SCG Decor เดินหน้าเข้าตลาดหุ้น
ชี้ราคาเทนเดอร์หุ้น COTTO มีพรีเมี่ยม
ปักธงผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิว-สุขภัณฑ์ครบวงจร
.
SCG Decor เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ นำบริษัทเข้าจดทะเบียนใสนตลาดหลักทรัพย์ คาดเข้าเทรดเร็วสุดในปี 2566 เตรียมสยายปีกสู่ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน ส่วนราคาเสนอซื้อหุ้น COTTO ที่ 2.4 บาท ชี้เป็นราคาที่เหมาะสม มีพรีเมียมจากราคาตลาดปัจจุบัน
.
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด หรือ SCG Decor เปิดเผยว่า COTTO ยังมีโอกาสขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกวัสดุตกแต่งพื้นผิว ดังนั้นการปรับโครงสร้างโดยการขยายสินค้าให้ครอบคลุมทุกวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ พร้อมทั้งขยายธุรกิจไปยังตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ภายใต้ SCG Decor นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น
.
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการของ COTTO ได้พิจารณาให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติเพิกถอนหุ้นของบริษัทฯ ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 23 พ.ค. 2566 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
.
ทั้งนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัทร่วมกับ SCG Decor โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ COTTO ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นของ COTTO คัดค้านการเพิกถอนหลักทรัพย์เกินกว่า 10% ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566
.
นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อ COTTO ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว SCG Decor จะยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ยื่นแบบ Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
.
โดยภายหลังจากแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ SCG Decor จะเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COTTO ในราคา 2.40 บาทต่อหุ้น โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCG Decor เท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายหุ้น IPO ของ SCG Decor หลังจากการทำคำเสนอซื้อสิ้นสุดลง COTTO จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Decor และยังคงเป็นเจ้าของ COTTO ทางอ้อม จากนั้น SCG Decor จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
.
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจและดำเนินการนำ SCG Decor เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปตามแผน คาดการณ์ว่า SCG Decor อาจเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เร็วที่สุดในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการพิรจาณาของสำนัก ก.ล.ต.
.
ราคาเสนอซื้อหุ้น COTTO ที่ 2.4 บาท พิจารณาจากหลายแง่มุม ทั้ง Discount ราคาตลาดถั่วเฉลี่ยย้อนหลัง และราคาของการทำเทนเดอร์ที่เกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จึงได้เป็นราคาที่ 2.40 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและมีพรีเมียมเหนือราคาตลาดในปัจจุบัน
.
นายนำพล กล่าวเสริมว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัทย่อย SCG Decor จะเป็นบริษัทแกนหลักของเอสซีจีในการประกอบธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ โดยมีกลุ่มบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ 1.บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย มียอดขายกระเบื้องเซรามิกเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 33%,
.
2. บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด (SSW) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์ในประเทศไทยและส่งออกไปต่างประเทศ มียอดขายสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 32.8%
.
3. Prime Group ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศเวียดนาม มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 26.4%, 4. บริษัท Mariwasa-Siam Ceramics, Inc (MSC) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศฟิลิปปินส์ มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 16.8% และ 5. PT Keramika Indonesia Assosiasi, Tbk (KIA) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากร 274 ล้านคน สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
.
สำหรับการเติบโตใน 3-5 ปีข้างหน้า SCG Decor จะใช้ 5 กลยุทธ์เพื่อมุ่งผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน ได้แก่ 1. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) จากประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพและอนามัย, 2. ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียน ผลักดันแบรนด์สินค้าทุกประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และขยายการส่งออกไปทั่วโลก ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่กลุ่มประหยัด กลุ่มมาตรฐาน และกลุ่มพรีเมียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
.
3. ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง, 4. บริหารห่วงโซ่อุปทานทั้งด้านการผลิตและการจัดหาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 5. เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก พัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 สอดคล้องกับแนวทาง ESG
.
ทั้งนี้ SCG Decor มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายปี 2563 – 2565 ที่ 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และ 16.6% ตามลำดับ ปี 2565 ส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 53 ประเทศ มีรายได้จากการส่งออกกว่า 4,500 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของรายได้รวม
.
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก และอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ ทั้งในประเทศไทย รวมถึงเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ปี 2565-2569 ของตลาดกระเบื้องเซรามิกในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 1.2% ขณะที่ตลาดในไทย รวมเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เติบโตเฉลี่ย 7.1% ส่วนตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 2.1% เทียบกับรวม 3 ประเทศข้างต้น เติบโตเฉลี่ยต่อปี 8.6%
(อ้างอิงจาก Euromonitor ปี 2564) จึงเป็นโอกาสที่ SCG Decor จะขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปในอาเซียนได้อีกมาก