คัด 5 หุ้นเด่น ที่แข็งแกร่งกว่าตลาด หลบปัจจัยลบ...เลี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
Recession หนึ่งความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกในขณะนี้ โดยสัญญาณอะไรบ้างที่ทำให้คาดการณ์ว่า ประเด็นดังกล่าวมาแน่ เพราะล่าสุดนักวิเคราะห์ได้ออกมาประเมินเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เกี่ยวกับสัญญาณบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิด Recession ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงนักลงทุนควรทำอย่างไร Wealthy Thai หาคำตอบให้แล้ว
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ได้ออกมาประเมินเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเปิดเผยว่า เริ่มเห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิด Recession อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯและ EU ที่อยู่ในระดับต่ำมาก, GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯที่มีการคาดการณ์ว่าจะรายงานออกมาติดลบ และการที่รัสเซียไม่ส่งออกพลังงานให้ EU ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือสภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะสะท้อนจาก GDP ชะลอตัว, รายได้ที่แท้จริงลดลง, อัตราการว่างงานเร่งตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง, ผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก-ค้าส่ง ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาว่าเกิด Recession หรือไม่ โดยกำหนดว่าหาก GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า จะถือว่าเป็นการเกิด “Technical Recession” ทันที
โดยปัจจุบันตัวเลขทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯหลายๆตัวยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯที่อยู่ในระดับต่ำมาก, ยอดค้าปลีกสหรัฐฯที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯยังไม่เข้าสู่Recession
แต่ฝ่ายวิจัยเริ่มเห็นสัญญาณถึงโอกาสเกิด Recession ในสหรัฐฯ จากดัชนีเศรษฐกิจบางตัว อาทิ 1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯที่จัดทำโดยมหาลัย Michigan เดือน มิ.ย.รายงานออกมาที่ 50.2 ทำระดับต่ำสุดตั้งแต่เคยมีการทำดัชนีนี้ขึ้นมา 2. การคาดการณ์ GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ โดย FED สาขา Atlanta ที่ระดับ -2.1%จากไตรมาสก่อน (ไตรมาส1/65 -1.6%จากไตรมาสก่อน)
เช่นเดียวกันกับ EU ที่เริ่มเห็นสัญญาณการเกิด Recession จาก 1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ -23.60 ใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด Covid-19 และ 2. EU พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างมาก ซึ่งได้รับผลกระทบหลังจากรัสเซียไม่ขายพลังงานให้ EU ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น และไปกัดกร่อนกำลังซื้อของประชาชน
หากเกิด Recession จริง...ควรลงทุนอย่างไร ??
อ้างอิงข้อมูลการเกิด Recession ของสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2000 – ปัจจุบัน เกิด Recession ทั้งหมด 3 ครั้งได้แก่ Dot-com and 9/11 Crisis (ปี 2000), Global Financial Crisis (ปี 2007-2009 และ Covid-19 (ปี 2020) โดยตลาดหุ้น S&P500 มีสถิติที่สำคัญ ดังนี้
-
ตลาดหุ้น S&P ปรับตัวลงเฉลี่ยราว 46.6% (ปี 2000 -51%, ปี 2007 -58%, และ ปี 2020 -35%) โดยมีระยะเวลาการเกิด Bear Market ที่แตกต่างกัน โดยในปี 2000 ตลาดอยู่ใน Bear Market 638 วัน, ปี 2007 เกิด Bear Market 352 วัน และ ปี 2020 เกิด Bear Market 23 วัน
-
จุดต่ำสุดของ FWD PE ของตลาด S&P ในรอบปี 2000-2003 เท่ากับ 14.67 เท่า , 2007-2009 เท่ากับ 9.95 เท่า และ 2020 เท่ากับ 13.99 เท่า
-
อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วงที่เกิด Recession ได้แก่ Consumer Staple และ Health Care
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนจึงเป็นการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง และเพิ่มสัดส่วนเงินสด จนกว่า Valuation ของ S&P500 จะปรับลงมาที่บริเวณ 14-15 เท่า (ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และ GDP ยังเติบโตในอัตราเร่ง แตกต่างกับสหรัฐฯ) ขณะที่หุ้นที่เลือกลงทุน เน้นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่ประเมินว่าจะ Outperform ตลาด หากเกิด Recession ได้แก่ CPALL, MAKRO, BGRIM, GPSC, BDMS
สำรวจปัจจัยพื้นทางของทั้ง 5 หุ้น
CPALL โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ประเมินแนวโน้มไตรมาส 2/65 ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะยังเติบโตได้ 10% และคาดว่าจะมีกำไรราว 3,500 – 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีช่วงวันหยุดเทศกาลเยอะ รวมถึงการกลับมาเรียนที่โรงเรียน และการกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ
ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง 65 คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกปี 65 จากการยกเลิกมาตรการ Thailand Pass คาดว่าจะเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวในครึ่งหลังปี 65 ราว 4.8 ล้านราย ซึ่งจะเพิ่มยอดขายของ 7-11 ที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ (คิดเป็น 15% ของสาขาทั้งหมด) จึงประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 14,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% และในปี 2566 ที่ 23,824 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% กลับเข้ามาสู่ระดับปกติก่อนช่วงโควิด แนะนำ “ซื้อ ” ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 72 บาท คาดว่าราคาปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดของปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
MAKRO โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เชิงปัจจัยพื้นฐาน ยังคงให้น้ำหนักบวกกับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 65-66 ที่จะโตเด่นเป็น 1.05 หมื่นล้านบาทและ 1.70 หมื่นล้านบาท เติบโต 46% และเติบโต 62%ตามลำดับ
โดยปัจจัยขับเคลื่อนในปี 65 อยู่ที่ การรวมกิจการโลตัสส์เต็มปีจากปีก่อนที่รับรู้เพียง 68 วัน คาดกำไรจากธุรกิจโลตัสส์ปี 65 อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท จากปีก่อน +397 ล้านบาท , synergies การรวมธุรกิจที่คาดเกิดในปีนี้ราว 1 พันล้านบาท จากแผนที่บริษัทตั้งไว้ 2.7 พันล้านบาทภายในปี 66 และ ธุรกิจ MAKRO ที่จะได้แรงหนุนอานิสงส์การเปิดเมือง คาด SSSG บวกเร่งขึ้นเป็นบวก 3% จาก บวก 2.5% ในปีก่อน และสาขาในต่างประเทศฟื้นตัว โดยในกัมพูชาและเมียนมาร์เริ่มสร้างกำไรแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/65 จึงคงแนะนำ “ซื้อลงทุน” โดยมีราคาเป้าหมายที่ 47.0 บาท
BGRIM โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดผลประกอบการของ BGRIM จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เนื่องจากบริษัทฯมีกำหนด COD โรงไฟฟ้า SPP สำหรับทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมจำนวน 5 โครงการรวมกำลังผลิต 700MW ในครึ่งหลัง 65 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯมีอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง คาดปี 65 กำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 2,275.70 ล้านบาท ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 33.25 บาท/หุ้น คงแนะ “Trading”
ทั้งนี้แม้คาดต้นทุนก๊าซธรรมชาติจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 400-450 บาท/ล้านBTU อย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มทรงตัว แต่คาดกำไรปกติไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน จาก 1.การปรับขึ้นค่า Ft อีกราว 23.38 สตางค์/หน่วยสำหรับงวด พ.ค. - ส.ค. 65 ของกกพ. ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของ BGRIM ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน และ 2.รับรู้รายได้จากกลุ่มลูกค้า IU ที่เชื่อมต่อในไตรมาส 1/65 แบบเต็มไตรมาส แต่คาดกำไรปกติจะยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะจากฐานที่สูงในปีก่อน
GPSC โดยนักวิเคราะห์บริษัท หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าราคาต้นทุนพลังงานจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่ทางฝ่ายคาดกำไรในช่วงที่เหลือของปีจะฟื้นตัวจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าสำคัญที่ปิดดำเนินการนอกแผนจะกลับมาดำเนินการตามปกติ รวมไปถึงจะมีกำลังผลิตที่จะ COD เข้ามาเพิ่ม นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนในธุรกิจ EV ซึ่งมีโอกาสสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอีกมากในอนาคต ในส่วนของราคาหุ้นได้ลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว จึงทำให้ ณ ราคาปัจจุบันยังคงมี upside อยู่พอสมควร จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 80.00 บาท
โดยทางฝ่ายคาดรายได้จากการขายไฟฟ้าปี 65 ที่ 1.09 แสนล้านบาท เติบโต 47%จากปีก่อน จากการได้ปรับค่า Ft ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงโรงไฟฟ้าสำคัญกลับมาดำเนินการตามปกติ อย่างไรก็ตาม คาดต้นทุนขายไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 55% ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท จากราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งลูกค้าหลักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม (46% ของรายได้จากการขายไฟฟ้า) ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้ และทางฝ่ายคาดว่าราคาต้นทุนพลังงานจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้คาดส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและร่วมค้า 1.94 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น26% จากการรับรู้กำไรจากบริษัท AEPL ที่จะมีการ COD กว่า 1,000 MW ในปีนี้ โดยทางฝ่ายคาดกำไรสุทธิปี 65 ที่ 5.06 พันล้านบาท ลดลง 31% จากปีก่อน
และสุดท้าย BDMS โดยนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส ( ประเทศไทย ) จำกัด เปิดเผยว่า แนะนำ ซื้อ ราคาพื้นฐาน 30 บาท คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/65 ที่ 2.7 พันล้านบาท เติบโต 87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้น 22%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2 หมื่นล้านบาท เพราะ Pent up demand ทั้งจากคนไข้ไทยและต่างชาติ (หลักๆ คือ ตะวันออกกลางและ CLMV) และรายได้เกี่ยวกับโควิด-19 ช่วยหนุน (คิดเป็น 10% ของรายได้รวม) แต่รายได้ลดลง 9.5%จากไตรมาสก่อนตามปัจจัยฤดูกาล ด้าน EBITDA margin เพิ่มเป็น 24.7% จาก 21.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดจาก 26.7% ในไตรมาสก่อนกำไรสุทธิจึงลดลง 21%จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้คาดกำไรสุทธิปี 65-66 เติบโตแข็งแกร่ง โดยปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปีดังกล่าว ขึ้น 10% และ 6% สะท้อนรายได้และมาร์จิ้นที่ดีกว่าคาดไว้เดิม ยังผลให้กำไรสุทธิปี 65-66 เติบโต 39% เป็น 1.1 หมื่นล้านบาท และเติบโต 10% เป็น 1.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ