หัวใจของการพัฒนาประเทศไปสู
101 พูดคุยกับ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่ง
:: Planet People Platform -โจทย์ใหม่เศรษฐกิจโลก ::
Planet: Climate Crisis นั่นคือ โจทย์ด้านสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจใหม่จะต้องคำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
People: Aging population หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจจะต้องคิดถึงโอกาสการจ้างงานใหม่และเทคโนโลยี ถ้ามองเห็นแค่ว่าคนแก่มากขึ้น ไม่มีกำลังแรงงาน และเป็นภาระ เราจะเสียโอกาส แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้นมันมาพร้อมกับเศรษฐกิจใหม่ๆ
Platform: Technological change การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (infotech) และเทคโนโลยีชีวภาพ (biotech) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนกระทั่งผู้กำหนดนโยบายก็ปรับตัวไม่ทัน ซึ่งเป็นปัญหาที่เจอกันทั้งโลก นำไปสู่การคิดโจทย์ด้านสวัสดิการสังคมแบบใหม่ และการกำกับดูแลเทคโนโลยี
:: โจทย์เก่ากำลังซับซ้อนและรุนแรงขึ้น ::
ในขณะที่หลายคนพยายามจะแก้ปัญหาใหม่ เช่น จะสู้กับ AI อย่างไร จะรับมือความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างไร แต่อย่าลืมปัญหาเก่าอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ นโยบายแบบนี้พอเอาไปขายอาจจะไม่ค่อยเซ็กซี่ แต่อย่าลืมว่ามันยังอยู่ และซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ประเด็นเหล่านี้ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า ความเหลื่อมล้ำสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้ เช่น ถ้าคุณไม่ได้รับการศึกษา ลูกของคุณก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับการศึกษาด้วย
อีกเรื่องก็คือ เศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหามานาน แต่ไม่ได้รับความสนใจ ถ้าพูดเรื่องนี้สังคมก็จะรู้สึกว่ามันเก่า แต่ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและเป็นปัญหาระดับโลก งานวิจัยของ UNDP ชี้ว่า 60% ของแรงงานทั่วโลกยังอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานและไม่ได้จ่ายภาษี ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่สูงมาก อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น เพศ เป็นต้น งานส่วนใหญ่ก็ชี้ตรงกันว่า แรงงานเพศหญิงมักจะถูกกดขี่และไม่ได้รับกาารคุ้มครองมากกว่าแรงงานชาย หรือยังมีโจทย์ใหม่ๆ เช่น อาชีพฟรีแลนซ์ ซึ่งก็เป็นแรงงานนอกระบบอีกแบบหนึ่ง ก็ต้องคิดใหม่ด้วยว่าจะปกป้องคนกลุ่มนี้ยังไง
การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจต้องคิดโจทย์ใหม่และโจทย์เก่าไปพร้อมกัน ถ้าคิดแต่เรื่องเทคโนโลยี เรื่อง AI เผลอๆ จะไปสร้างความเหลื่อมล้ำให้แย่ลงกว่าเดิมอีก
:: หนึ่งนโยบาย ดีไซน์เพื่อหลายปัญหา ::
ในยุคก่อนถ้าพูดถึงนโยบายทางเศรษฐกิจ เราจะพูดถึงรัฐกับตลาด รัฐควรทำหรือตลาดควรทำ นี่คือวิธีคิดแบบเก่า แยกรัฐกับตลาดแบบตายตัว ในขั้นที่สอง การคิดนโยบายจะเป็นการแก้ปัญหาแบบหนึ่งปัญหา หนึ่งนโยบาย เช่น ถ้าน้ำไม่มีก็เสนอให้สร้างเขื่อน การศึกษาไม่ดีก็เพิ่มโรงเรียน เทคโนโลยีน้อยก็เพิ่มงบด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
แต่ในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คุณควรจะเลิกแบ่งแยกรัฐกับตลาดแบบนั้นแล้ว คุณควรเลิกเชื่อว่าตลาดเสรีมันมีอยู่จริง เพราะว่าตลาดถูกกำหนดด้วยกลไกและคุณค่าบางอย่างเสมอ
เวลาคิดหนึ่งนโยบายควรจะตอบโจทย์ปัญหาหลายอย่างพร้อมกัน ในระดับโลกเริ่มมีการคิดเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว เช่น การแก้ปัญหาผูกขาด แต่เดิมฐานคิดในเรื่องนี้คือการปกป้องผู้บริโภค แต่วิธีคิดแบบใหม่เสนอว่า การออกแบบนโยบายสามารถออกแบบเพื่อแก้ปัญหาหลายมิติพร้อมกันได้ เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม การกระตุ้นให้เกิดผู้แข่งขันรายเล็กเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เป็นต้น ในยุโรปเริ่มทำแบบนี้แล้ว
:: เศรษฐกิจ 3 สี : เศรษฐกิจสีเขียว ::
ประเด็นสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้ประเทศในยุโรปกลับมาคิดโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะเขาพัฒนาอุตสาหกรรมไปไกลและเริ่มเห็นผลเสียแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาคนยากจนได้ โจทย์คือจะทำยังไงให้สองสิ่งนี้มาบรรจบกัน เราอาจจะเรียกว่า ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ (Green Model) ก็ได้ โจทย์ในการวิจัยคือ อย่าคิดแค่แก้สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ต้องแก้เศรษฐกิจ สร้างงานใหม่ๆ และตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน นี่คือการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
โมเดลนี้เริ่มต้นที่สแกนดิเนเวีย แต่เกาหลีและเยอรมนีมาเริ่มทำทีหลังแต่ก็ไปไกลมาก ในเยอรมนีธนาคาร KFW ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐให้เงินอุดหนุนเพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำ ส่งเสริมผลิตเทคโนโลยี เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง บริษัทที่ลงทุนด้านนี้ก็กลายเป็นบริษัทระดับโลกที่ส่งต่อเทคโนโลยีได้ จะเห็นว่าเขาไม่ได้คิดแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่คิดเรื่องเทคโนโลยีใหม่เป็นหลักด้วยซ้ำ โจทย์คือจะสร้างอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอย่างไร และอุตสาหกรรมใหม่นี้จะสร้างงานใหม่ได้อย่างไร
มีงานวิจัยชี้ว่า ถ้าคุณยอมตัด 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเพื่อย้ายพลังงานฟอสซิลมาไว้ที่พลังงานสะอาด คุณสูญเสียงานส่วนหนึ่งแน่นอน เช่น งานที่เกี่ยวกับน้ำมัน งานขนส่ง แต่ถ้ามีการออกแบบนโยบายดีๆ เช่น คำนึงว่าต้องสร้างอะไรใหม่ในประเทศด้วย ไม่จำเป็นต้องนำเข้าทุกอย่าง ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ ชดเชยกันไป
:: เศรษฐกิจ 3 สี : เศรษฐกิจสีเงิน ::
คำว่า silver economy หรือเศรษฐกิจสีเงิน มาจากสีผมของคนแก่ ซึ่งเป็นสีดอกเลา คอนเซ็ปต์นี้หมายถึงการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจโดยคิดถึงโอกาสการจ้างงานใหม่และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการแค่สาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องการที่อยู่อาศัยเฉพาะแบบ การคมนาคมก็ต้องปรับใหม่เช่นกันถ้าสังคมเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ ยังไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมทั่วๆ ไป เครื่องสำอาง หุ่นยนต์ดูแล รวมไปถึงมิติเชิงศิลปวัฒนธรรม อย่างสถานที่เต้นรำ
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือจังหวัดอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชากรมีอายุเฉลี่ย 53 ปี นับว่าสูงมากอันดับต้นๆ ของโลก และมีคนที่อายุเกิน 65 ปี มากกว่าหนึ่งในสาม นี่คือภาพในอนาคตของเมืองในหลายประเทศทั่วโลก แต่เพิ่งมีข้อค้นพบว่าเศรษฐกิจนอกระบบของเมืองอะคิตะกำลังขยายตัว เพราะผู้สูงอายุได้รับเบี้ยเลี้ยงไม่พอ เขาก็เริ่มเก็บผักไปขาย เกิดความต้องการใหม่ๆ มีการลงไปสำรวจพบว่าตู้เอทีเอ็มก็เปลี่ยนไป ต้องมีที่วางไม้เท้า โรงเรียนหายไป เกิดธุรกิจแบบใหม่ เช่น การแชร์บ้านที่ยอมให้เด็กที่ยังไม่มีเงินซื้อบ้านมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีนายหน้าอสังหาริมทรัพย์มาจับตลาดนี้ กลายเป็นคนดูแลบ้านผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการเอาระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้เชื่อมโยงกับหมอ มีปัญหาและโอกาสใหม่ๆ เช่น มีฟุตบอลลีกเกิน 65 ปี มีโรงละครสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
:: เศรษฐกิจ 3 สี : เศรษฐกิจสีทอง ::
ในยุค 1945-1973 เศรษฐกิจโลกเติบโตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือประเทศยากจนต่างเติบโตดีหมดเลย จนทำให้เรียกกันว่าเป็น ‘ยุคทองของระบบทุนนิยม’ (Golden Age of Capitalism) ถ้าเราไปดูจะพบว่า ระเบียบโลกในตอนนั้นคือระบบเบรตตันวูดส์ ซึ่งเป็นระบบที่ค่อนข้างยืดหยุ่น และเปิดพื้นที่ทางนโยบายให้แต่ละประเทศสามารถเลือกทำข้อตกลงกับต่างประเทศหรือปรับข้อตกลงได้มากกว่าปัจจุบัน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่งมาถดถอยในช่วงหลัง 1980 ที่ระเบียบโลกเริ่มมีความแข็งตัว (rigid) กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาเดินตามมากขึ้น และพื้นที่ในการกำหนดนโยบายหดตัวลงเรื่อยๆ
ในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ‘Hyper Globalization’ หรือโลกาภิวัตน์ที่มากเกินไป โลกาภิวัตน์นั้นมีข้อดีแน่ๆ เรื่องนี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ตอนนี้เริ่มมีข้อเรียกร้องว่า โลกาภิวัตน์ก็มีจุดที่เหมาะสม อย่าไปคิดว่ายิ่งมากยิ่งดี ควรมีจุดที่ให้แต่ละประเทศมีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายเหมือนในยุคที่เป็นยุคทองของระบบทุนนิยม
ข้อเสนอของผมคือ การออกแบบนโยบายจะต้องทั้ง Green, Silver แล้วก็ Golden