ห้องเม่าปีกเหล็ก

'การบินไทย' งัดแผน 2

โดย dave
เผยแพร่ :
109 views

'การบินไทย' งัดแผน 2 เอ็มอาร์โอ 'แอร์บัส' เมินร่วมทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา

โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เป็นโครงการสำคัญในอีอีซี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ผ่านการเจรจาระหว่างแอร์บัสและการบินไทยมากว่า 2 ปี และท้ายที่สุดแอร์บัสไม่ยื่นร่วมลงทุน

เชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา การบินไทยได้เปิดให้เอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอร่วมทุนในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งเป็นการรับข้อเสนอจาก บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) เพียงรายเดียว เนื่องจากก่อนหน้านี้การบินไทยได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีพิเศษ ผลการคัดเลือกพบว่าแอร์บัส เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่กำหนดไว้เพียงรายเดียว

การเปิดรับข้อเสนอในครั้งนี้ ถูกขยายมาจากกำหนดเดิมที่เปิดรับข้อเสนอในวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา และปรากฏว่าทางแอร์บัสไม่สามารถมายื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากติดปัญหาความพร้อมของเอกสารข้อเสนอ โดยการเปิดรับข้อเสนอในครั้งนี้ ผลปรากฏว่าทางแอร์บัส ไม่ได้ยื่นข้อเสนอเช่นเดิม ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากปัญหาความไม่พร้อมในการร่วมทุน เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ด้วย

“เมื่อเราขยายวันมาเปิดรับข้อเสนอครั้งนี้ สรุปว่าทางแอร์บัสก็ไม่มายื่นข้อเสนออีก เพราะไม่พร้อม คงจะติดปัญหาโควิดด้วย สถานการณ์การลงทุนมันเปลี่ยนไป เราคงต้องกลับไปตั้งหลักใหม่ แต่การบินไทยยืนยันว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจัดอยู่ในแผนฟื้นฟูองค์กร หารายได้ด้วย”

การบินไทยจะต้องเร่งสรุปข้อมูลการประมูลในครั้งนี้เพื่อรายงานต่อณะกรรมการการบินไทย ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยการประมูลด้วยวิธีพิเศษครั้งนี้ก็จะต้องยกเลิกออกไป เพราะแอร์บัสไม่สามารถเข้าร่วมได้ ส่วนรูปแบบการประมูลในครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร จะต้องเร่งศึกษาให้เหมาะสม และต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนที่คาดว่ามีความเป็นไปได้ อาทิ จัดหาเอกชนรายใหม่เข้าร่วมลงทุน หรือการบินไทยเป็นผู้ลงทุนเองก่อน และค่อยทยอยหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน เนื่องจากเป้าหมายในการเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ทางรัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดเปิดให้บริการในปี 2565–2566

“ขั้นตอนดำเนินการตอนนี้ ฝั่งการบินไทยเรารอเสนอแนวทางเปิดประมูลรูปแบบใหม่ให้บอร์ดพิจารณา เรายังอยากเป็นเจ้าของโครงการอยู่ เพราะเป็นเป้าหมายธุรกิจที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูองค์กรด้วย ส่วนรูปแบบลงทุนจะเป็นแบบไหนถึงจะเหมาะสมต้องมาศึกษา และเรื่องการประมูลต้องแล้วเสร็จอย่างไร ตอนนี้ก็ยังคงใช้เป้าหมายที่อีอีซีกำหนดไว้”

รายงานข่าวจาก สกพอ. ระบุว่า การบินไทยและแอร์บัส หารือรายละเอียดของการร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภามาประมาณ 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ติดปัญหาการเจรจาในเรื่องของข้อกฎหมายร่วมทุน ที่ทางแอร์บัสมองว่าไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาในส่วนของเฟส 1 นี้ เป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้การบินไทยร่วมทุนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเปิดศูนย์ซ่อมเฟส 2 เพื่อเปิดให้เอกชนรายอื่นร่วมทุน

ดังนั้นขณะนี้การบินไทยก็ยังต้องรับหน้าที่ในการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานดังกล่าว อีกทั้งหากการบินไทยปฏิเสธการลงทุนส่วนนี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากการบินไทยจะต้องคืนพื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ให้กับกองทัพเรือ (ทร.) เพราะตามแผนพัฒนาของอีอีซี พื้นที่ศูนย์ซ่อมของการบินไทยในปัจจุบัน จะถูกนำไปพัฒนาเมืองการบิน

ปัจจุบันกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ยังได้รับงบประมาณจากรัฐบาลราว 6,333 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบันพบว่า กองทัพเรือได้เริ่มงานบางส่วนแล้ว อาทิ งานก่อสร้างปปรับถมที่ดิน สำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน และงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

โดยรายละเอียดของงานก่อสร้างปรับถมที่ดิน (ถมดิน) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ปัจจุบัน ทร.ได้ออกประกาศประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีราคากลางของงานก่อสร้างดังกล่าวเป็นเงินประมาณ 353 ล้านบาท และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 3 เม.ย.นี้

ขณะที่การจ้างก่อสร้างงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กองทัพเรือได้ดำเนินการวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลางของงานก่อสร้างดังกล่าวอยู่ที่ราว 1,182 ล้านบาท โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 7 เม.ย.นี้

ส่วนขอบเขตการรับผิดชอบโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงซ่อมอากาศยาน ตลอดจนโรงพ่นสี และอื่นๆ 

ในส่วนของการบินไทย และเอกชนที่จะเข้ามาร่วมทุนนั้น มีหน้าที่เพียงการลงทุนจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมซ่อมอากาศยาน โดยหลังจากเข้าบริหารจัดการแล้ว การบินไทยและเอกชนผู้ร่วมทุน จะต้องทยอยจ่ายเงินชดเชยค่าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคืนแก่ภาครัฐ

สำหรับปัญหาตอนนี้คือกองทัพเรือ รับหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอ็มอาร์โอ ซึ่งเป็นแบบที่การบินไทยและแอร์บัสออกแบบร่วมกันไว้ ดังนั้นหากกองทัพเรือดำเนินการก่อสร้างต่อ ก็เกรงว่าจะไม่ตอบสนองการใช้งานของเอกชนที่จะเข้ามาร่วมทุนใหม่ ดังนั้นส่วนนี้คงต้องรอความชัดเจนจากการบินไทยด้วย

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


dave