บทบรรณาธิการ : ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
.
ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ดูเหมือนจะทำให้หลายต่อหลายคนโล่งอกไม่น้อย
.
แม้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดกันว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นทีเดียว 0.5% ซึ่งน่าจะเกิดแรงกระเพื่อมในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทันที โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะนั่นถือต้นทุนการเงินที่จะเพิ่มขึ้นของประชาชน
.
แต่อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นความจำเป็นที่ ธปท. ต้องดำเนินการเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากราคาน้ำมัน ราคาสินค้า อุปโภค บริโภค รวมทั้งอาหารสดต่างๆ ตลอดจนส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศ กับต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ถ่างออกมาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อเงินไหลออก และกระทบต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งถ้าไม่ขึ้นก็คงไม่ได้เช่นกัน
.
ซึ่ง กนง. ก็ให้เหตุผลชัดเจนแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป แต่เงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง
.
อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 66 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย
.
ดังนั้นการประชุม กนง. ครั้งหน้าวันที่ 28 ก.ย. นี้ ก็ยังมีความเป็นไปได้สูง ที่ กนง. จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในรอบนี้ ยืนยันว่าจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระชากแรงจนทำให้ตลาดการเงิน หรือต้นทุนการเงินของประชาชนกระทบมากนัก
.
เช่นเดียวกับ ประธานสมาคมธนาคารไทย ผยง ศรีวาณิช ก็ออกมารับลูกชัดเจน โดยระบุว่า สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารสมาชิก พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการ ธปท. ที่ให้แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติในรูปแบบ Smooth Takeoff โดยนโยบายดอกเบี้ยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการดูแลลูกค้ารายย่อย และ SME โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ
.
โดยตัวเลขล่าสุดของการช่วยเหลือลูกหนี้ของสมาคมฯ และธนาคารสมาชิก ตั้งแต่เกิดโควิดมานั้น ในเดือนก.ค. 63 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท แต่หลังสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ณ เดือนพ.ค. 65 ลูกค้าภายใต้มาตรการลดลงเหลือ 1.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท และมีการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SME ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) จำนวน 3.2 แสนล้านบาท ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
.
ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบไม่สูงขึ้นมาก และคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน
.
เห็นแบบนี้แล้ว อย่างน้อยก็พอจะเบาใจได้ว่า ทั้งธปท. และธนาคารพาณิชย์ ยังคงพร้อมจะช่วยเหลือลูกหนี้ และค่อยๆ ใช้นโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เราๆ ท่านๆ ที่ต้องมีภาระเงินกู้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และสาระพัดเงินผ่อนอีกหลายอย่าง ก็คงจะต้องทำใจด้วยว่า ความเคยชินกับอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ก็จะลดน้อย ถอยลงไป แต่มองอีกมุมหนึ่ง แม้จะขึ้นดอกเบี้ย ก็ยังคงเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในระดับต่ำอยู่
.
***********************************