เมื่อยางชำรุด
By พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
ทุกวันนี้เมื่อผมเข้าไปในโลกการสื่อสารไร้สายที่เรียกกันว่าเฟซบุ๊ก ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เข้าไปแสดงความเห็นใด ๆ ในพื้นที่ของคนอื่น

เพราะในครั้งที่ผมเริ่มเข้าเฟซบุ๊กใหม่ ๆ คนเขลาเบาปัญญาเรื่องเทคโนโลยีอย่างผม ก็คิดในแง่มองโลกสวยงามเพียงอย่างเดียวว่า การมีเฟซบุ๊กนั้นเพื่อจะช่วยให้คนเราได้สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และเป็นช่องทางที่มีขึ้นเพื่อให้เราแนะนำเรื่องราวต่าง ๆ เป็นช่องทางที่ใช้สำหรับหาความรู้ และช่วยเหลือกันและกันตามประสาคนใช้รถด้วยกัน
ในครั้งแรก ๆ ผมเห็นใครโพสต์ถามเกี่ยวกับเรื่องการใช้รถยนต์ ผมก็พยายามเข้าไปอธิบายในมุมที่พอจะมีความรู้บ้าง เรื่องใดที่ไม่มีความรู้ก็จะผ่านไป หรือบางครั้งก็แนะนำว่า ให้ลองติดต่อหรือหาความรู้จากช่องทางนั้นช่องทางนี้ดู ระยะแรกก็ดูจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ช่วงประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ผมก็เริ่มมองเห็นว่าควรที่จะถอยห่างออกมาจากการให้คำแนะนำผู้อื่นบ้าง เพราะความคิดและความเข้าใจของคนเราเริ่มแตกต่างกันมากขึ้น
ผมยกตัวอย่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผม คือ มีคนโพสต์ถามปัญหาเรื่องรถยนต์ในหน้าเฟซบุ๊กของเขาเองว่า มีไฟรูปโคมไฟแล้วมีคลื่นสามสี่เส้นขวางด้านหน้าติดขึ้นมา หมายความว่าอย่างไร และยังจะสามารถใช้รถยนต์ต่อไปได้หรือไม่ ผมก็เข้าไปตอบว่า “น่าจะมือไปโดนสวิตช์เพิ่มความสว่างของไฟท้าย ที่เรียกกันว่าสปอตไลท์หลัง ให้กดปุ่มปิดสวิตช์ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้แผงหน้าปัดใกล้คอพวงมาลัย ไฟท้ายจะได้ไม่สว่างมากจนแยงตาคนที่ขับรถตามหลังมา แต่เมื่อฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด ก็สามารถเปิดสวิตช์ให้ไฟท้ายสว่างมากขึ้นได้”
และยังตบท้ายว่า เรื่องอย่างนี้ถ้าเกิดขึ้นไม่ต้องรีบร้อนตกใจ ให้หยิบสมุดคู่มือประจำรถที่อยู่ในช่องเก็บของหน้ารถด้านซ้ายมือ แล้วเปิดหาหัวข้อ “ไฟส่องสว่าง” แล้วค่อย ๆ อ่านไล่ดูก็จะรู้ถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขและการใช้งาน
ตอบไปแล้วผมก็นึกว่าคงจบเรื่องแต่เพียงเท่านั้น ปรากฏว่าอีก ๒ หรือ ๓ วัน มีคนเข้ามาแสดงความเห็นต่อท้ายว่า “เขาถามมา ถ้ารู้ก็ตอบไปเฉย ๆ ไม่ต้องเสือกอวดรู้บอกให้เขาไปเปิดอ่านเอาเอง ถ้าเขารู้ว่าต้องไปเปิดอ่าน เขาจะมาถามในเฟซบุ๊กทำไม”
และอีกครั้งหนึ่งมีคนโพสต์ในกลุ่มผู้ใช้รถ ที่มีคนลากผมไปอยู่ในกลุ่มด้วย ซึ่งผมมักจะโดนลากอย่างนี้บ่อย ๆ และก็พยายามหนีออกมาทุกครั้ง ครั้งนั้นมีสุภาพสตรีถามว่า “มีน้ำมันเครื่องเหลือจากการถ่ายสองสามครั้งอยู่สามสี่ลิตร เป็นน้ำมันต่างยี่ห้อกันอยู่สองยี่ห้อ จะเอาไปใช้ในการถ่ายครั้งต่อไปได้หรือไม่” ผมเข้าไปตอบว่า “ใช้ได้ อย่าเอาไปทิ้งเลยครับ เสียดายเงินลิตรละหลายร้อยบาท เอาผสมกับของใหม่แล้วใช้ไปเถอะครับ” เจ้าของโพสต์ก็มาตอบขอบคุณผมเป็นอย่างดี แต่ก็มี “ผู้รู้” เข้ามาแสดงความเห็นต่อท้ายว่า “ยุให้เขาเอาน้ำมันเครื่องต่างยี่ห้อมาผสมกัน ถ้าเครื่องยนต์ของเขาพังไปมึงจะรับผิดชอบเขาหรือเปล่า”
เจออย่างนี้ไปสี่ห้าครั้ง ผมก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปตอบในหน้าเฟซบุ๊กของคนอื่น แต่จะใช้วิธีการเขียนสิ่งที่ผมรู้ในเฟซบุ๊กของผมเอง ทั้งนี้ก็ยังมีบางครั้งที่เห็นเฟซบุ๊กของคนอื่น แล้วผมก็อดใจนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะสงสารเจ้าของคำถาม ตามประสาคนที่ทำงานในวงการนี้มา ๔๐ กว่าปี
ครั้งนี้ก็เช่นกัน มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งโพสต์ถามว่า “ยางฉีกขาดที่แก้มยางหนึ่งเส้น จำเป็นต้องรีบเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าใช้ต่อไปจะอันตรายหรือไม่” แล้วก็มีรูปภาพยางที่มีรอยฉีกยาวตรงแก้มยางลงมาประกอบคำถามด้วย ผมอ่านแล้วก็ผ่านตาไปเพราะไม่อยากไปยุ่ง แต่ก็มีคนเข้าไปตอบซึ่งมีทั้งบอกว่าใช้ต่อไปได้ไม่ต้องไปเปลี่ยน และมีทั้งตอบว่าต้องรีบเปลี่ยนเพราะเป็นตรงแก้มยาง ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง
เจ้าของคำถามก็โพสต์ต่อมาว่า อยู่ต่างจังหวัดที่ไกลจากตัวอำเภอ ๕๐-๖๐ กม. โทรถามร้านยางแล้วพบว่า ยางที่มีขนาดตรงกันมีแต่ยี่ห้ออื่น ไม่รู้ว่าจะสามารถเปลี่ยนเส้นเดียวได้หรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนทั้ง ๔ เส้น
ผมจึงเข้าไปตอบว่า “ถ้ายังติดขัดเรื่องงบประมาณ และมีความจำเป็นต้องใช้รถ และไม่ได้เป็นคนขับรถเร็วเกิน ๑๒๐ กม./ชม. เป็นประจำ ก็สามารถเปลี่ยนเส้นเดียวได้ แม้จะต่างยี่ห้อก็ตาม แต่ควรเอายางที่ต่างยี่ห้อและมีลายดอกต่างกันไปไว้ที่ล้อหลัง เพราะรถที่เจ้าของคำถามใช้อยู่นั้นเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า การใช้ยางล้อหน้าซ้ายและขวาที่มีลายดอกต่างกัน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนต่ำลงบ้าง และจากภาพที่เห็นรอยฉีกที่แก้มยางนั้น แนะนำว่าให้ขับด้วยความเร็วไม่สูงมาก เอาเป็นว่าประมาณ ๖๐ กม./ชม. หรือเต็มที่ก็ไม่เกิน ๘๐ ประคองรถไปที่ร้านยางแล้วเปลี่ยนเส้นใหม่จะดีที่สุดครับ”
แน่นอนว่าในโลกโซเชียลย่อมต้องมีคนเข้ามาแสดงความเห็นหลากหลายซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากไปแขวะหรือทับถมผู้ที่มีความเห็นต่างกับเรา ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร ครั้งนี้ก็เช่นกันคือมีคนหนึ่งเข้ามาถามต่อท้ายคำตอบผมว่า “มีทฤษฎีไหนในโลกนี้ ที่บอกให้คนใช้ยางที่มีลายดอกต่างกันได้” ผมก็ได้แต่เพิกเฉยไม่ไปต่อล้อต่อเถียง เพราะถือว่าผมตอบให้เจ้าของคำถามได้รับรู้ หลังจากนั้นจะเชื่อผม หรือจะเชื่อคำแนะนำอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของคำถามเอง
วันนี้ผมจึงเอามาเล่าเพื่อขยายความต่อในพื้นที่ตรงนี้ว่า กรณีที่ผมตอบไปว่า สามารถใช้ยางที่มีลายดอกต่างกันได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังนั้น มีตัวอย่างจากผู้ผลิตรถยนต์ทำให้เห็นมากมาย นั่นคือผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบันหลายยี่ห้อ ใช้ยางล้อหน้าและล้อหลังต่างขนาดกัน ทั้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และความกว้างหน้ายาง แต่มียางอะไหล่ติดรถมาให้เพียงแค่เส้นเดียว ย่อมหมายความยางอะไหล่เส้นเดียวนั้น สามารถนำไปใช้ทดแทนได้ทั้งที่ล้อหน้าและล้อหลัง
อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องในคำแนะนำของผมก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อ มียางอะไหล่ติดมาให้หนึ่งเส้น แต่เป็นยางที่มีขนาดหน้ายางแคบกว่ายางติดรถมาก เรียกกันว่า "คอมแพคไทร์"
การใช้ยางอะไหล่ทั้ง ๒ รูปแบบ ผู้ขับต้องคำนึงถึงเรื่องของความเร็วเพื่อความปลอดภัย ด้วยการขับรถให้ช้าลงจนกว่าจะถึงที่หมาย ที่สามารถเปลี่ยนหรือปะยางได้แล้ว หรือแม้แต่ในกรณีที่ยางอะไหล่มีขนาดเดียวกันกับยางติดรถ เมื่อต้องนำเอายางอะไหล่ลงมาใช้งานผู้ขับรถที่ดีก็ยังต้องลดความเร็วในการเดินทางลง
เพราะยางอะไหล่จะถูกเก็บเอาไว้เป็นเวลานาน อาจจะโดนความร้อนอบอยู่นาน ๆ หรืออาจจะโดนน้ำมันเครื่องหรือสารเคมีอื่น ๆ เปื้อนเปรอะ หรืออาจจะเก็บไว้นานปีโดยไม่เคยได้ถูกนำออกมาใช้งาน จนเริ่มมีรอยแตกลายงาหรือเสื่อมสภาพ หรือยางอะไหล่รถปิกอัพที่แขวนไว้ใต้กระบะ เมื่อนำออกมาใช้จึงต้องระมัดระวังให้มาก
ในกรณีที่รถยนต์ที่ใช้อยู่มียางอะไหล่ จึงควรนำออกมาดูแลรักษาความสะอาด และเติมลมยางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ วิธีการเติมลมที่ถูกต้อง คือเติมให้มากกว่ายางที่ใช้ติดรถเอาไว้ เพราะเมื่อนำลงมาใช้งานนั้น การลดแรงดันลมยางลงทำได้ง่ายและสะดวกกว่าการเพิ่มแรงดัน
และแม่แรงก็เป็นอุปกรณ์ประจำรถ ที่ควรต้องได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ด้วยครับ
ที่มา:: https://www.bangkokbiznews.com/auto/1187493