จุดเสี่ยง ทีมไทยแลนด์ เจรจาภาษีทรัมป์ เปิดตลาด 0% - ผู้นำในรัฐบาล
โค้งสุดท้ายเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ทีมไทยแลนด์ต้องวิ่งชนทั้งเงื่อนไขเปิดตลาด 0% และปัญหาไร้ "ผู้นำตัวจริง"รัฐบาล คุยตรงกับทรัมป์ สะท้อนจุดเปราะบางของการในเวลาจำกัด
เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ก็จะครบดีลเส้นตายการเจรจาภาษีกับสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ “ทีมไทยแลนด์” กำลังทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ไทยได้ลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าที่จะส่งไปขายที่สหรัฐที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 36% ให้ลดต่ำลงมากที่สุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 2 ชาติในอาเซียนได้ดีลอัตราภาษีที่ดีคือเวียดนาม 20% และอินโดนิเซียได้อัตราภาษีที่ 19%
เงื่อนไขที่สหรัฐยื่นให้กับ 2 ประเทศในอาเซียนแลกกับการลดอัตราภาษีลงนอกจากการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม ยังต้องเปิดตลาดให้สหรัฐนำสินค้าทุกประเภทเข้ามาขายได้ในอัตรา 0% ตามนโยบายที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐต้องการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการในสหรัฐสามารถเข้าสู่ตลาดของประเทศต่างๆได้มากขึ้น ด้วยเงื่อนไขการให้ประเทศต่างๆใช้อัตราภาษี 0% กับสหรัฐสำหรับสินค้าทุกรายการ
ในขณะที่ประเทศไทยการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐด้วยอัตราภาษี 0% ทุกรายการเป็นเงื่อนไขที่เราไม่สามารถที่จะยอมรับได้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยอมรับว่าประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมไปให้กับสหรัฐพิจารณาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีสินค้านับหมื่นรายการที่เราจะเปิดตลาดให้สหรัฐนำเข้ามาในประเทศไทยด้วยอัตราภาษี 0% โดยมีเงื่อนไขว่าสินค้าที่เราเปิดตลาดให้จะไม่กระทบกับเกษตรกร และผู้ผลิตในประเทศ รวมทั้งคู่ค้าที่เรามีสัญญา FTA อยู่
ขณะเดียวกันนายพิชัยยอมรับว่าไทยเราได้รับการร้องขอจากสหรัฐในการเปิดตลาดการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่สหรัฐร้องขอ เช่น ลำไย ปลานิล รวมทั้งรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งหากเปิดตลาดนำเข้าแล้วไม่กระทบกับผู้ผลิตในประเทศก็จะพิจารณาเปิดตลาดให้
ยันไม่เปิด0% สินค้านำเข้าทั้งหมดให้สหรัฐ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าสำหรับเงื่อนไขของสินค้าที่จะเปิดตลาดให้กับสหรัฐที่ไทยไม่เปิดให้ 0% ค่อนข้างที่จะแน่คือสินค้าเกษตรที่ส่งผลต่อเกษตรกรในประเทศ ที่มีจำนวนมาก
ซึ่งหลายรายการสินค้าที่เราไม่ได้ลดภาษีให้สหรัฐเหลือ 0% ก็เป็นสินค้าที่สหรัฐอยากให้เรามีการเปิดตลาดให้มาตลอด เช่น เนื้อหมูและเครื่องในหมู ข้าว นมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งในรายการสินค้าลักษณะนี้เราไม่ได้ให้ภาษี 0% เพื่อปกป้องเกษตรกรไทยจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศด้วย
ดังนั้นการเจรจาที่สหรัฐมีข้อเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดสินค้าทุกประเภทด้วยอัตราภาษี 0% นั้นไทยเราคงยอมให้ไม่ได้เหมือนกับที่เวียดนาม และอินโดนิเซียได้รับข้อเสนอนั้นจากสหรัฐไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้โอกาสในการเจรจาลดภาษีนั้นน้อยลงไปด้วยก็ตาม
ทรัมป์คุยเฉพาะผู้นำสูงสุดรัฐบาลแต่ละประเทศ
สำหรับความเสี่ยงต่อมาที่ทำให้โอกาสจะเกิดความสำเร็จในการเจรจาภาษีระหว่างไทย และสหรัฐ นั้นลดลงคือเรื่องของ “ผู้นำในรัฐบาล” ของไทย ซึ่งประเด็นนี้เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆภายหลังการประกาศปิดดีลภาษีระหว่างสหรัฐ และอินโดนิเซีย เนื่องจากการประกาศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐในการสรุปดีลภาษีกับทั้งเวียดนาม และอินโดนิเซีย นั้นทรัมป์ใช้คำว่าได้คุยกับผู้นำสูงสุดของรัฐบาลในแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในส่วนของเวียดนามทรัมป์ประกาศว่าได้คุยกับ นายโต เลิม (H.E. Mr. To Lam) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่วนอินโดฯนั้นทรัมป์ก็บอกว่าตนได้หารือกับ ปราโบโว ซูบียันโต ประธานาธิบดีของอินโดนิเซียด้วยตนเอง
คำถามจึงกลับมาที่ประเทศไทยว่าในวันนี้หากทีมไทยแลนด์สามารถเจรจาภาษีกับสหรัฐคืบหน้าไปจนถึงขั้นตอนสำคัญที่ผู้นำประเทศจะโทรศัพท์คุยกับโดนัลด์ ทรัมป์ ใครในรัฐบาลไทยจะทำหน้าที่นั้น ซึ่งคำถามนี้แม้แต่อดีตรมว.คลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ก็ตั้งคำถามตรงๆในเรื่องนี้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ทรัมป์ประกาศว่าได้คุยตรงกับประธานาธิบดี Probowo Subianto (ส่วนประธานาธิบดี Marcos jnr. ของฟิลิปปินส์มีแผนเดินทางไปพบทรัมป์อาทิตย์หน้า) ส่วนของเรายังไม่มีนายกรัฐมนตรีให้เขาคุยด้วย” นายกรณ์ระบุ
เมื่อทรัมป์ระบุจะคุยตรงกับผู้นำที่มีอำนาจเต็ม ประเทศไทยจะให้ใครเป็นผู้ต่อสายคุยกับผู้นำสหรัฐ เพราะในวันนี้นางสาวแพทองธารอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย อยู่ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายพิชัย เป็นหัวหน้าทีมเจรจาทีมไทยแลนด์ ซึ่งคงต้องให้ผู้นำสหรัฐเลือกว่าจะคุยกับใครเพื่อสรุปดีลภาษี
ทั้ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงในการเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งต้องเอาใจช่วยทีมไทยแลนด์ให้หาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ
ที่มา… https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1189908