ห้องเม่าปีกเหล็ก

TTB เปิดกลยุทธ์ฝ่าความท้าทาย

โดย คุณนายตื่นสาย
เผยแพร่ :
249 views

TTB เปิดกลยุทธ์ฝ่าความท้าทาย

ลุยสินเชื่อบ้าน-รถยนต์ หลังให้ดอกเบี้ยสูง

หนุนยอดสินเชื่อปี 66 โตตามเป้า 3%

 

.

TTB ย้ำเป้าสินเชื่อปี 2566 เติบโต 3% เน้นกลุ่มสินเชื่อบ้าน-รถยนต์ ที่ให้ดอกเบี้ยสูง พร้อมรักษาเงินฝากในระดับสูง สร้างความเชื่อมั่น พร้อมรับมือความเสี่ยง เผยลูกหนี้ชำระหนี้ดีขึ้น หนุนแนวโน้ม NPL ปรับตัวดีขึ้น

.

นางสาวดารารัตน์ อุระพันธมาศ หัวหน้านักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ปี 2566 ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 3% โดยเน้นไปยังสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งธนาคารมีความเชี่ยวชาญและเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง

.

“การเติบโตของสินเชื่อในระดับ 3% เป็นตัวเลขที่ท้าทายสำหรับธนาคาร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ไปออกหุ้นกู้เพื่อคุมต้นทุนทางการเงินมากขึ้น ทำให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หดตัวลง โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันหุ้นกู้เติบโตไปแล้วกว่า 10% ทำให้ภาพรวมของสินเชื่อในอุตสาหกรรมค่อนข้างเหนื่อย ดังนั้นเป้าหมายสินเชื่อของธนาคารจึงไม่ได้เป็นระดับที่น้อยจนเกินไป”

.

สำหรับเงินฝากที่ธนาคารตั้งเป้าหมายจะเติบโตในระดับที่สอดคล้องกับสินเชื่อนั้น ในไตรมาส 1/66 มีการเติบโตเล็กน้อยราว 0.2% ซึ่งธนาคารมีความตั้งใจจะรักษาระดับเงินฝากให้สูงกว่าความจำเป็นเล็กน้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

.

ทั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโครงสร้างเงินฝากอย่างมาก ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 3.08% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเป้าหมายปี 2566 ที่วางไว้ที่ 3 – 3.1%

.

ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ ลูกหนี้ stage 3 ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้ต่ำกว่า 2.9% และภายหลังการเปิดประเทศ ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การตั้งสำรองในปี 2566 มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน

.

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารยังต้องติดตามและเฝ้าระมัดระวังปัจจัยลบจากภายนอก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย

 

 


คุณนายตื่นสาย