ต้องใช้เวลากว่าเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาจะกลับมาอยู่ตามเป้า
อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนส.ค. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% MoM และ 3.7% YoY แม้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ออกมายังต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ข้อมูลที่รายงานออกมาถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อยที่ 3.6% YoY นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในรอบนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปรับลดลงมาตลอดทางจากระดับสูงสุดที่ 9.1% YoY
ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 จากผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อน ปัจจัยหลักที่ขับดันอัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค. 2566 หลักๆมาจากราคาพลังงานซึ่งแม้ยังลดลง 3.6% YoY แต่กลับมาเพิ่มขึ้น 5.6% MoM แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารในเดือนส.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.3% MoM แต่ลดลงต่อมาอยู่ที่ 4.3% YoY จาก 4.7% YoY ในเดือนก่อน
จับตามองการกลับมาของอัตราเงินเฟ้ออีกรอบที่มาจากด้านต้นทุนและราคาอาหาร เรามีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ หลังเห็นโมเมนตัมดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวแข็งแกร่งโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเดือนก่อหน้า แม้มีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง หากราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง อาจถูกส่งผ่านต่อไปให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังจากที่เราเห็นรายงานของ OPEC เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่าตลาดน้ำมันทั่วโลกอาจประสบกับปัญหาอุปทานไม่เพียงพอที่ราว 3 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงไตรมาส 4/2566
ซึ่งอาจเป็นการส่วนขาดของอุปทานน้ำมันดิบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ด้านภาวะเงินเฟ้อที่มาจากราคาอาหาร (Food inflation) ยังไม่เห็นผลในสหรัฐฯ จากเนื่องจากดัชนีราคาอาหารลดลงจาก 3.6% YoY ในเดือนก.ค. มาอยู่ที่ 3.0% YoY ในเดือนส.ค. แต่ภาพปัญหาวิกฤติอาหารในหลายๆประเทศทำให้เรามองประเด็นนี้ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังอินเดียมีคำสั่งห้ามส่งออกข้าว รวมถึงเมียนมาร์ห้ามส่งออกข้าวชั่วคราวเป็นเวลา 45 วันและเกิดเหตุน้ำท่วมใน 3 พื้นที่หลักในการปลูกข้าวในจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ 20-25% ของการผลิตข้าวทั้งหมด
คาดอัตราเงินเฟ้อต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% จากโมเมนตัมเงินเฟ้อในเดือนส.ค. ทำให้แม้เรายังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะปรับตัวลงต่อ แต่คาดจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและคาดจะต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% โดยเราประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 3-4% ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก่อนที่จะค่อย ๆ กลับมาอยู่ระดับปกติที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
เราคงสมมติฐานของเราที่มองว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. แต่การตัดสินใจในเดือนพ.ย. ขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า เราแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากการดำเนินนโยบายของ Fed จะอิงจากข้อมูลเงินเฟ้อ ขณะที่เรามองมีความเสี่ยงของเงินเฟ้อมากขึ้น ทั้งนี้หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจะทำให้ภาวะทางการเงินตึงตัวมากขึ้นซึ่งจะฉุดกิจกรรมทางธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
