สหรัฐฯกำลังโคม่า...นับถอยหลังสู่ Recession

หลังจากที่เกิดสัญญาณการเกิด Recession อย่าง Inverted Yield Curve กันมาแล้วในช่วงเดือนมีนาคม เดือนนี้เราได้เห็นสัญญาณเตือนที่สำคัญอีกอย่างนึงคือ GDP ไตรมาส 1/22 ของสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 โดยหดตัวถึง 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งๆที่ในไตรมาส 4/21 เศรษฐกิจสหรัฐฯยังเติบโตได้ถึง 6.9% ก็ตาม

ก่อนอื่นเลย นิคกี้ขอเกริ่นก่อนว่าเวลาเราจะดูว่าเศรษฐกิจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ recession หรือไม่ เราจะดูจากตัวเลข GDP ไตรมาสต่อไตรมาส ถ้า GDP หดตัวหรือติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เราจะนับว่าประเทศนั้นเกิด recession นั่นเองคะ
ถ้าถามว่าสหรัฐฯมีโอกาสเกิด recession มากน้อยแค่ไหน นิคกี้ขอบอกเลยว่ามีโอกาสสูงขึ้นเยอะมากๆ โดยถ้าเราย้อนไปดูการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 4/21 จะพบว่าส่วนใหญ่มาจากการเติมสินค้าคงคลังเป็นหลัก สะท้อนว่าบริษัทต่างๆรีบสต็อกสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่คาดว่าน่าจะกลับมาอย่างแข็งแกร่ง แต่ปรากฏว่า demand ไม่ได้มาตามนัด ทำให้ตัวเลขการเติบโตที่ 6.9% เมื่อวิเคราะห์จริงๆแล้วมันไม่ได้เแข็งแกร่งอย่างที่เห็นในตอนแรก
ขณะที่ถ้าเรามาดูการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 1/22 จะพบว่าหดตัวถึง 1.4% ทั้งๆที่ตลาดคาดว่าจะเติบโต 1.1% และเมื่อเรามาดูส่วนประกอบของ GDP จะพบว่า สินค้าคงคลัง ส่งออกสุทธิ และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวลง ขณะที่การใช้จ่ายส่วนบุคคลหรือ PCE และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวอยู่
ซึ่งถ้าเราไปเจาะลึกขึ้นไปอีกขั้นจะพบว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวในไตรมาส 1/22 มาจากการส่งออกสุทธิเป็นหลัก ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้เป็น ตัวเลขส่งออกลบด้วยตัวเลขนำเข้า (X-M) ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐฯมีการนำเข้าเป็นปริมาณเยอะมากๆเมื่อเทียบกับการส่งออกนั่นเอง
เมื่อเรานำตัวเลข GDP ไตรมาส 1/22 มาวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย, เงินดอลลาร์แข็งค่า และราคาน้ำแพงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ GDP ไตรมาส 2/22 จะติดลบต่อ โดยมาจาก
1. ภาครัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เหมือนที่เกิดในไตรมาส 1/22)
2. สินค้าคงคลังจะเพิ่มขึ้นน้อยหรือติดลบเนื่องจากบริษัทไม่กล้าตุนสินค้าและเกิดปัญหา supply chain disruption ในประเทศจีน
3. การบริโภคในประเทศจะไม่ได้แข็งแกร่งอีกต่อไปเนื่องจากราคาพลังงานที่แพงขึ้นเยอะมาก จนไปเบียดบังการใช้จ่ายในส่วนอื่นๆหมด ประกอบกับอัตราการออมเงินของคนสหรัฐฯก็ลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 แล้ว ซึ่งหมายความว่าประชาชนไม่มีเงินสำรองเหลืออยู่ในการออกมาจับจ่ายใช้สอย
4. ตัวเลขส่งออกสุทธิมีโอกาสติดลบต่อเนื่อง เพราะค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากๆ ทำให้ยอดนำเข้ามีแนวโน้มสูงกว่ายอดส่งออก
5. GDP ไตรมาส 1/22 ยังไม่ได้ price-in ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเท่าไหร่ (ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น) แต่ GDP ไตรมาส 2/22 จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามเต็มๆ
6. เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในการประขุม 3 ครั้งถัดไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ดังนั้นนิคกี้สรุปว่า เรามีโอกาสได้เห็น GDP ไตรมาส 2/22 ของสหรัฐฯหดตัวต่อเนื่อง และเกิดภาวะ recession คะ แต่ถ้าถามว่าต้องกังวลกับการเกิด recession รอบนี้แค่ไหน นิคกี้ขอบอกว่าไม่ต้องถึงกับกังวลมากนัก เพราะ
1. การใช้จ่ายส่วนบุคคลยังเติบโตได้ดีอยู่ สะท้อนว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อ
2. ยอดส่งออกสุทธิติดลบก็จริง แต่เพราะตัวเลขนำเข้ามันสูงกว่าตัวเลขส่งออก ซึ่งการนำเข้าในปริมาณเยอะๆสะท้อนว่า demand ในสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งอยู่
3. ต้องติดตามกันต่อว่าปัญหา supply chain disruption ในจีนจะแก้ไขได้เมื่อไหร่ ถ้าแก้ไขได้เร็ว ตัวเลขสินค้าคงคลังน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ (อันนี้ต้องลุ้นเยอะหน่อยเพราะจีนใช้นโยบาย Covid-zero)
4. ตลาดแรงงานของสหรัฐฯแข็งแกร่งมากๆ

สุดท้ายนิคกี้มองว่าเราน่าจะได้เห็น technical recession ในสหรัฐฯ โดย GDP จะหดตัวในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ แต่ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และจะไม่ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานแบบในปี 2008 นอกจากนี้การที่ GDP ไตรมาส 1 ออกมาหดตัวน่าจะเป็นปัจจัยนึงที่ทำให้เฟดลดท่าที hawkish ได้อีกด้วยคะ
Source: Bloomberg
