Peter Lynch ตำนานผู้จัดการกองทุน Fidelity's Magellan Fund ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ PBS เพื่อเป็นวิทยาทานนักลงทุนรุ่นใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างมีความสุขและชนะตลาดได้อย่างระยะยาว ต่อมาสื่อ PBS ก็นำมาเขียนลงในเว็บไซด์ในคอลัมน์ Betting on the Market และผมก็นำมาแปลให้อ่านกันครับ อาจจะแปลแบบสรุป อ่านให้กระชับ
ถ้าท่านใดอยากอ่านฉบับเต็ม .. ลองดูได้ที่เว็บไซด์ http://www.pbs.org/wgbh/pages/frontline/shows/betting/pros/lynch.html
ทีมงาน : สวัสดีครับ คุณลินซ์ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาขอเข้าเรื่องหุ้นเลยนะครับ ทำไมคุณถึงสนใจในตลาดหุ้นเหรอครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : ผมเติบโตมาในช่วงปี 1950 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นวอลสตรีทบูมพอดี ตอนนั้นผมทำงานเป็นเด็กแบกถุงกอล์ฟให้กับสนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง และผมมักจะได้เห็นนักธุรกิจ คนเล่นหุ้นมากมายพูดคุยเกี่ยวกับตลาดหุ้นและหุ้นร้อนที่ทำเงินมากมายให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น ตอนแรกผมก็ลองฟังๆดูครับว่าเขาสนทนาอะไรกันแต่น่าจะเกี่ยวกับหุ้นอะไรสักอย่าง เลยลองเอาเชื่อไปค้นในหน้าหนังสือพิมพ์ เออ มันก็เป็นหุ้นจริงๆ และถัดมาหลายสัปดาห์หุ้นเหล่านั้นต่างก็พากันถีบตัวอย่างรุ่นแรง ผมรู้สึกว่ามันมีวิธีทำเงินง่ายๆแบบนั้นด้วยเหรอ แต่ตอนนั้นผมไม่มีเงินมากพอที่จะลงให้กับตลาดหุ้น แค่เงินจะเรียนหนังสือยังไม่มีเลย แต่ผมก็เก็บเรื่องเหล่านั้นไว้ในใจ คิดเอาไว่าสักวันหนึ่งเราน่าจะได้ประโยชน์จากมันบ้าง
ทีมงาน : หุ้นตัวแรกของคุณ คือตัวไหนเหรอครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : ตอนนั้นผมทำงานเป็นเด็กหิ้วถุงกอล์ฟเพื่อหาเงินเรียน น่าจะได้เงินประมาณ 700 เหรียญต่อเดือน แล้วก็มีบางส่วนจากทุนการศึกษาด้วยประมาณ 300 เหรียญ รวมๆแล้วเดือนหนึ่งผมจะมีเงินประมาณ 1000 เหรียญ อันนี้ยังไม่หักค่าเทอม ผมก็พยายามออมเงินเอาไว้ก่อนรอให้มันเป็นก้อนใหญ่ แล้วก็ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ฤดูหนาว นักศึกษาต่างกลับบ้านหรือไม่ก็หางานทำ ผมเป็นอย่างหลัง ผมใช้เวลาปิดภาคเรียนทำงานพิเศษเพื่อที่จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยบอสตันด้านบริหารการเงิน ระหว่างที่ผมเรียนที่บอสตัน ผมก็หาเวลาบางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับตลาดหุ้น และไปเจอกับอุตสาหกรรมการบิน ตอนนั้นผมสนใจมากบริษัทนั้นคือ Flying Tiger ทำเกี่ยวกับพวกอุตสาหกรรมคาร์โก้ การขนส่งทางอากาศอะไรประมาณนั้น ผมมองว่าต่อไปคาร์โก้น่าจะดีในอนาคต ตอนนั้นผมคิดแค่นั้นจริงๆและไม่รู้ด้วยว่ามันดียังไง แต่คิดว่ามันน่าจะดี ผมซื้อมัน แต่ว่าการซื้อหุ้นตัวแรกเรามักจะโชคดีเสมอ ราคาหุ้นมันขึ้นจริงๆแต่ขึ้นด้วยสาเหตุอื่นนะ ตอนนั้นอเมริกามีสงครามกับทางเวียดนาม และรัฐบาลอเมริกาได้เช่าเครื่องบินเหมาลำของ Flying Tiger เพื่อใช้ขนส่งทหาร หุ้นก็เลยขึ้น มันเป็นอะไรที่โชคดีจริงๆ มันขึ้นไปประมาณ 10 เด้งได้ มันขึ้นเร็วมากครับจาก 20 เหรียญ ไป 40 เหรียญภายในไม่กี่วัน ผมเลยเริ่มขายและไปขายได้ที่ราคา 80 เหรียญซึ่งเป็นราคาเกือบสูงสุด ตอนนั้นผมทำเงินได้เยอะมากๆแทบจะไม่ต้องทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียนเลยเพราะบริษัท Flying Tiger ได้มอบทุนการศึกษาให้ผมแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นผมคิดว่าตลาดหุ้นมันเป็นของง่าย แค่ซื้อแล้วก็ถือ แล้วก็รวย .. แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ทีมงาน : หุ้น 10 เด้งเลยเหรอครับ ! ครั้งแรกคุณก็ได้ 10 เด้งแล้ว ไอคำว่าเด้งๆที่คุณพูดนี้ หมายถึงอะไรเหรอครับ ? (ปีเตอร์ ลินซ์ ใช้คำว่า ten bagger พิธีกรกำลังถามว่า bagger แปลว่าอะไร - ผู้แปล)
ปีเตอร์ ลินซ์ : ผมได้มาจากกีฬาเบสบอล ตอนเป็นวัยรุ่นผมชอบดูมันมากก็เลยติดเอามาพูด ซึ่งจริงๆมันหมายความว่า คุณทำเงินได้ 10 เท่าจากเงินต้นที่คุณลงทุน นั้นละครับ มันคือ ten bagger
ทีมงาน : มันรู้สึกยังไงบ้างครับ ?
ปีเตอร์ ลินซ์ : แน่นอน รู้สึกดีแน่ ในชีวิตคุณ คุณแค่หาตัวเหล่านี้ให้เจอไม่กี่ครั้ง คุณก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ไม่ยาก
ทีมงาน : นั้นคือเคล็ดลับของคุณที่จะทำให้คุณเหนือกว่าวอลสตรีทใช่ไหมครับ ?
ปีเตอร์ ลินซ์ : ใช่แล้วครับ ผมคิดว่าความลับของตลาดหุ้นคือ คุณต้องหาหุ้น 10 เด้งให้เจอ ในชีวิตคุณ คุณจะเจอการลงทุนที่แย่มาก แล้วก็หุ้นที่วิ่งโอเค คุณพอรับได้ แต่ขอแค่มี 1 หรือ 2 ตัว ที่เป็น 10 เด้งในพอร์ตของคุณ แค่นี้คุณก็เป็นเซียนหุ้นวอลสตรีทที่ใครๆต่างก็อิจฉาแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือจะมีสักกี่คนที่ทนรวยแบบนั้นได้ มีคนจำนวนมากเห็นราคาหุ้นวิ่งไป 20-30% ก็อยากที่จะขายทำกำไรแล้ว แต่หุ้นที่ขาดทุนก็เก็บมันไว้อยู่อย่างนั้น พฤติกรรมนี้ผมมักจะเรียกว่า "เด็ดดอกไม้ แต่ดันไปรดน้ำวัชพืช" สักวันในพอร์ตของคุณก็จะเต็มไปด้วยวัชพืชหรือหุ้นที่ขาดทุนนั้นเอง และเงินของคุณก็อยู่ในวัชพืชเหล่านั้น คุณจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้ผู้ชนะวิ่งต่อไป ในชีวิตนี้คุณต้องหาหุ้น 10 เด้งให้เจอเพื่อพลิกชีวิต ตอนที่ผมบริหารกองทุนแมกเจนแลน ผมมีหุ้นเป็นพันตัวในกองทุน แต่มีหุ้นไม่กี่ตัวที่เป็นหุ้น 10 เด้ง เพียงเท่านั้นผมก็กลายเป็นตำนานผู้จัดการกองทุน สรุป คือ คุณต้องหาหุ้น 10 เด้งให้เจอ นี้เป็นปรัชญาของผม
แล้วก็อีกพฤติกรรมหนึ่งคือ การตัดขาดทุน ผมพูดจริงๆว่าผมไม่ชอบการตัดขาดทุนเท่าไร เพราะเท่ากับว่าคุณได้ทำมันขาดทุนจริงๆ เงินต้นคุณหาย จริงๆถ้าคุณหาเหตุผลในการถือหุ้นตัวนี้ไม่ได้ คุณก็ไม่ควรถือมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ทีมงาน : ตอนที่คุณบริหารกองทุนครั้งแรก ตลาดหุ้นตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : ตลาดหุ้นเริ่มวิ่งในช่วงปี 1950 ครับ ตลาดมันก็เป็นตลาดกระทิงแบบเต็มตัวตลอดหลายปี ถ้าผมจำไม่ผิดมันน่าจะอยู่ราวๆพันจุด จนถึงช่วงปี 1965-1966 มันเป็นช่วงตลาดแตะจุดสูงสุด และผมก็เามาทำงานในปี 1966 พอดี มันบังเอิญจริงๆ ตอนนั้นมีคนมาสมัครงานในฟิเดลลิตี้ 75 คน เพื่อแย่งงาน 3 ตำแหน่ง ผมก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น ตลาดก็รับน้องผมด้วยการลดลงอย่างรุนแรงตลอด 16 ปี คือ ปี 1982 มันปิดที่ 777 จุด พวกเราต้องทนต่อความยากลำบากมากครับ แล้วก็ตลาดหุ้นไม่ได้เล่นกันง่ายๆเหมือนปี 1950 ที่ทุกคนในตลาดต่างเฝ้ามอง เฝ้าดูและรอคอยให้หุ้นตกเพื่อที่จะเข้าไปลงทุนบ้าง แต่มันก็ไม่ยอมตกสักที พวกเขาทนไม่ไหวที่เห็นหุ้นขึ้นทุกวันจึงตัดสินใจซื้อหุ้นในช่วงปี 1965 และมันก็เป็นจุดสูงสุดพอดี ตลาดหุ้นจะเล่นอยู่กับความโลภและความกลัวกับคุณตลอดเวลา ถ้าคุณลงทุนในช่วงเวลาที่รู้สึกอึดอัด มันอาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน แต่ถ้าเมื่อไรเราลงทุนไปด้วยความสบายใจ มีความสุข แสดงว่าตรงนั้นน่าจะเป็นจุดสูงสุดของรอบ
ทีมงาน : ดังนั้นหมายความว่าคนส่วนใหญ่มักจะเข้าตลาดผิดเวลา อย่างนั้นหรือครับ ?
ปีเตอร์ ลินซ์ : ใช่แล้วครับ คนส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างนั้น เมื่อพวกเขาพลาด พวกเขาก็จะโทษตัวเองว่าครั้งหน้าเข้าจะไม่ยุ่งกับตลาดหุ้นอีกแล้ว ในขณะที่ตลาดเป็นขาลงซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่คุณจะหาหุ้นดีเก็บเข้าพอร์ต แต่เชื่อเถอะครับว่าพวกเขาจะกลับมาอีกตอนที่ตลาดเป็นขาขึ้นซึ่งเป็นจังหวะที่อันตรายอย่างมากในเรื่องของการลงทุน
ทีมงาน : ตอนที่คุณทำงานในฟิเดลลิตี้ คุณได้รับเงินเดือนเท่าไรเหรอครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : น่าจะประมาณ 16,000 เหรียญต่อปีครับ ตอนนั้นผมอยู่ฝ่ายวิเคราะห์ ทำหน้าที่วิเคราะห์เจาะลึกอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง แล้วก็อุตสาหกรรมเหล็ก ผมจำได้ว่าปีที่สองของการทำงาน ผมได้เพิ่มเงินเดือนเป็น 17,000 เหรียญต่อปี มันรู้สึกดีมาก
ทีมงาน : คุณมีงานอื่นอีกบ้างไหมครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ :มีครับ ผมเข้าไปทำงานอยู่ในกองทัพการบิน ROTC ของอเมริกาได้ 2 ปี และเรียนการบริหารการเงินที่โรงเรียนธุรกิจวอร์ตั้นของมหาวิทยาลัยเพนซิวาเนีย หลังจากนั้นผมก็ค่อยมาสมัคงานที่ฟิเดลลิตี้ตอนอายุ 25 ปี ครับ
ทีมงาน : คุณรับบริหารกองทุนแมกเจลแลนเมื่อไรครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : ในปี 1977 ครับ ผมน่าจะอายุ 33 ปี เห็นจะได้
ทีมงาน : บอกได้ไหมครับ ว่าตอนนั้นกองทุนที่คุณบริหารเป็นแบบไหน
ปีเตอร์ ลินซ์ : ตอนนั้นยังเป็นกองทุนขนาดเล็กอยู่เลยครับ เน้นการบริหารเชิงรุก โดยเริ่มต้นแล้วกองทุนของแมกเจลแลนก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 60 ในนามของกองทุนเพื่อการลงทุนนานาชาติ คือ เน้นการบริหารเงินจากต่างชาติที่จะมาลงทุนในอเมริกา และมันก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นแมกเจลแลนในปี 1963 แต่ว่าตอนนั้นมันมีข้อเสียเปรียบอยู่คือทางรัฐบาลเก็บภาษีค่อนข้างสูงเลยไม่เป็นที่นิยม มันมีข้อจำกัดครับ หลังจากนั้นเราก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆจนกลายมาเป็นกองทุนสำหรับชาวอเมริกาเพื่ออเมริกา ในปี 1977 ตอนนั้นขนาดกองทุนอยู่ที่ 20 ล้านเหรียญ
ทีมงาน : นั้นถือเป็นการปั้นพอร์ตโฟลิโอ้ครั้งแรกของคุณเลยใช่ไหมครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ :ถูกแล้วครับ ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายงานวิจัยในปี 1974 และก็ยังเป็นนักวิเคราะห์จนถึงปี 1977 ผมจึงได้มากุมบังเหียนแมกเจลแลน
ทีมงาน : แต่ตลาดหุ้นช่วงนั้นถือว่าไม่ดีเอามากๆเลยในปี 1977 - 1982 ก่อนที่จะมาเป็นกระทิงรอบใหญ่ แต่กองทุนที่คุณบริหารอยู่ก็ถือว่าโดดเด่นอยู่เหมือนกัน คุณทำอะไรกับมันเหรอครับ
ปีเตอร์ ลินซ์ : ตอนนั้นผมมีหลักคิดง่ายๆคือเริ่มต้นจากสิ่งที่ชำนาญก่อน ผมเคยเป็นนักวิเคราะห์พวกสิ่งทอแล้วก็กลุ่มเหล็กมาก่อน ผมจึงเริ่มต้นลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านั้น ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นที่มีเครือข่ายย่อมได้เปรียบมากกว่า ตอนนั้นกลุ่มเหล็กถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเครือข่าย พวกเขาเข้มแข็งมาก ถือว่าได้ผลตอบแทนที่ดีนะ มีผิดบ้างมีถูกบ้าง ผมก็เริ่มเรียนรู้บ้างอย่างว่า เราอย่าจำกัดโอกาสเฉพาะในกลุ่มที่เราถนัด ผมเริ่มวิเคราะห์กลุ่มอาหารอย่าง Taco Bell ผมมีหลักคิดที่ว่า เราน่าจะลงทุนในร้านอาหารขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบแมคโดนัลด์ และตอนนั้นมันก็แพงเกินไปแล้วกับเครือข่ายร้านอาหารที่ขยายสาขาไปเกือบทั่วโลก แต่ Taco Bell ยังไม่ใช่ มันเป็นหุ้นที่ไม่มีคนสนใจ แต่กำไรมันเติบโตขึ้นทุกปี แล้วมันก็สร้างผลตอบแทนให้ผมอย่างงดงาม ผมคิดอยู่เสมอว่า ถ้าผมเรียนรู้ 10 บริษัท จะมี 1 บริษัทที่น่าสนใจ ถ้าผมเรียนรู้ 20 บริษัท จะมี 2 บริษัทที่ผมรู้สึกตื่นเต้น ถ้าผมเรียนรู้ 100 บริษัท จะมี 10 บริษัทที่ผมอยากจะได้มันมาไว้ในพอร์ตโฟลิโอ การค้นหาหุ้นก็เปรียบเหมือนการพลิกหาตัวด้วงใต้ก้อนหิน ใครพลิกหินได้มากที่สุด คนนั้นเป็นผู้ชนะและนั้นคือคติของผมครับ
ทีมงาน : และนั้นก็ทำให้แมกเจลแลยมีชื่อเสียงในปี 1982 ?
ปีเตอร์ ลินซ์ : ครับ .. ในช่วงผมบริหารแมกเจลแลนปีแรกๆ มีคนขายหน่วยลงทุนของกองผมไป 1 ใน 3 มันไม่มีใครสนใจหรอกครับว่าตลาดหุ้นเป็นยังไง เขาแค่คิดว่ากำไรก็ขายไป ตลาดหุ้นตอนนั้นก็ไม่ได้ลงมากแต่แมกเจลแลนก็ถือว่าผมตอบแทนไม่ได้เลวร้ายเลยนะ แต่คนเริ่มกลับมาซื้อในปี 1982 หลังจากที่ตลาดหุ้นขึ้นไปเร็วมากแล้ว พวกเขาน่าจะกลัวตกรถกัน (หัวเราะ) และในปี 1983 กองทุนของผมก็ติด 1 ใน 5 กองทุนที่ดีที่สุด ปี 1984 ก็ติดอันดับเหมือนกัน คนเริ่มให้ความสนใจว่ากองทุนนี้ทำอะไร แล้ว"ตาแก่"ที่ไหนบริหารละเนี่ย ตอนนั้นผมมีผมขาวแล้ว อาจจะเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ที่มีผมขาวก่อนวัย คนเลยเข้าใจว่าผมอายุเยอะทั้งที่ผมเพิ่งจะ 40 ปี สื่อกับหนังสือพิมพ์เริ่มให้ความสนใจกันมาก และนั้นละครับคนก็เริ่มมาซื้อหน่วยลงทุน
ทีมงาน : ลองเล่าประสบการณ์ที่คุณได้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง CNBC และพิธีกรสุดฮ๊อตอย่าง หลุยส์ รุกคิเสอ (Louis Ruckeyser)
ปีเตอร์ ลินซ์ : ในปี 1982 ผมจำได้ว่าผมซื้อหุ้นไครสเลอร์(บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รถยนต์)หนักพอสมควร ผมแนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นตัวนี้ด้วย แต่คนส่วนใหญ่ก็ส่ายหน้าหนี เพื่อนผมของหรือแม้กระทั่งญาติของผมต่างก็บอกว่า ทำไมผมแนะนำหุ้นตัวนี้ มันกำลังจะล้มละลายนะ แต่ว่าผมไม่สนใจ แล้วก็ยังคงเดินหน้าซื้อต่อไป
ต่อมา ผมได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ CNBC กับพิธีกรอย่าง หลุยส์ รุกคิเสอ ชื่อรายการ คือ Wall Street with Louis Ruckeyser ผมก็ยังคงแนะนำหุ้นไครสเลอร์ไม่เปลี่ยน ตลาดหุ้นก็แบบนี้ละครับ มันจะทดสอบความมั่นใจของคุณอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณรู้สึกว่าหุ้นตัวนี้เป็นตัวที่น่าลงทุน ในขณะที่คนรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า "ไม่" แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไประหว่างเดินออกจากมันแล้วไปเล่นหุ้นตัวอื่น หรือยังคงมั่นใจแล้วซื้อมันเพิ่ม แต่สำหรับผมแล้วผมขอเป็นอย่างหลังดีกว่า ถ้าผมทำการบ้านกับหุ้นตัวนี้มาอย่างดี ..
-------------- จบตอน 1 --------------