เจาะประเด็น สกุลเงินเอเชีย ร่วงหนัก สาเหตุที่เลี่ยงไม่ได้ ทางออกยากจะตัดสินใจ

ร่วมเจาะลึกประเด็น สกุลเงินเอเชีย อ่อนค่าหนัก โดยกระทบทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงเงินบาทและเงินเยน จนหลายประเทศอาจแทรกแซงตลาด แต่คุ้มความเสี่ยงหรือไม่
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ตลาดสกุลเงินของเอเชียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 23 แห่ง ประสบกับความผันผวนรุนแรงอย่างถ้วนหน้า โดยบรรดาธนาคารกลางและกระทรวงการคลังตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงญี่ปุ่น ต่างพยายามหางทางรับมือกับค่าเงินของตนที่ร่วงลงอย่างหนัก โดยเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันใหม่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี เงินรูเปียห์อินโดนีเซียร่วงหนักสุดในรอบ 4 ปี
นอกจากนี้แล้ว เงินริงกิตมาเลเซีย เงินรูปีอินเดีย ต่างอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ใกล้กับระดับเดียวกับช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย (Asian Financial Crisis) หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2540 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว
จากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2567) อันดับ สกุลเงินเอเชียที่อ่อนค่าลงมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
1. รูเปียห์ – อินโดนีเซีย
2. เปโซ – ฟิลิปปินส์
3. เยน – ญี่ปุ่น
4. ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ – ไต้หวัน
5. บาท – ไทย
6. วอน – เกาหลีใต้
7. ริงกิต – มาเลเซีย
8. รูปี – อินเดีย
9. ดอลลาร์สิงคโปร์ – สิงคโปร์
10. หยวน – จีน
ในวันนี้เราจะพาเจาะลึกไปถึงสาเหตุของการผันผวนอย่างหนักของตลาดสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์อันท้าทายที่ยากจะก้าวผ่านไปได้
อิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ไปจนถึงปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศของแต่ละประเทศ นั่นเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นของการอ่อนค่าของสกุลเงินในเอเชีย โดยสาเหตุหลักที่แท้จริงคือ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินลอยตัวแบบเสรีที่ทำหน้าที่เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก และเป็นมาตรฐานของการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ยิ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากเท่าใด สกุลเงินอื่น ๆ ก็ยิ่งอ่อนค่าลงมากเท่านั้น โดยสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงนี้อาจนำไปสู่การที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เข้าแทรกแซงตลาดเงินโดยตรงเพื่อพยุงค่าเงินไม่ให้ร่วงหนักไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เงินเยนร่วงลงใกล้แตะระดับ 155 เยน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
อะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการ “พุ่งขึ้น” ของดอลลาร์
เหตุผลหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ความแตกต่างแบบอเมริกัน (American Exceptionalism) ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มทั่วโลก กล่าวคือเศรษฐกิจสหรัฐมีประสิทธิภาพเหนือประเทศอื่น ๆ แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะมีการเติบโตในระดับปานกลาง แต่ข้อมูลของสหรัฐมักจะเหนือความคาดหมายและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ตัวเลขการจ้างงาน ยอดค้าปลีก และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะช่วยทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าสูงขึ้น
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานคือปัจจัยขับเคลื่อนหลักในมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุดไว้ที่ 5.5% ซึ่งหมายความว่านักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการถือครองสกุลเงินอื่ และข้อมูลการติดตามสกุลเงินของ Bloomberg Dollar Spot Index พบว่าดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 12 สกุลเงิน
เพราะเหตุใด “สกุลเงินเอเชีย” ถึงเปราะบางและตกอยู่ในความเสี่ยง
สกุลเงินเอเชียเผชิญกับการสูญเสียมูลค่าอย่างหนักในปี 2567 ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะดอกเบี้ยของธนาคารกลางในภูมิภาคนั้นต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ 2.5% ซึ่งเป็นช่องว่างที่มากสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ก็ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดเช่นกัน
ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ธนาคารกลางในเอเชียมีนโยบายที่ผ่อนปรนมากกว่า เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายพิเศษ หรือนโยบายดอกเบี้ยติดลบมายาวนาน และธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งดำเนินนโยบายผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบาก รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้เงินหยวนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบไปยังสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินดอลลาร์ไต้หวันใหม่ ซึ่งเป็นสองชาติที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับจีน
ทางเลือกที่จำกัดของธนาคารกลางเอเชีย
การคาดการณ์ในวงกว้างว่าสหรัฐจะตรึงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางในเอเชียไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ เนื่องจากกังวลว่าจะยิ่งทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อพยายามประคองค่าเงินของตน เช่น จีนปรับการกำหนดอัตราค่ากลางเงินหยวนทุกวัน และกำหนดให้เงินหยวนปรับขึ้นหรือลงได้ไม่เกิน 2% จากอัตราค่ากลางของการซื้อขายในแต่ละวัน และธนาคารต่าง ๆ ของรัฐได้ขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อหนุนค่าเงินหยวน
ด้าน ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อรูเปียห์ ในขณะที่ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) สนับสนุนให้บริษัทรัฐวิสาหกิจนำรายได้จากการลงทุนจากต่างประเทศกลับเข้าประเทศและแปลงเป็นเงินริงกิต เป็นต้น
การแทรกแซงตลาดเงิน : การเดินเกมที่เสี่ยง
นอกเหนือจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ แล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถรักษาค่าเงินเอาไว้ได้ นั่นคือการแทรกแซงตลาดเงินโดยธนาคารกลางเพื่อให้เงินแข็งค่าขึ้น แต่นั่นคือการเดินหมากที่ต้องระมัดระวัง โดยธนาคารกลางรายใหญ่หลายแห่งเลือกที่จะระงับอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนอย่างจริงจัง ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางเหล่านี้จะสามารถขายสกุลเงินของตนได้ไม่จำกัดจำนวนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่กลยุทธ์นี้อาจไม่ยั่งยืน เพราะหากทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็วเกินไป อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว และอาจขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินในประเทศ โดย ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งมีศักยภาพและมีทรัพยากรมากเพียงที่จะสนับสนุนเงินเยนไม่ให้อ่อนค่าได้ ก็เข้าแทรกแซงตลาดเงินเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ในปี 2565
ความเสี่ยงอีกประการคือ การแทรกแซงอาจฝังแน่นอยู่ในระบบ โดยผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอาจถูกกดดันจากนักการเมืองและกลุ่มผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลดค่าเงินในประเทศ ซึ่งในกรณีจะกลายเป็นว่าอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการอ่อนค่าของสกุลเงิน แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมหรือการปรับปรุง หรือพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยการพึ่งพาการปรับเปลี่ยนสกุลเงินอาจทำให้เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเพื่อการเติบโตมากเกินไป แทนที่จะมุ่งเน้นพัฒนาอุปสงค์ภายในประเทศให้แข็งแกร่ง
อีกทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ : ปล่อยไหลตามกระแส
ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ท้ายที่สุดหลายประเทศอาจจะต้องจับตาดูต่อไปและค่อย ๆ ประคับประคองโดยไม่ดำเนินการใด ๆ มากนัก ดังเช่นข้อเสนอแนะของนายกฤษณะ ศรีนิวาสาน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งสนับสนุนให้ธนาคารกลางเอเชียแก้ปัญหาที่ปัจจัยพื้นฐาน และปล่อยให้สกุลเงินทำหน้าที่เป็น Shock Absorber หรือตัวรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นายศรีนิวาสานเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียเพิ่มขึ้นไม่มาก และก็ลดลงเร็ว ดังนั้นธนาคารกลางในเอเชียจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เข้มงวดแบบธนาคารกลางในภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะเฟด ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางเอเชียไม่ควรปรับนโยบายของตนแบบเชิงรุกหรือเข้มงวดเหมือนกับเฟด นอกจากนี้แล้ว สถานการณ์ในเอเชียในขณะนี้นับว่ายังโชคดีเมื่อเทียบกับวิกฤตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้นจึงสามารถปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเคลื่อนไหวต่อไป และมุ่งเน้นนโยบายไปที่การจัดการด้านแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศแทน
อ้างอิง : finance.yahoo.com, bloomberg.com, asia.nikkei.com, ft.com, theasset.com