สูตรสร้างเงิน “ล้านแรก”
โดยคุณปุ่นักลงทุน “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

.
มนุษย์เงินเดือนคนไหนอยากมีเงินล้าน แต่ยังทำไม่ได้ซักที มากองรวมกันตรงนี้เลยครับ
ทั้งที่อดทนทำงานหนัก ตั้งใจเก็บออมเต็มที่ ลงทุนก็แล้วอะไรก็แล้ว ทำไมเรายังไม่มีเงินล้าน?? วันนี้ aomMONEY เอาวิธีที่น่าสนใจในการสร้างเงินล้านมาฝากกันครับ เป็นแนวทางของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของโลก จะเป็นยังไงไปดูกันเลย
.
1.ห้ามใช้อารมณ์กับเรื่องเงิน
.
มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่มักจะระบายความเครียดผ่านการช้อปปิ้ง ยิ่งเครียดมากก็ยิ่งจ่ายมาก เพราะทำให้เรารู้สึกมีอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ จริงๆ แล้วถ้าทำไม่บ่อยก็พอไหวนะ แต่ถ้าเครียดกระจาย ช้อปกระจุยทุกสุดสัปดาห์ ทุกสิ้นเดือน แบบนี้ไม่มีเงินออมแน่ๆ
.
และไม่ใช่แค่กับการช้อปปิ้งเท่านั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวว่า ในโลกของการลงทุน คนส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์ในการซื้อ-ขาย ด้วยเช่นกัน อย่างเวลาที่เห็นนักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้น ก็มักจะตื่นตูมจนเทขายตามไปด้วย หรือบางคนก็รู้สึกผูกพันกับหุ้น เช่น ถือมานานแล้ว หรือซื้อมาแพง จึงไม่กล้าขายหรือ Cut Loss ทำให้ขาดทุนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุนคือ “ความรู้และประสบการณ์” ต่างหาก ท่องไว้ให้ขึ้นใจนะครับ “ห้ามใช้อารมณ์กับเรื่องเงิน”
.
2.ให้เงินทำงาน แทนการทำงานหาเงิน
.
“ถ้ายังหาวิธีทำเงินในระหว่างที่นอนหลับไม่ได้ เราก็จะต้องทำงานไปจนตาย” คำพูดสั้นๆ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่กระแทกใจอย่างจัง ลองนึกดูว่าถ้าเราอยากมีเงินล้าน ตั้งใจทำงานหาเงินแทบตาย พอกลับบ้านมาก็นอนหลับพักผ่อน แต่อีกคนหนึ่งตั้งใจทำงานหาเงินเช่นกัน แต่เขารู้วิธีหาเงินในตอนที่นอนหลับด้วย แบบนี้ใครจะรวยเร็วกว่ากัน?
.
คนส่วนใหญ่มักจะทำงานหาเงิน ตรงกันข้ามกับคนรวยที่รู้จักให้เงินทำงานแทน นั่นคือการนำเงินไปลงทุนหรือสร้างประโยชน์บางอย่าง เพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่า เช่น การซื้อหุ้น-กองทุน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มตัวแล้ว ถ้าใครรู้จักสร้างรายได้จากตรงนี้ ก็จะยิ่งมีโอกาสไปถึงเงินล้านได้เร็วขึ้น
.
3.อย่ามองข้ามค่าธรรมเนียม
.
ข้อนี้น่าสนใจมากๆ ครับ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ “ค่าธรรมเนียม” ในการลงทุน ซื้อ-ขายต่างๆ ก็อาจทำให้เราสูญเสียเงินหลายหมื่นบาทไปฟรีๆ
โดยวอร์เรนยกตัวอย่างผลการศึกษาจาก Morningstar บริษัทจัดอันดับกองทุน ว่ากองทุน Passive Fund มักจะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ราว 0.13% ขณะที่กองทุน Active Fund อยู่ที่ราว 0.66%
.
อาจจะดูต่างกันไม่มาก แต่สมมติถ้าเราลงทุน 3 แสนบาท ในกองทุนที่ให้ผลตอบแทน 8% โดยคิดค่าธรรมเนียมซื้อ-ขาย 0.66% เมื่อผ่านไป 50 ปีเราจะได้เงินราว 10 ล้านบาท แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมไป 9 แสนบาท!! ซึ่งมากกว่าเงินต้นที่เราลงทุนเสียอีก แต่ถ้าเลือกซื้อกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียม 0.03% เราจะประหยัดไปได้ราว 6 หมื่นบาทเลยทีเดียว ยิ่งถ้าลงทุนจำนวนมากๆ ส่วนต่างก็จะมากขึ้นด้วย แม้เราจะควบคุมกำไร-ขาดทุนไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ควบคุมเรื่องค่าธรรมเนียมเองได้นะครับ
.
4.โฟกัส 10 ปีต่อไป ไม่ใช่แค่พรุ่งนี้
.
ข้อนี้วอร์เรนแนะนำเรื่องการออมและการลงทุนครับ โดยเขาบอกว่า หลักการลงทุนที่ดีที่สุดคือ “ให้มองระยะยาว” เขาเชื่อว่าการสร้างผลกำไรตอบแทนนั้น ไม่ได้เกิดจากการคาดเดาแนวโน้มในสัปดาห์หน้าหรือเดือนหน้า แต่เกิดจากการคาดเดาแนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้าต่างหาก ซึ่งเขาก็ยึดหลักนี้ในการเลือกหุ้นดีๆ ด้วยเช่นกัน เพราะการเล่นหุ้นไม่ใช่แค่ซื้อมา-ขายไป แต่ให้มองว่าคือการร่วมเป็นเจ้าของบริษัท และอย่าตื่นตูมกับข่าววงใน เพราะถ้ามันเป็นเรื่องดีๆ ก็คงไม่หลุดมาถึงเรา ดังนั้นต้องรู้จักศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเอง
.
5.ลงทุนกับสุขภาพตัวเอง
.
วอร์เรนมองว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือ “ลงทุนกับตัวเอง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา การหาความรู้เพิ่มเติม การพัฒนาอีคิว รวมถึงความถนัดอื่นๆ ที่จะใช้ต่อยอดได้ในอนาคต เพราะการลงทุนกับตัวเองนั้นถือว่าราคาไม่แพง ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะมันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต
.
ซึ่ง “สุขภาพ” คือ “ทรัพย์สมบัติประการแรก” ของทุกคน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย แล้วจะเอาแรงที่ไหนไปทำงาน ไปลงทุนหาเงินเพิ่มล่ะครับ อย่าลืมว่าเราต้องมีชีวิตอยู่นานๆ เพื่อใช้เงินที่หามาด้วยนะ การลงทุนกับสุขภาพที่เราทำได้ก็เช่น เลือกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สละเวลาสักนิดมาออกกำลังกาย และซื้อประกันชีวิต-ประกันสุขภาพดีๆ สักตัว เผื่อถ้าวันหนึ่งเราโชคร้าย อย่างน้อยก็ยังอุ่นใจได้นะครับ
.
[สรุปจาก aomMONEY]
.
ทั้งหมดนี้ก็คือแนวคิดดีๆ จากวอร์เรน บัฟเฟตต์ หากเราศึกษาและนำไปปรับใช้ รับรองว่าหนทางสู่เงินล้านต้องเป็นจริงได้เร็วขึ้นแน่ๆ ครับ ซึ่งนอกจากการออมเงินแล้ว ก็ควรมีการลงทุนควบคู่ไปด้วย แต่หลายคนยังไม่กล้าที่จะเสี่ยง aomMONEY ขอทิ้งท้ายด้วยอีกหนึ่งข้อคิดดีๆ จากวอร์เรนนะครับ “คนที่ประสบความสำเร็จล้วนเคยผิดพลาดมากก่อน การที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความเสี่ยง คือการตัดสินใจที่แย่ที่สุด แต่ก่อนที่จะกล้าเสี่ยง เราต้องศึกษาและไตร่ตรองให้ดี จากนั้นก็ลุยเลย”
.
อ้างอิง: