‘ชาติศิริ’ ชี้ศก.ไทยเผชิญความท้าทาย ชูตลาดตปท.หนุนแบงก์โต
By วิชชุลดา ภักดีสุวรรณ
- แบงก์กรุงเทพ มองเศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทายเพิ่ม แนะจับตา 'สงครามการค้า-ปัจจัยการเมืองใกล้ชิด'
- เชื่อแม้ธุรกิจเผชิญความท้าทายขึ้น แต่แบงก์ยังคงโตเป้าสินเชื่อระดับ 3-4% เชื่อพอร์ตรายใหญ่-กิจการตปท.หนุน
- เชื่ พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ยังไม่ถือว่า “อ่อนแอ” แม้บางธุรกิจอาจเผชิญความท้าทายตามวัฏจักร
- ธนาคารหัน “ดูแล-สนับสนุน” ลูกค้าอย่างใกล้ชิด แทนการลดความเสี่ยงผ่านการตัดสินเชื่อ
- ชูธุรกิจตปท. หนุนแบงก์โตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “อินโดนีเซีย” ผ่านธนาคารเพอร์มาตา
- เดินหน้า เดินหน้าสู่เป้าหมายการหนุน ROE เติบโตขึ้น 'สองหลัก' หวังเติบโตระยะยาวมากขึ้น ยอมรับเป้าหมายนี้ “ไม่ง่าย

ท่ามกลางความผันผวนทาง “เศรษฐกิจ” ทั้งในและต่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ความไม่แน่นอนจากการเจรจาทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ ประเด็นดังกล่าว ล้วนมีความสำคัญยิ่งทั้งต่อ “เศรษฐกิจไทย” และการเติบโตของธุรกิจต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL นายแบงก์ใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ภายใต้ “ความผันผวน” มากขึ้น ทั้งจากการเจรจาของประเทศใหญ่ๆ จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
ดังนั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มองว่า ภายใต้ความผันผวนก็มี “โอกาส” สะท้อนภาพได้จาก “การส่งออก” ของไทยไตรมาส 1 และ 2 ปี 2568 ยังเติบโตได้ในระดับอัตราที่ดี จากการเร่งส่งออกในช่วงที่ผ่านมา
“แน่นอนความผันผวนต่างๆ มากขึ้น จากทั้งแนวทางการเจรจาระหว่างประเทศใหญ่ด้วย ปัจจัยการเมืองก็มีความ Challenge หรือความสามารถในการบริโภคอุปโภคต่างทำให้เกิดความท้าทายมากขึ้น แต่เชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถเดินหน้าการลงทุนต่อไปได้ เช่น โครงการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ ก็จะดึงการลงทุนต่างๆ ตามมา ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามได้”
ด้านผลกระทบจากภาษีนำเข้า (Tariffs) เชื่อว่า เป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่า ผลเจรจาต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร ยอมรับว่าจากผลกระทบนี้อาจมีบางภาคส่วนอาจได้รับผลกระทบทำให้คำสั่งซื้อสะดุดลงบ้าง
- คงเป้าหมายเติบโตสินเชื่อ 3-4%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความผันผวนความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ธนาคารยังเชื่อว่า ด้านการเติบโตของธนาคารยังสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อที่ตั้งไว้ที่ระดับ 3-4% แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น
แม้ธนาคารอื่นๆ อาจปรับลดเป้าหมายลง หรือประสบปัญหาการชะลอตัวของสินเชื่อ แต่ในส่วนธนาคารกรุงเทพยังคงเป้าหมายเดิม จากพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตธนาคาร โดยเฉพาะสินเชื่อไปสู่ 3-4% นั้น ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก การเติบโตจาก ธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking) เป็นหนึ่งในสองส่วนสำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนการเติบโตรวมถึงธุรกิจต่างประเทศ ที่จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนรายได้ของธนาคารอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับ ลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายย่อย คาดว่า จะเติบโตในระดับที่ต่ำลงมาเล็กน้อย ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยคาดว่าในส่วนลูกค้าบุคคลน่าจะเติบโตประมาณ 2-3%
“ธนาคารยังคงรักษาแนวทางการพิจารณาสินเชื่อตามปกติ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญแม้สถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจสูงขึ้น”
สำหรับ ปัญหาหนี้ที่สูงขึ้น มองว่าธนาคารเองต้องมองหาโอกาสในการทำธุรกิจให้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และที่ผ่านมามีการสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Concerns) หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่าง ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการปล่อยสินเชื่อ และช่วยธุรกิจในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น
หากถามว่าในพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพอ่อนแอลงหรือไม่นั้น มองว่า การอ่อนแอของธุรกิจก็เป็นไปตามวัฏจักรของมัน อาจมีบางธุรกิจเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น แต่หน้าที่ธนาคาร คือ ต้องดูแล และสนับสนุนลูกค้าอย่างใกล้ชิดแต่ละภาคส่วน ควบคู่กับการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าเผชิญอยู่ หรือสนับสนุนในกรณีที่มีโอกาสใหม่ๆ
- ต่อจิ๊กซอว์เติบโตธุรกิจในตปท.
สำหรับธุรกิจในต่างประเทศ ที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง โดยหากดูนับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินธุรกิจต่างประเทศมายาวนาน และมีสำนักงานหรือธุรกิจอยู่ใน 13 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
โดยมองว่าเครือข่ายที่แข็งแกร่งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อธนาคารเท่านั้น แต่ยัง มีศักยภาพสูงที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเอง โดยเป้าหมายของธนาคารคือมุ่งมั่นที่จะยกระดับ ความเป็นผู้นำในฐานะธนาคารระดับภูมิภาค (Regional Banking) ให้สูงขึ้น
“ชาติศิริ” กล่าวต่อว่า การเติบโตในธุรกิจต่างประเทศเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะใน “อินโดนีเซีย” ที่ธนาคารได้เข้าซื้อกิจการธนาคารท้องถิ่น “เพอร์มาตา” ที่ทำให้ศักยภาพของธนาคารเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งเครือข่ายธุรกิจและการให้บริการลูกค้าที่ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ไม่เพียงขยายธุรกิจในต่างประเทศ แต่ธนาคารเองยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางชักชวนนักลงทุนชาวอินโดนีเซีย ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต, อาหาร และบริการ ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่นักลงทุนอินโดนีเซียมีการลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
อีกเป้าหมายการเติบโตของ “ธนาคารกรุงเทพ” ที่ถือเป็นโจทย์สำคัญธนาคาร และถือเป็นโจทย์หลักของหลายแบงก์ที่ผ่านมา คือเป้าหมายในการเพิ่มผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ภายใต้เป้าหมายของธนาคารที่ต้องการเห็น ROE เพิ่มขึ้นเป็น “เลขสองหลัก” แต่การไปถึงจุดดังกล่าวยอมรับว่า “ไม่ง่าย” คงต้องใช้ระยะเวลาในการทำตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้
- “อินโดนีเซีย” สร้างการเติบโตให้ BBL
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การเข้าซื้อ Permata Bank ในอินโดนีเซีย ถือว่า สร้างการเติบโตให้ธนาคารกรุงเทพอย่างมาก โดยปัจจุบัน “กำไร” อยู่หลัก 6,000-8,000 ล้านบาท แต่อนาคตอาจเห็นรายได้จากพอร์ตเติบโตสู่ 10,000 ล้านบาทในระยะข้างหน้า
โดยมองว่า การขยายธุรกิจในต่างประเทศ การสร้างการเติบโตระดับสูง ผ่านเพอร์มาตา
โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาที่เติบโตต่อเนื่องถึง 9% ขณะที่ไทยโตน้อยมาก กลยุทธ์นี้ทำให้ธนาคารไม่ตื่นเต้นเมื่อเศรษฐกิจไทย “โตไม่ออกหรือโตไม่ได้” เพราะเชื่อว่าธุรกิจต่างประเทศ จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธนาคารกรุงเทพให้เติบโตต่อเนื่อง
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1187551