว่าต้องซื้อของสักชิ้นหนึ่ง เช่น iPhone 14 ราคา 45,000 บาท ถ้าต้องหยิบแบงก์พันถึง 45 ใบจ่ายให้คนขาย มันจะมีความรู้สึกปวดใจและเสียดายหน่อยๆ ยิ่งตอนนับเงินก่อนส่งให้ หลายคนคงถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า คิดดีแล้วหรือ? เครื่องเก่ายังใช้ได้มั้ย?
.
แต่พอลองเปลี่ยนไปจ่ายด้วยการรูดบัตรเครดิต เอ๊ะ! ทำไมรู้สึกสบายใจกว่า
.
เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้นล่ะ??
.
จริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Pain of paying” หรือ “ความรู้สึกเจ็บปวดเวลาจ่ายเงิน” ของ ศ.แดน อารีลีย์ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ชาวอิสราเอล – อเมริกัน จาก Duke University, เขาเล่าถึงทฤษฎีนี้ว่า “คนเรามักจะเจ็บปวดเสมอเวลาต้องจ่ายเงินออกไป”
.
ที่ผ่านมา มีการนำทฤษฎีนี้ไปทดลอง โดยให้เงินกลุ่มตัวอย่าง 26 คน คนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วให้เอาไปซื้อของหรือจะเก็บเอาไว้ก็ได้
.
จากนั้นใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) สแกนสมองกลุ่มตัวอย่าง โดยเลือกเฉพาะตอนที่ตัดสินใจซื้อของ
.
ปรากฎว่า การจ่ายเงินทำให้สมองส่วน “insula” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลความเจ็บปวด ได้มีการตื่นตัวขึ้น และสมองส่วนนี้จะยิ่งทำงานมากขึ้น ถ้าต้องจ่ายเงินมากยิ่งขึ้นไปอีก
.
อีกทั้ง ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง โดยทดลองให้มีการประมูลราคาตั๋วเข้าชมกีฬาบาสเกตบอล โดยกลุ่มแรกให้ประมูลด้วย “เงินสด” และกลุ่มที่ 2 ประมูลด้วย “บัตรเครดิต”
.
ผลปรากฎว่า การเสนอราคาเฉลี่ยของกลุ่มที่ใช้บัตรเครดิต สูงกว่า กลุ่มที่ใช้เงินสดเกือบ 2 เท่า แสดงให้เห็นว่าคนที่ชอบรูดบัตรเครดิตมักยินดีจ่ายมากกว่าผู้ที่มีเงินสดอยู่ในกระเป๋า
.
บางคนอาจจะแย้งว่าเวลาซื้อของก็มีความสุขดีนิ!! บอกเลยนี่คือความน่าทึ่งของทฤษฎีดังกล่าว
.
ศ.แดน ได้อธิบายว่า ความเจ็บปวด จากอาการ “Pain of paying” จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย
.
1. Time คือ ระยะห่างระหว่างช่วงเวลาที่เงินออกจากกระเป๋ากับเวลาที่ได้รับของ (ยิ่งห่างมาก ยิ่งเจ็บปวดน้อยลง)
.
2. Attention คือ ความชัดเจนของเหตุการณ์ที่เราเห็นตอนจ่ายเงิน (ยิ่งเห็นเงินสดที่ถูกจ่ายออกไปมาก ยิ่งทำไห้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น)
.
ดังนั้น สิ่งที่นักการตลาดทำเพื่อแก้เกม คือ พยายามทำให้ลูกค้า "ถอยห่าง" หรือ "เพิ่มระยะ" จากการควักกระเป๋าจ่ายเงินสด
.
จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต, E-wallet, mobile -banking, BNPL หรือแม้กระทั่ง การเก็บเงินปลายทาง ที่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อลดความเจ็บปวดในการจ่ายเงินสดเต็มจำนวน
.
ต้องบอกก่อนว่า แม้สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการปวดใจ แต่หากใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบนี้บ่อยแบบเพลิดเพลินจนลืมตัว พอถึงวันเรียกเก็บเงิน กระเป๋าของคุณอาจฉีกไม่รู้ตัว
.
ดังนั้น ทุกครั้งก่อนช้อปปิ้งต้องมีสติ ลองถามตัวเองก่อนว่า จำเป็นมั้ย, ซื้อมาแล้วได้ใช้รึเปล่า, ซื้อไปแล้วเรามีความสามารถในการจ่ายคืนหรือไม่, ที่สำคัญ ต้องจดลิตส์สินค้าที่ต้องการซื้อทุกครั้ง เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว ก็น่าจะช่วยได้นะครับ
.
อ้างอิง:
https://insidebe.com/articles/pain-of-paying/
https://blog.acumenacademy.org/pain-paying/
.
.