ยางวูบล้านตันราคาขึ้นยกแผง เอกชนซื้อตุน-แห่ใช้ยางอินโดฯ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ราคายางเริ่มดีดกลับ หลังเจอ "ภัยแล้ง-ฝนชุก-โค่นยางทิ้ง" ฉุดผลผลิตยางไทยปีཷ วูบกว่า 30% หดเหลือ 3 ล้านตันไม่พอป้อนตลาดโลก ดันราคายางก้อนถ้วยแตะ 30 บาท/กก. โรงงานยางแท่งเอสทีอาร์เฮแนวโน้มทะยาน 75,000 บาท/ตัน ด้านผู้ส่งออกจับมือเครือข่ายใช้ยางอินโดฯป้อนตลาดแทน คาดปีླྀ ราคาน้ำยางสดแตะ 60 บาทปลุกเศรษฐกิจกระเตื้อง
นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญแล้งจัดหลายเดือน และหลังจากนั้นก็มาเจอภาวะลานิญาฝนตก จะทำให้ปริมาณยางพาราของไทยในปี 2559 ลดลงเหลือประมาณ 3 ล้านตันเท่านั้น จากเดิมมีผลผลิตอยู่ที่ 4.5 ล้านตัน หรือปริมาณหายไปจากตลาดโลกกว่า 1 ล้านตัน แนวโน้มจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ราคา 29-30 บาท/กิโลกรัม จากเดิมประมาณ 24-25 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ภาคใต้ราคาจำหน่ายน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 53-54 บาท/กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตยางพาราขนาดใหญ่ได้เตรียมใช้ระบบสับเปลี่ยนโควตา หากไม่สามารถหาซื้อยางไทยได้ก็จะหันไปใช้ยางจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลผลิตมากมาทดแทน
นอกจากนั้น บริษัทยางยังมีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมา และมีแผนควบคุมราคายางไม่ให้เคลื่อนไหวสูงขึ้นมากเกินไป โดยการสั่งเครือข่ายที่เป็นยี่ปั๊วในพื้นที่สวนยางทั่วประเทศซื้อยางสะสมไว้ก่อน จำนวนลอตละอย่างน้อย 100,000 ตัน และเมื่อกว้านซื้อจนครบจำนวนแล้วค่อยตั้งราคารอบใหม่ หากราคายางพารามีการขยับสูงขึ้นมากเกินไปในตลาดซื้อขายล่วงหน้าก็จะใช้กลยุทธ์ทุบราคา เช่น สร้างกระแสข่าวการใช้น้ำกรดยาง ทำให้ยางไม่มีคุณภาพ และหาสิ่งอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบทดแทนยาง เป็นต้น
"ตอนนี้ยางทั้งโลกกำลังขาดแคลน หากจะให้พอเพียงต้องมีการปลูกยางเพิ่มปีละ 1 ล้านไร่ เนื่องจากการใช้ยางทั้งโลกประมาณ 14 ล้านตัน/ปี แต่ในระยะ 2-3 ปีนี้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ยางมีปริมาณน้อย อีกทั้งยางในประเทศไทยถูกโค่นไปเป็นจำนวนมาก ปริมาณจึงลดลง" นายวีระศักดิ์กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางแท่งเอสทีอาร์รายใหญ่ในภาคใต้ เปิดเผยว่า บริษัทประสบปัญหาขาดแคลนยางก้อนถ้วย เศษยางไม่เพียงพอต่อการแปรรูปเป็นยางแท่งเอสทีอาร์ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ขณะที่ออร์เดอร์จากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางบางแห่งมีออร์เดอร์เดือนละประมาณ 5,000 ตัน แต่ไม่สามารถผลิตให้ได้จึงต้องมีการเจรจาผ่อนผัน
แหล่งข่าววงการยาง เปิดเผยอีกว่า ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้ามีสัญญาณอยู่ในแดนบวก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งยางในตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบยางเดือนตุลาคม 2559 สำหรับยางแท่งเอสทีอาร์ 20 ที่แปรรูปจากยางก้อนถ้วย ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 56 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นไปถึงกว่า 75,000 บาท/ตัน
สอดคล้องกับนายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรแปรรูปยางรายใหญ่ของภาคใต้ เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางในตลาดโลกจะดีขึ้นตามลำดับ และราคาน้ำยางสดของไทยจะทะลุ 60 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากตลาดโลกขาดแคลนยางพารา
สำหรับประเทศไทยเคยผลิตได้มากถึง 4.2-4.5 ล้านตัน/ปี แต่ในปีนี้เบื้องต้นประเมินว่าปริมาณยางหดหายไปมากถึง 30-40% โดยจะมียางไม่ถึง 3 ล้านตัน ขณะที่อินโดนีเซียมีปริมาณยางจำนวนมาก และยางเอสทีอาร์ 20 มีราคาต่ำกว่าของไทยโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,450 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนยางไทยราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,500 เหรียญสหรัฐ/ตัน นอกจากนั้น ยางของประเทศเวียดนามและมาเลเซียก็มีราคาต่ำกว่าของไทยเช่นกัน แต่คาดว่ายางไทยจะไต่ระดับขึ้นไปถึงตันละ 1,520 เหรียญสหรัฐได้
"ปัญหาขาดแคลนยางตอนนี้ เกิดจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ร้อนจัดยาวนาน อีกทั้งสวนยางแปลงใหญ่ถูกทิ้งเพราะขาดแคลนแรงงาน ไม่มีคนรับจ้างกรีดยาง อีกทั้งยางในประเทศจีนเหลือในสต๊อกราว 53,000 ตัน ส่วนไทยยังมีสต๊อก 310,000 ตัน จึงไม่ควรที่จะนำออกมาขายในตอนนี้ เพราะจะได้เห็นราคายางในตลาดโลกขึ้นถึง 60 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องดีขึ้นอย่างทันท่วงที" นายกัมปนาทกล่าว