เสื้อผ้าไทยในพายุ: ปรับตัวอย่างไร ให้เรือไม่อับปาง?
อดีตดาวจรัสแสง
เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอเคยเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทย
ด้วยห่วงโซ่อุปทานครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ตั้งแต่การผลิตเส้นใย ปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ผลิต (OEM) ให้แบรนด์ระดับโลก สร้างงานและรายได้จำนวนมหาศาล
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว เรายังพายเรือแบบเดิมอยู่หรือเปล่า?

มรสุมระลอกที่ 1: การแข่งขันรุนแรง
เมื่อ e-commerce ทำให้โลกแคบลง
แต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมกลับแคบยิ่งกว่า
สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าไทย
ไทยสู้ราคาไม่ไหว โรงงานย้ายฐานไปเวียดนาม
ไทยยังติดกับดักการผลิตแบบเดิมไม่ทัน fast fashion ที่มาไวไปไว
ปี 2016–24 ดัชนีผลผลิตหดตัวเฉลี่ย -8% ต่อปี
อัตราการใช้กำลังผลิต ลดลงจาก 65% ในปี 2016 เหลือ 43% ในปี 2024
สัดส่วนการส่งออกลดลงจาก 4.5% ในปี 2000 เหลือ 0.6% ในปี 2024
ขณะการนำเข้าเพิ่มขึ้น 127% จากปี 2014 — จ่อพลิกเป็นขาดดุลถาวร
มรสุมระลอกที่ 2: ตลาดหลักหันหลังให้
40% ของเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทยส่งออกไปสหรัฐฯ
ตลาดหลักที่วันนี้กลับกลายเป็น “ความเสี่ยงอันดับต้น”
อัตราภาษี Reciprocal Tariff อาจพุ่งสูงถึง 37%
แม้ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงผ่อนปรน แต่สัญญาณชัดว่า “จะไม่เหมือนเดิม”
คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามยิ่งได้เปรียบ
เพราะมี FTA กับสหรัฐฯ และมีภาพลักษณ์ทางการเมืองที่สหรัฐฯ ไว้ใจมากกว่า
ไทยกำลังกลายเป็นประเทศที่ “แพ้ทั้งราคาและภาษี”
มรสุมระลอกที่ 3: ยักษ์แดงทุ่มตลาด
กว่า 50% ของเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไทยนำเข้า มาจาก “จีน”
คู่แข่งรายใหญ่ที่วันนี้ถูกสหรัฐฯ สกัดด้วยภาษีสูงลิ่ว
ผลคือสินค้าเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลจากจีนมีแนวโน้ม “ไหลทะลัก” เข้าสู่ไทย
โดยเฉพาะสินค้าที่ราคาต่อหน่วยคือหัวใจหลักของการแข่งขัน
คลื่นลูกนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี เพราะไม่ได้กระทบแค่ผู้ประกอบการไทย 1.2 แสนราย
แต่ยังเสี่ยงทำให้ไทยกลายเป็น “ทางผ่าน” ของสินค้าจีน
ถ้าไทยไม่ระวัง อาจเจอมาตรการกีดกันทางการค้าที่แรงขึ้นจากสหรัฐฯ
ที่มองว่าประเทศไทย “รับช่วง” สินค้าจากจีนโดยไม่ควบคุม
ทางรอดของไทย…อาจยาก แต่ทำได้
ถ้าสู้เรื่อง “ถูก” ไม่ได้...
ก็ต้องสู้ด้วย “ความแตกต่าง” และ “น่าจดจำ”
ไทยต้องกล้าปรับจาก OEM → ODM → OBM
นั่นคือ... จากแค่ “ผลิตตามสั่ง” สู่ “ออกแบบให้”
จบด้วยกลายเป็น “เจ้าของแบรนด์” เอง
ใช้จุดแข็งเรื่องคุณภาพและดีไซน์
เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ ขายตรงสู่ผู้บริโภค
และแปรรูปห่วงโซ่ให้กลายเป็นจุดขาย
ภาคเอกชนต้องหันกลับมา “คิดใหม่ ทำใหม่”
การอยู่รอดครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
แต่เป็นเรื่องของแรงงานกว่า 4 แสนคนที่อยู่ในเรือลำนี้ด้วยกัน
Fast Fashion = Slow Death
เบื้องหลังเสื้อผ้าราคาถูกที่เปลี่ยนทุกสัปดาห์ คือห่วงโซ่การผลิตที่ใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น
เสื้อ 1 ตัวใช้ “น้ำ” ถึง 2,700 ลิตร
(Hoekstra, A.Y., & Chapagain, A.K. (2007). Water footprints of nations: Water use by people as a function of their consumption pattern. Water Resources Management, 21(1), 35–48.)
ใช้สารเคมีมากกว่า 8,000 ชนิด
(Greenpeace (2012). Toxic Threads: The Big Fashion Stitch-Up. Greenpeace International.)
แต่กว่า 60% ของเสื้อผ้าเหล่านี้ จะถูกทิ้งภายใน 1 ปี
(Ellen MacArthur Foundation (2017). A New Textiles Economy: Redesigning Fashion’s Future.)
Fast fashion ไม่เพียงแค่ทำลายผู้ผลิตที่ช้ากว่า
แต่ยังทำลายโลกที่ไม่มีเวลาฟื้นตัว
และทำลายคุณค่าของ “แรงงาน” ที่อยู่เบื้องหลัง
.
เรื่องและภาพ: สราลี วงษ์เงิน Economist, Bnomics
════════════════
ที่มาข้อมูลเนื้อหาจาก.. Bnomics by Bangkok Bank