ห้องเม่าปีกเหล็ก

ดีล TRUE+DTAC VS AIS+3BB ความเหมือนในความต่าง

โดย jitpisut
เผยแพร่ :
50 views

ยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่องกับสองดีลร้อนในธุรกิจโทรคมนาคม กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และ การเข้าซื้อกิจการ 3BB ของ AIS ที่ดูเผิน ๆ แล้ว สองดีลนี้จะคล้าย ๆ กัน คือเป็นการรวมกันของธุรกิจสองบริษัทที่อยู่ในตลาดเดียวกัน แต่ในแง่ของรายละเอียด สองดีลนี้มีความต่างกันอย่างชัดเจน เช่น

 

 

  1. นิยามของการรวมธุรกิจ กรณีของ AIS และ 3BB พูดง่าย ๆ คือ เป็นการซื้อกิจการกัน (acquisition) โดย AIS ไปซื้อกิจการ 3BB มาเป็นของตน โดยกิจการบริษัท 3BB จะเข้ามาหลอมรวมยู่ในบริษัท AIS (บริษัท A + บริษัท B = บริษัท A)

 

AIS + 3BB = AIS

 

ขณะที่ดีลระหว่างทรูและดีแทค เป็นการควบรวมกิจการ (merger) ที่เกิดจากการตกลงทางธุรกิจของบริษัทแม่ของทรู ซึ่งก็คือซีพี และบริษัทแม่ของดีแทค ซึ่งก็คือเทเลนอร์ โดยทางซีพีและเทเลนอร์ได้ตกลงกันที่จะทำการควบรวมกิจการของบริษัทลูกของทั้งสองคือทรูและดีแทค เพื่อก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา สมมุติว่าชื่อ NewTechCo (บริษัท A + บริษัท B = บริษัท C) เพื่อทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดยมีโทรคมนาคมเป็นหนึ่งในกิจการของบริษัทใหม่

 

CP (true) + Telenor (dtac) = NewTechCo

 

  1. ลักษณะการประกอบธุรกิจ AIS และ 3BB ต่างประกอบธุรกิจโทรคมนาคมทั้งคู่ เป็นการรวมกันชั้นเดียว คือ บริษัทโทรคมนาคมสองบริษัทรวมกันเหลือบริษัทเดียว ยังคงทำธุรกิจโทรคมนาคมแบบเดิม

 

ต่างจากดีลทรูและดีแทค ซึ่งแม้ทรูและดีแทคจะเป็นบริษัทโทรคมนาคมทั้งคู่เช่นดียวกับ AIS และ 3BB แต่การรวมกันของทรูและดีแทค ไม่ใช่การตกลงรวมกันเองของทรูและดีแทค เพื่อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งหายไป แต่เป็นข้อตกลงของบริษัทแม่ของทั้งคู่ เพื่อให้มีบริษัทใหม่อีกหนึ่งบริษัทเกิดขึ้นมา โดยเป็นการทำธุรกิจแบบเท่าเทียม หรือ equal partnership ที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร แต่ทั้งสองบริษัทมีอำนาจร่วมกันในการตัดสินใจ นอกจากนี้ บริษัทแม่ของทรู ไม่ได้อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นการตกลงทางธุรกิจต่างอุตสาหกรรม (และบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ประกอบธุรกิจเฉพาะโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจอื่น ๆ ด้วย) จึงมีกฎหมายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

 

 

  1. การพิจารณาการรวมกิจการภายใต้ประกาศ กสทช. ปี 61 ด้วยเหตุที่ดีลทรูและดีแทค เกิดจากข้อตกลงทางธุรกิจของบริษัทแม่ ที่ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยตรงทั้งคู่ การตกลงทางธุรกิจของเทเลนอร์และซีพี จึงไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายกสทช. ปี 2561 เหมือนกับดีลของ AIS และ 3BB

 

ดังนั้น การที่ AIS ออกข่าวว่าได้ยื่นขออนุญาตจากกสทช. ในการเข้าทำธุรกรรมกับ 3BB จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ภายใต้ประกาศกสทช. ปี 2561 ในเรื่องการรวมธุรกิจโทรคมนาคม ขณะที่ดีลทรูและดีแทค ที่ว่าเป็นการแจ้งเพื่อทราบนั้น ก็ถือว่าเป็นการทำตามมารยาทที่ควรทำเช่นกัน เนื่องจากดีลนี้เป็นดีลของบริษัทแม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันกับดีลของ AIS และ 3BB

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดหลัก ๆ ที่พอจะสังเกตเห็นได้ถึงความต่างของดีลร้อนในวงการโทรคมนาคมไทยตอนนี้ แต่ไม่ว่าในแง่กฎหมายจะแตกต่างกันอย่างไร การรวมกันหรือการเปลี่ยนแปลงของทุกธุรกิจทั่วโลก ต่างมีเป้าหมายเพื่อเดินหน้าในก้าวต่อไปสู่การพัฒนาที่แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสและประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและธุรกิจเอง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสและประโยชน์ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย  

 

 


jitpisut