ห้องเม่าปีกเหล็ก

นิยามชีวิตกลับหัวของเฮียวิทย์

โดย ตำรา
เผยแพร่ :
25 views

นิยามชีวิตกลับหัวของเฮียวิทย์มนุษย์ที่เชื่อว่าทุกคนมีช่วงเวลาไพรม์เสมอ

By สาธิต สูติปัญญา

 

"คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ชวนพูดคุยกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เพื่อถอดบทเรียนการใช้ชีวิต การทำงาน และการค้นหาความหมายในทุกช่วงจังหวะของชีวิตพร้อมกัน

 

 

เขาคือคนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ด้วยเงินเดือนที่น้อยกว่าที่คาดไว้เกินครึ่ง ในงานที่ไม่ได้อยากทำ

เขาคือคนที่ผ่านประสบการณ์การทำงานหลากหลายรูปแบบ จากนักข่าว ผู้ประกาศข่าว สู่ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทระดับโลกอย่าง BMW จนถึงขั้นต้องเข้าวัดบวชเณรเพื่อจัดการกับความเครียด

เขาคือคนที่มองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในทุกสถานการณ์ แม้กระทั่งการเรียนภาษาที่สาม ภาษาที่สี่ โดยไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่เกินไปที่จะเริ่มต้นใหม่

เขาคือคนที่บอกว่าตัวเองเพิ่งมา "เดบิวต์" ในวัย 50 กว่า และเชื่อว่าทุกคนมีจังหวะชีวิตของตัวเอง บางคนพีคตอนอายุน้อย บางคนค่อยๆ เติบโต แต่สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมพร้อมรับโอกาสที่จะมาถึง

และเขาคือคนที่เดินทางผ่านช่วงชีวิตที่เรียกตัวเองว่า "sophomoric" สู่ "freshy" "junior" และ "selfless" กระทั่งค้นพบว่าความสำเร็จไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการค้นหาความสมดุลและความหมายในชีวิต

วันนี้ "คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด" ชวนพูดคุยกับ "เขา" คนนั้นคือ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พิธีกร ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านพีอาร์และเศรษฐกิจ และผู้จัดรายการประวัติศาสตร์ 8 นาที (8 Minute History) ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกธุรกิจมาหลายสิบปี เพื่อถอดบทเรียนการใช้ชีวิต การทำงาน และการค้นหาความหมายในทุกช่วงจังหวะของชีวิตให้ลึกซึ้งมากขึ้น

เล่าให้ฟังได้ไหมว่าตอนเรียนจบใหม่ๆ ทำอะไร และปรับตัวเข้ากับที่ทำงานแรกอย่างไร

เฮียจบมาตอนเศรษฐกิจตกต่ำพอดี ช่วงค่าเงินบาทลอยตัวปี 40 (1997) และกลับมาช่วงปี 99 ตอนนั้นเฮียอยากทำงานในบริษัทคอร์ปอเรท อยากรู้ว่าโลกเขาทำอะไรกัน แต่ไม่มีใครรับคนเพราะทุกที่ฟรีซหมด เฮียก็เลยร่อนใบสมัครไป สุดท้ายมีคนเรียกสัมภาษณ์ 3 ที่ และสอบได้ที่เดียว (Nation TV) เฮียจึงไม่มีทางเลือก เงินเดือนก็เลือกไม่ได้ เขาล็อคมาอย่างไรก็ต้องเป็นแบบนั้น

แต่เฮียโชคดีที่ได้มาทำที่เนชั่นทีวีตอนต้น เพราะสถานียังไม่ออกอากาศ เป็นช่วงเทรนนิ่ง ความคาดหวังยังไม่เยอะ เหมือนมาเรียนหนังสือก่อนสัก 4-5 เดือน แล้วค่อยลงสนามจริง เป็นช่วง transition period (เปลี่ยนผ่าน) ที่ดี ไม่เหมือนกับการที่ต้องไปทำงานขายที่มีเป้าต้องขายรถให้ได้เดือนละ 5 คัน ซึ่งจะกดดันมาก

ทีนี้แม้จะไม่ได้กดดันมาก แต่เฮียก็รู้สึกแปลก เพราะเป็นงานที่เฮียไม่ได้อยากทำ ตอนแรกบอกว่าจะให้มาเป็นผู้ประกาศ แต่ผู้บริหารบอกว่าทุกคนต้องทำได้ทุกฟังก์ชัน ทั้งลงภาคสนาม รายงานสด เขียนสคริปต์ ตัดต่อ แม้แต่ถ้าช่างภาพไม่อยู่ก็ต้องถ่ายเองได้

ระหว่างที่เฮียกำลังตัดต่องาน ซึ่งยากมากสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ มีรุ่นพี่คนหนึ่งเดินมาบอกว่าเฮียโชคดีมาก เพราะได้ใช้เครื่องตัดต่อแบบดิจิทัลที่ราคาสูงมาก ประหยัดเวลา และได้เรียนรู้เรื่องลำดับภาพด้วย หลังจากนั้นเฮียก็เริ่มมองในแง่บวกมากขึ้น

ตอนแรกที่ไปฝึกที่กรุงเทพธุรกิจ บรรณาธิการบอกว่าเฮียเขียนข่าวไม่รู้เรื่องเลย เฮียก็ยอมรับว่าจริง แต่ก็พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ หนึ่งในงานที่ทำได้ดีที่สุดคือการตามบก.เศรษฐกิจไปสัมภาษณ์พอล ครูกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก MIT เฮียทำหน้าที่ถอดเทปและแปล ซึ่งเป็นงานที่ถนัด ส่วนอย่างอื่นต้องเรียนรู้ใหม่หมด

เรื่องเงินเดือน แม้จะได้น้อยกว่าที่คาดไว้เกินครึ่งมานิดเดียว แต่ก็ต้องจำใจเพราะมีงานเดียว พี่สาวเฮียแนะนำให้ทำไปก่อน โชคดีที่พอทำไปสักพัก สังคมการทำงานก็เข้าที่ เฮียเริ่มชอบงาน แม้เงินเดือนจะน้อย ก็บอกตัวเองว่าใช้น้อยๆ แล้วค่อยว่ากันไป ชอบถึงขนาดที่มีคนมาชวนไปทำงานอื่นก็ไม่ไป เพราะทั้งงานดีและเฮียปรับตัวได้เร็ว สุดท้ายเฮียอยู่ที่นั่น 9 เดือน แม้ตั้งใจจะอยู่นานๆ แต่มีโอกาสใหม่เข้ามาจึงต้องเปลี่ยน

เฮียเคยให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุที่ย้ายงานเพราะเงินเดือนใช่ไหม ดังนั้นเฮียมองเทรนด์การย้ายงานอัปเงินเดือนสมัยนี้ยังไง

เฮียจะเล่าว่าที่ไปทำงานที่ใหม่เพราะสองเหตุผล หนึ่งต้องบอกว่าเฮียไม่ได้ทุกข์กับที่เดิม แต่ที่ใหม่เป็นองค์กรที่เฮียอยากทำงานอยู่แล้ว อยากลองทำ big corporate (องค์กรขนาดใหญ่) เพราะช่วงนั้นดูเจมส์ บอนด์เขาขับรถ BMW เฮียก็อยากลองไปดูว่าบริษัทเป็นอย่างไร อยากชิมชีวิต international management (การจัดการระหว่างประเทศ)

ส่วนเรื่องเงินเดือน ตอนแรกเฮียไม่อยากไปเสี่ยงเพราะรู้ว่าการเปลี่ยนงานคือความเสี่ยง เฮียเพิ่งเริ่มงานแรกและได้เรียนรู้เยอะ ยังไม่ทันได้ใช้ความรู้เลยก็ต้องย้ายงาน เฮียรู้สึกเสียดายเวลา แต่พอเขาบอกเงินเดือนมา เฮียก็เลยตัดสินใจไป พูดง่ายๆ เงินมาผ้าหลุด (หัวเราะ)

เฮียมองว่าในสังคมไทย เรื่องการจ้างงานเป็นแบบไฮบริดระหว่างสังคมเอเชียแบบ lifetime employment (ทำงานที่เดียวระยะยาว) เหมือนญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีค่านิยมแบบต่างประเทศ ถ้ามีความสามารถดี มีคนเห็นคุณค่า การย้ายทีมก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เหมือนฟุตบอล บางคนเริ่มต้นในทีมเล็ก ถ้าไม่ชอบก็อยากย้ายไปทีมใหญ่

เด็กสมัยนี้อยากทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียง อยากถือนามบัตรแล้วคนรู้จักบริษัท ไม่ต้องถามว่าทำที่ไหน เฮียเข้าใจและไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลก แต่สำคัญที่สุดคือต้องเปิดใจเรียนรู้และปรับตัว บางคนไปแล้วปิดใจ ไม่อยากทำงาน รู้สึกอึดอัด ทั้งที่ถ้าเปิดใจอาจจะสนุกได้ บางคนปรับตัวยาก บอกว่าที่ทำงาน toxic (เป็นพิษ) ต้องมองว่าเป็นเพราะเราปรับตัวไม่ได้หรือที่นั่นแย่จริง

เฮียแนะนำให้คิดอย่างมีสติ ดูว่าชอบงานไหม บรรยากาศเป็นอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร ถ้าย้ายก็ไม่เป็นไร เพราะช่วงแรกๆ ยังไม่รู้ว่าเหมาะกับอะไร ชอบแบบไหน มีสไตล์แบบไหน ชอบอุตสาหกรรมแบบไหน แต่ระหว่างทำงานอย่าเอาใจไปไว้ที่อื่น

เฮียมองการทำงานสองมุม หนึ่งคือเข้าไปทำงาน สองคือตอนจบใหม่ๆ เข้าไปเรียนรู้เป็นส่วนต่อขยายของปริญญาตรี แต่เป็นการเรียนรู้ที่ดีเพราะเขาให้เงินเรา (หัวเราะ) เราไม่ต้องจ่ายค่าเทอม ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอย่างไร เฮียแนะนำให้ทำไปเรียนรู้ไป แต่ก็เปิดตามองที่อื่น ถ้าที่แรกอยู่ลำบากก็ย้ายได้ แต่ให้เอาความรู้จากที่แรกติดตัวไปด้วย

ตอนทำงานที่เนชั่นทีวี ตอนนั้นเงินเดือนก็น้อย แถมยังโดนใช้งานเกินตำแหน่ง มีบ่นบ้างไหม ?

เราต้องมีทัศนคติว่าสิ่งที่ดีคือสิ่งที่มี (นิ่งคิด...)

งานแรกที่เนชั่นทีวีสนุกมาก สนุกทุกวัน แม้จะไปเช้ากลับดึก แต่ได้เจอเพื่อน รู้สึกดี งานข่าวมันไดนามิก ส่วนตอนไปทำที่ BMW สถานภาพดูดี ทุกอย่างดูดี แต่งานกดดันมาก ในชีวิตเฮียไม่ค่อยเคยรู้สึกถอดใจ แต่ตอนนั้นหนักทั้งปริมาณงานและความท้าทาย แต่พอผ่านไปแล้ว เฮียคิดว่าถ้าไม่อยู่ภายใต้แรงกดดัน เฮียก็คงไม่โต มันกลายเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่

ต่อมาเฮียได้ทำงานธนาคาร ซึ่งไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เฮียถนัดเลย เฮียบ่นแต่ก็เรียนรู้ พอผ่านไปมองย้อนกลับไป เฮียรู้สึกว่าโชคดีที่ได้ทำธนาคาร ถัดมาทำข่าวช่อง 5 เฮียบ่นทุกวันเพราะต้องตื่นเช้ามาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความอิสระ เพราะโลกคอร์ปอเรทมันกดดัน

ทุกที่จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองอย่างไร ถ้ามองว่าทุกอย่างไม่ดีหมด เราก็ไปต่อไม่ได้ ตอนนี้งานมีความท้าทายบ้าง แต่ต้องมองว่ามันมีจุดดีมากมายให้เรายิ้มกับมันทุกวัน

ช่วงที่อยู่ BMW เฮียเคยเครียดถึงขั้นไปบวชและเข้าหาพระพุทธศาสนา เฮียสนใจพุทธศาสนาไม่ใช่เพื่อเป็นคนดี แต่เป็นวิธีการในการบริหารจิต ตอนนั้นเครียดจนนอนไม่หลับ โชคดีได้อ่านหนังสือธรรมะที่ไม่ได้สอนให้เป็นคนดี แต่สอนให้รู้จักจิตใจตัวเอง สอนให้มีสติ

เฮียเริ่มสนใจพุทธศาสนาแบบที่ไม่ต้องตื่นเช้าตักบาตรหรือเข้าวัดทำบุญ แต่ทำบุญด้วยการบริจาคโลหิตและบริจาคเงินให้สถานศึกษากับสถานพยาบาล แล้วตัดสินใจไปบวชเณร เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้อยู่กับตัวเอง ไม่มีมือถือ จากที่เคยยุ่งมาก กลายเป็นนิ่งสนิท ทำแค่กิจวัตรประจำวัน บิณฑบาต ทำวัตรเช้า-เย็น

ตอนนั้นได้นั่งสมาธิ ปฏิบัติเจริญสติ และใช้ช่วงนั้นหยุดกินยานอนหลับ กลับมาแล้วมีความสามารถในการปล่อยวางมากขึ้น จากที่แต่ก่อนเจองานเยอะๆ จะเก็บไว้ในหัวหมด แต่เดี๋ยวนี้นิ่งขึ้น รู้จักจัดลำดับความสำคัญ โฟกัสทีละอย่าง ไม่ฟุ้งซ่าน บางงานก็ไม่ทำ บางงานมอบหมายทีมงาน บางงานปล่อยให้ค่อยๆ ทำไป ชีวิตก็ดีขึ้น

แล้วเฮียมองเรื่อง work life balance ยังไง พระพุทธศาสนาทำให้มีบาลานซ์มากขึ้นไหม

ก่อนรู้จักพระพุทธศาสนา เฮียไม่เคยคิดเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์เลย เพราะเฮียเป็นคนแอคทีฟ มีโอกาสก็ทำให้ดีที่สุด

เฮียเห็นชีวิตคนหลายคนตอนทำงานที่ BMW เห็นว่าทุกคนเครียดเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือคนทำงานคอร์ปอเรท ทุกฟังก์ชั่นที่เฮียเห็นล้วนหนักหนาสาหัส ไม่มีใครมีงานเบา เฮียเลยคิดว่าวิธีที่จะเดินหน้าได้คือต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

แต่เวิร์คไลฟ์บาลานซ์อีกส่วนหนึ่งคือการทำงานแล้วไม่ทุกข์ หลังจากรู้จักพระพุทธศาสนา เฮียกลับมาบริหารทุกข์ได้ดีขึ้น มีปัญหาก็นั่งนิ่งๆ ถอยกลับมามอง เฮียไม่เอา 10 เรื่องมาใส่หัวในครั้งเดียว แต่จัดลำดับความสำคัญ บางทีพอถอยกลับมานิ่งๆ จิตใจก็บอกว่าแก้ได้ ต่างจากตอนที่ตื่นตกใจคิดว่าทำไม่ได้

เฮียเป็นคนหนึ่งที่นิยามตัวเองว่าชอบเรียนรู้ตลอดเวลา ได้นิสัยนี้มาจากไหน

เรื่องการเรียนรู้ เฮียมองว่าถ้าเรามีความรู้แล้วไม่ได้ใช้ เราก็จะไม่อยากเรียนรู้ แต่ถ้าได้ใช้และสิ่งนั้นทำให้เรามีคุณค่า เราจะรู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์ อย่างตอนที่เฮียเป็น PR ที่ BMW เฮียได้ใช้ประสบการณ์ในการดีลกับคนต่างประเทศ แม้แต่ภาษาอังกฤษที่แต่ก่อนเละเทะ พอได้ใช้บ่อยๆ ก็พัฒนาขึ้น จนมีคนชมว่าเฮียจบมาจากอังกฤษหรือเปล่า

เฮียเชื่อว่าสิ่งไหนที่เราตั้งใจเรียน ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี มันเป็นส่วนของเราเสมอและเป็นประโยชน์

อย่างการเรียนภาษาอิตาเลียน แม้จะมีคนบอกว่าไม่น่าเรียนเพราะคนพูดแค่ 60 ล้านคน แต่พี่สาวเฮียบอกว่า "ชอบอะไรก็เรียนเข้าไป" สุดท้ายโอกาสก็วิ่งเข้ามาหาเอง อย่างเช่นตอนทำสารคดีเกี่ยวกับธุรกิจอิตาเลียน หรือการเรียนภาษาอังกฤษที่กว่าจะได้ใช้จริงจังก็ผ่านไป 30 ปี

ดังนั้นถ้าเราคิดว่าเรียนเพื่อใช้แล้วไม่ตั้งใจเรียน เราก็จะไม่ได้มัน แต่พอเราได้มันแล้ว มันจะเป็นกุญแจที่เปิดประตูโอกาสใหม่ๆ ให้กับเราเยอะมาก โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้

บางคนบอกว่าแก่เกินจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้ว เช่นเรียนภาษาที่ 3 หรือที่ 4 เฮียมองอย่างไร

เป็นคำถามที่ดีมาก ตอนเรียนภาษาต่างประเทศภาษาแรก เราใช้ความพยายาม 100% แต่พอเรียนภาษาที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นตระกูลภาษายุโรปหรือตระกูลอื่น เราจะใช้ความพยายามน้อยลงเยอะ

เพราะเราได้ทั้งภาษาและทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ติดมาด้วย อย่างตอนเฮียเรียนภาษาอิตาเลียน ใช้ความพยายามแค่ 60% เพราะรู้หลักแล้ว การเรียนรู้อย่างหนึ่งทำให้เรามีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น

เด็กมีข้อดีคือไม่รู้ว่ายากหรือง่าย พูดจากสัญชาตญาณ เหมือนคนที่พ่อเป็นเยอรมัน แม่เป็นอิตาเลียน เกิดที่สวิสฝรั่งเศส ตอนเด็กเขาไม่รู้หรอกว่าพูดอะไร แต่สำหรับผู้ใหญ่ เราจะเรียนด้วยตรรกะ และเข้าใจศัพท์บางคำได้เร็วกว่าเพราะผ่านโลกมาแล้ว

แล้วประวัติศาสตร์ล่ะ ชอบตั้งแต่ตอนไหนเพราะอะไร

เรื่องประวัติศาสตร์ เฮียเริ่มชอบจากการดูหนัง อย่างเรื่องมังกรหยก พอรู้ว่า เจงกิส ข่าน (จักรพรรดินักรบผู้รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักรมองโกล) มีตัวจริง ก็เริ่มสนใจ อีกเรื่องคือตอนเรียนโรงเรียนคาทอลิกได้ดูหนังเรื่องพระเยซู ทำให้สงสัยว่าทำไมพระเยซูต้องถูกทรมาน ทำไมต้องมีมงกุฎหนาม พอเริ่มถามว่า "ทำไม" มันก็สนุก

ต่อมาได้ดูหนังเรื่องซูสีไทเฮาที่โรงหนังแกรนด์ ทำให้รู้ว่าอังกฤษเคยรบกับจีนในสงครามฝิ่น เฮียเห็นว่าประวัติศาสตร์โดยธรรมชาติมันสนุก แค่บางทีถูกถ่ายทอดในแบบที่น่าเบื่อ

ครูก็มีส่วนทำให้เฮียชอบประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ อย่างครูสมควร เป้าน้อย ที่สอนสังคมศาสตร์ตอน ม.3 ท่านจะคุยเรื่องสนุกๆ แทรกความรู้ เช่น เรื่องเทือกเขาพิเรนีสที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน

ส่วนที่บ้าน แม้พ่อจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่แม่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ไทยและเล่าให้ฟัง มันซึมซับทีละน้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว เฮียเชื่อว่าแรงบันดาลใจมีรอบตัว แค่เราจะจำมันได้หรือเปล่า บางอย่างเหมือนตอนเรียนดนตรีที่ไม่ได้อะไรเลย แต่กลับได้เรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ เช่น เด็กที่สับสนระหว่างโมสาร์ทกับโมเสส เฮียว่าทุกคนมีต่อมรักความรู้ แค่ชอบไม่เหมือนกัน

ถ้าเฮียมีพลังงานวิเศษสามารถย้อนกลับไปช่วงไหนก็ได้ในอดีตและไปบอกอะไรตัวเองได้อย่างหนึ่ง อยากกลับไปช่วงไหนและบอกอะไรกับตัวเอง

ถ้าเฮียมีพลังวิเศษย้อนเวลากลับไปได้ เฮียอยากไปบอกตัวเองตอนเริ่มต้นทำงานคอร์ปอเรทใหม่ๆ ให้เก็บเงินเยอะๆ อย่าใช้เงินมือเติบ ให้ประหยัดและเริ่มออม เริ่มลงทุน ให้เรียนรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ นี่คืออย่างเดียวที่อยากบอก

ส่วนเรื่องอื่นๆ เวลามีน้องๆ มาขอคำแนะนำ เฮียจะบอกว่า "มึงอยากทำอะไรก็ทำไปเลย ทำเร็ว เฟลเร็ว เรียนรู้เร็ว" แต่ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวด้วย ไม่มีใครไม่เคยพลาด บางทีสิ่งที่เราแนะนำว่าอย่าทำ มันอาจจะดีสำหรับเขาก็ได้เพราะบริบทต่างกัน อยากทำอะไรก็ทำไปเลย แค่อย่าผิดกฎหมาย อย่าผิดศีลธรรม

แต่สิ่งหนึ่งที่คนยุคปัจจุบันมักลืมไปคือคำว่า "ประหยัด" และ "มีวินัยทางการเงิน" เฮียเองก็เคยฟุ่มเฟือย พอเริ่มมีเงินเดือนเยอะๆ ช่วงแรกๆ อยากได้อะไรที่ไม่เคยได้ก็ซื้อทุกอย่าง สุดท้ายเงินไม่พอใช้ สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือเวลา ถ้าเรารู้ตั้งแต่ต้น เราจะได้เก็บเงิน บริหารเงินไปด้วย

เพราะคนปัจจุบันอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ มันมีทั้งข้อดีคืออายุยืน แต่ข้อเสียคือถ้าอายุยืนแล้วไม่มีเงิน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราวางแผนเกษียณตั้งแต่เริ่มต้น มีวินัย มันจะช่วยได้เยอะ

ถ้าให้หาคำคุณศัพท์ที่อธิบายช่วงชีวิต 20, 30, 40, และปัจจุบัน มีคำว่าอะไรบ้าง

เฮียขออธิบายคำที่ใช้เรียกแต่ละช่วงวัยนะ

วัย 20 เฮียใช้คำว่า "sophomoric" มาจากคำว่า sophomore ที่มักใช้เรียกเด็กปี 2 เพราะมันบ่งบอกถึงคนที่กำลังร้อนวิชา เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้ เหมือนเพิ่งเกิดใหม่ในโลกแห่งความรู้

วัย 30 เฮียเรียกว่า "Freshy" เพราะเป็นวัยที่เราเริ่มต้นทำงาน ยังตื่นเต้นตื่นใจกับโลกใบนี้อยู่

วัย 40 เฮียเรียกว่า "Junior" เพราะเป็นช่วงที่เรากลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง หลังจากที่เคยร้อนวิชา เคยเฟรชมากๆ ก็ถอยกลับมาเป็นมนุษย์ธรรมดา ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เก่งอะไร เพราะเจอทั้งร้อนทั้งหนาว เจอความผิดหวัง ล้มเหลว และยอมรับว่าตัวเองไม่เก่งหลายอย่าง กลายเป็นคนตัวเล็กๆ

วัย 50 เฮียเรียกว่า "Selfless" หรือไร้ตัวตน เพราะเป็นช่วงที่ไม่ต้องแข่งขันอะไรแล้ว ถ้ามีคนถามว่าจะประสบความสำเร็จอีกไหม ก็บอกว่า "ขอโทษนะ กูจะเกษียณแล้ว" ไม่จำเป็นต้องมีคำนั้นอีกต่อไป อยู่แบบเฉยๆ ดูแลสุขภาพให้ดี ใช้ชีวิตแบบปกติสุขก็พอ

แสดงว่าครั้งหนึ่งเฮียเคยรู้สึกว่าตัวเอง “ตัวใหญ่มาก” ใช่ไหม

ตอนเรียนประถม-มัธยมเป็นเด็กเรียนธรรมดามาก ระดับปานกลางตลอด แต่พอไปเรียนที่จุฬาฯ เหมือนโลกเข้ากับเราได้พอดี เรียนดีทุกวิชายกเว้นภาษาอังกฤษที่ห่วยมาก ตอนนั้นเฮียคิดว่าตัวเองเก่งมาก โชคดีที่ตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษแล้วสอบตกเพราะภาษาอังกฤษไม่ดี ทำให้เริ่มรู้จัก selfless (ไร้ตัวตน) แบบเด็กๆ

พอได้ทำงานที่ชอบ ชีวิตก็ลงตัว แต่เฮียไม่ประมาทแล้ว ค่อยๆ เดินหน้าทีละน้อย ยังดีที่เป็นแบบนี้ตอนอายุ 20 กว่า ลองคิดดูว่าถ้าสะสมอีโก้ไปเรื่อยๆ จนระเบิดตอนแก่จะน่ากลัวมาก

เฮียยอมรับว่าเคยอวดรู้ตอนเป็นเด็ก ภูมิใจว่าตัวเองเรียนเก่งที่สุด แม้จะไม่ถึงขั้นเบียดเบียนใคร แต่ท่าทางคงน่าหมั่นไส้ ไม่น่ารัก จนกระทั่งไปเรียนที่อังกฤษแล้วสอบตก เหมือนคางคกที่พองตัวอยากใหญ่เท่าช้างแล้วระเบิด แต่โชคดีที่ได้รู้ตัว

ถ้าแนะนำใครได้ก็อยากให้ดำรงชีวิตตามที่เป็น ถ้าวันหนึ่งระเบิดก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะไม่ใช่คนเดียว แต่ให้เรียนรู้จากมัน แต่ถ้ากลับมาสร้างอีโก้ใหม่รอบ 2 ก็พูดยาก

คนเราต้องใช้ชีวิตหลายแบบ อย่าไปมองว่าผิดปกติ บางคนถ้าไม่มีความมั่นใจเลยก็จะไม่กล้าตัดสินใจ มีข้อเสีย แต่ถ้ามีความมั่นใจกำลังพอดีก็โอเค เพราะเฮียเคยเจอช่วงที่ไม่มีอีโก้เลย เสียความมั่นใจไปหมด คิดแต่ว่าคนอื่นดีกว่าตัวเอง จนมาถึงยุค selfless ที่บางทีคิดมากเกินไปผลงานก็ไม่ได้ดี บางทีไม่คิดอะไรเลยเลย กลับกลายเป็นว่าพอดี พออายุมากก็ถอยกลับมานิดหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผิดก็แค่รีบแก้ไข

ทุกวันนี้สามสิ่งที่ทำให้ตื่นมาทำงานอย่างมีความมั่นใจคืออะไร

3 สิ่งที่ทำให้ตื่นเช้าไปทำงานแล้วรู้สึกมั่นใจมาก

สิ่งแรกคือเรื่องสุขภาพ ถ้าสุขภาพยังไม่ได้แย่ ยังมีพลัง เดินได้ ไม่ป่วยไม่ไข้ นี่ถือว่าโชคดีมากแล้ว

สิ่งที่สองคือความคิดในแง่บวก เฮียมอง positive (แง่บวก) กับสิ่งรอบข้าง แม้จะเจอเรื่องไม่ดีก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ลองคิดดูตอนขับรถหลงทำให้สาย 40 นาที เฮียก็คิดว่า ถ้าเมื่อกี้ไม่หลงทาง อาจโดนรถสิบล้อชนตายไปแล้วก็ได้ (ยิ้ม)

สิ่งที่สามคือ learning mindset (ความคิดที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลา) เฮียคิดว่าไปที่ไหนก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ อย่างวันนี้มาคุยกับไอซ์ (พิธีกร) เจอบั้ม (บรรณาธิการบริหารกรุงเทพธุรกิจ) ก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีก ทำให้รู้สึกสนุก

สุดท้าย เฮียพูดหลายครั้งว่าเพิ่งมาเดบิวต์ตอนอายุ 50 กว่า ดังนั้นเฮียมองคำว่า “จังหวะ” และ “โอกาส” อย่างไรบ้างครับ

โอกาสเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ควบคุมได้คือการเตรียมตัวให้ดีที่สุดในช่วงที่ยังไม่ถึงวันของเรา บางครั้งโอกาสผ่านหน้าเราไป แต่เพราะเตรียมตัวไม่พร้อม โอกาสนั้นก็หลุดมือไป

สิ่งที่ทำได้คือการเรียนรู้สิ่งรอบข้าง ตั้งใจให้ดีที่สุด และบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง บางคนมีความสามารถ แต่ไม่ประณีตในการบริหารความสัมพันธ์ พูดจาไม่ดี ทำให้เสียโอกาสไปเพราะปากไวของตัวเอง

จากประสบการณ์ เฮียเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องมี time prime (จุดพีคของชีวิต) สักครั้ง บางคนเจอตอนอายุน้อยก็โชคดี ถ้าวางรากฐานชีวิตดีก็จะเดินต่อได้ แต่ถ้าบริหารไม่ดี อย่างเช่นพอล แกสคอยน์ อดีตนักเตะที่มีพรสวรรค์แต่บริหารความสามารถไม่ได้ ปล่อยตัวจนไปต่อไม่ได้

บางคนพีคตอนอายุ 30 กว่า ก็มีข้อดีคือมีความสุขุมมากขึ้น แต่พอมันเฟดลงก็ต้องสู้ต่อ ส่วนเฮียก็ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ มาเจอแจ็คพอตตอนอายุ 50 แต่ก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป สิ่งสำคัญคือต้องมีสติระหว่างอยู่ตรงนั้น

เฮียมักเตือนคนที่บ่นว่ายุ่งจนไม่มีเวลากินข้าวว่า "ใจเย็นๆ เดี๋ยวไม่มีใครเห็นคุณค่ากูนี่นะ มึงเตรียมเงินเลี้ยงข้าวกูเลย" หรือคนที่บอกว่า "คุณวิทย์ไม่มีเวลาเลย" เฮียก็จะบอกว่าวันหนึ่งที่เฮียเฟดแล้ว แล้วเห็นข้างถนนก็ให้ทักด้วย อย่าลืมกัน เพราะมนุษย์ทุกคนจะมีโอกาสแบบนี้ ต้องบริหารจัดการให้ดี (ยิ้ม)

 

 

ที่มาข้อมูลเนื้อหาจาก  https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1167772

 

 


ตำรา