เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกในปีหน้า | สรุปและวิเคราะห์ by BeautyInvestor

ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.6% ในปี 2023 เป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980
ในแถลงการณ์เมื่อวันพุธหลังการประชุม 2 วันในกรุงวอชิงตัน คณะกรรมการ FOMC (Federal Open Market Committee) ย้ำว่า “ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก” นอกจากนี้เฟดยังย้ำอีกด้วยว่า "คาดว่าการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยจะมีความเหมาะสม" และ "มุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับไปอยู่ตามเป้าหมายที่ 2%"
โดยการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเป็นเอกฉันท์ ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นเป็น 3-3.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตการเงินในปี 2008 และเพิ่มขึ้นจากระดับเกือบ 0% เมื่อต้นปีนี้
นอกจากนี้เองเจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ภายในสิ้นปีและ 4.6% ในช่วงปี 2023 จาก Dot Plot ที่ปล่อยออกมาล่าสุด ซึ่งนั่นเป็นการบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งที่ 4 มีโอกาสเกิดขึ้นในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง mid-term ขณะที่ในปี 2024 อัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ว่าจะลดลงมาอยู่ 3.9% และในปี 2025 ที่ 2.9%
โดยการคาดการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเส้นทางของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าที่ตัวเลขที่เฟดคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ตอกย้ำถึงแนวทางการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของเฟด แม้ว่าความเสี่ยงที่ต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นอาจทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ก็ตาม ทั้งนี้ก่อนการประกาศผลการประชุม ตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4.5% ในต้นปี 2023 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงประมาณ 0.5% ภายในช่วงสิ้นปี
นอกจากนี้การคาดการณ์ที่ปล่อยออกมาใหม่ยังแสดงให้เห็นถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ภายในสิ้นปีหน้า และคงที่ ณ สิ้นปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 3.9% และ 4.1% ตามลำดับจากการคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 1.2% ในปี 2023 และ 1.7% ในปี 2024 สะท้อนถึงผลกระทบที่มากขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯได้พุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน แต่ล้มเหลวในการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาตามที่เฟดคาดหวัง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 8.3% ขณะที่การเติบโตของตำแหน่งงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานที่ 3.7% ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่มองว่าเป็นระดับที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยการที่ตลาดแรงงานยังไม่อ่อนตัวลงได้เพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น
นอกจากนี้ระหว่างการแถลง คุณพาวเวลล์กล่าวว่าข้อความหลักของเขาคือ เจ้าหน้าที่เฟด "มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่ง" ที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมาย 2% และเสริมอีกว่า "เราจะทำไปเรื่อยๆจนกว่างานจะเสร็จสิ้น” ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อดีตประธานเฟดอย่างคุณ Paul Volcker เคยกล่าวไว้
หลังการแถลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4% ขณะที่หุ้นสหรัฐฯฟื้นตัวจากการติดลบในช่วงแรกของการซื้อขาย ก่อนจะปรับตัวลงอีก 1 รอบหลังแถลงเสร็จสิ้น
ความเห็นส่วนตัว + สิ่งที่ได้ฟังจากการตอบคำถามของคุณพาวเวลล์
1. เฟดมีท่าที่ hawkish มากกว่าเดือนก่อนหน้า และมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ด้วย โดยเฉพาะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า (ส่วนของในปีนี้ยังไม่ผิดคาดมากนัก)
2. พาวเวลล์ไม่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะเกิด recession (ตัวเลขคาดการณ์ GDP ของปีนี้ลดลงเหลือแค่ 0.2%) โดยบอกอ้อมๆแค่เพียงว่าเป้าหมายหลักของเฟดคือการคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% และถ้าทำไม่สำเร็จ ผลที่ตามมาจะเจ็บปวดรุนแรงมากกว่าการเกิด recession แน่นอน >> สะท้อนว่า recession จะเกิดก็ต้องต้องเกิด ถ้าสามารถช่วยให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ 2% ได้
3. การที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ย 1% ในรอบนี้ เพราะว่า เฟดไม่ได้ตัดสินใจจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแค่เดือนเดียว (อันนี้หมายถึงเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมที่ออกมาสูงขึ้น) แต่เฟดจะดูข้อมูลและแนวโน้มประกอบกัน (แกบอกว่าเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมยังปรับตัวลงมากกว่าคาดอยู่เลย)
4. Dot Plot ที่ปล่อยออกมาใหม่ ไม่ใช่เป็นแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนะ เพราะเฟดยังคงตัดสินใจเป็นแบบเดือนต่อเดือนต่อไป และทุกการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามาระหว่างการประชุมแต่ละรอบ
5. เศรษฐกิจชะลอตัวลงแล้วในหลายกลุ่ม แสดงว่านโยบายการเงินตึงตัวได้ผล แต่ว่าตลาดแรงงานยังคงตึงตัวอยู่ ซึ่งเฟดจะต้องพยายามทำให้ตลาดแรงงานอ่อนแอลงให้ได้
6. มีคนถามว่าธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ย แล้วจะเกิด global recession ไหม >> คุณพาวเวลล์เลี่ยงตอบคำถาม แต่บอกว่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางใหญ่ติดต่อ พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองกันอยู่เสมอ แต่เฟดเองก็พยายามคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน แต่ทุกประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อในแบบของตัวเอง และเฟดเองจะสนใจปัญหาของสหรัฐฯเป็นหลัก
7. พาวเวลล์บอกว่าเฟดต้องควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ และภาวนาอยากให้มีวิธีที่ไม่ทำให้ใครเจ็บปวด แต่ว่ามันไม่มี >> อันนี้ตอบคำถามว่าเฟดตั้งใจจะให้มีคนตกงานมากขึ้นเป็นล้านคนนะซิ
ดังนั้นแล้ว นิคกี้มองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ เราน่าจะได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และอีก 0.50% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดรับข่าวไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นตลาดไม่น่าจะมีแรงเทขายรุนแรงเข้ามาเพิ่มเติม แต่ด้วยแนวโน้มที่เฟดยังเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อทำให้ตลาดจะยังคงผันผวนต่อไปจนถึงต้นปีหน้าเลย นอกจากนี้นิคกี้มองว่า recession มาแน่ๆ เร็วสุดก็ไตรมาส 4/22 นี้เลย ช้าสุดก็ไม่น่าเกินสิ้นปีหน้า (Dot Plot เองก็บอกกลายๆว่าจะเกิด recession เพราะดอกเบี้ยสิ้นปี 2024 ต่ำกว่าปี 2023 ถึง 0.80% หรือเท่ากับการลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง)
สำหรับคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถไปฟังนิคกี้ได้ในคลิปนะค้า เดี๋ยวแปะลิงค์ไว้ให้ด้านล่าง แม้ว่าจะทำมาก่อนผลประชุมรอบนี้จะเกิดขึ้น แต่ยังสามารถใช้ได้อยู่คะเนื่องจากผลการประชุมออกมาตามที่นิคกี้คาดไว้นั่นเองคะ
เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง เฟดขึ้นดอกเบี้ย 1% ถือต่อหรือขายทิ้งดี? | Special Episode By BeautyInvestor
Source: Bloomberg