อินเวสทรี เผย 3 กำแพงธุรกิจคราวด์ฟันดิง
นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันความท้าทายหลักของธุรกิจคราวด์ฟันดิงคือเรื่องของ “ความไว้วางใจ” เพราะการระดมทุนรูปแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ของคนในประเทศ แม้ว่าภาครัฐจะมีการออกใบอนุญาตผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงออกมาก็ตาม โดยในมาเลเซียนั้นภาครัฐโดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ โดยนำเงินมาลงทุนผ่านสินเชื่อและหุ้นกู้ที่ออกโดยแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความไว้วางใจได้อย่างมาก
“ภาครัฐมีบทบาทเป็นทั้ง Protector, Creator และ Destroyer เพราะแพลตฟอร์มฟินเทคทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และอาจตายได้ถ้าถูกกำกับเข้มงวดเกินไป”
สำหรับโอกาสของธุรกิจคราวด์ฟันดิงนั้นถือว่ามีสูงมาก ในหลายประเทศแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงมีความเฟื่องฟูมาก เพราะมีธุรกิจจำนวนมากต้องการเงินทุน และนักลงทุนก็ให้ความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในประเทศไทยนั้นตั้งแต่มีการออกใบอนุญาตคราวด์ฟันดิง ก็เกิดการระดมทุนไปแล้ว 2.7 พันล้านบาท ขณะที่ International Finance Corporate (IFC) : บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ประเมินว่าประเทศไทยยังมี Finance Gap ในเรื่องนี้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจคราวด์ฟันดิง ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล
“ตัวเลข 2.7 พันล้านบาทเป็นเพียงเศษเสี้ยวมากๆ จากความต้องการเข้าถึงเงินทุนของ SME ที่มีกว่า 1.5 ล้านๆบาท”
นางสาวณัทสุดา กล่าวต่อว่า ข้อมูลจาก IFC ที่ออกมาตอนปี 2017 มีคำแนะนำว่า หากต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเกิดนวัตกรรมทางการเงินมากขึ้น ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร โดยแบ่งหัวข้อที่น่าสนใจได้ 3 เรื่องคือ
- ส่งเสริมให้มีการทำเครดิตบูโร และแชร์ข้อมูลมากขึ้น โดยประเทศไทยนั้นมีการพัฒนาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น มีการทำฐานข้อมูลเครดิตบูโรสำหรับภาคเอกชนโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการฟินเทคสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลนี้ และนำมาประกอบการปล่อยสินเชื่อได้
ขณะที่ประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลเครดิตบูโร และจะอนุญาตให้แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง และ P2P Lending เป็นสมาชิกได้ แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นกำแพงอย่างมากก็คือ การกำหนดว่าแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง และ P2P Lending ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก จะต้องมีทุนจดทะเบียนถึง 50 ล้านบาท
“การกำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนถึง 50 ล้านบาท เป็นอุปสรรคอย่างมาก เหมือนการเปิดประตูให้แล้วต้องเจอกำแพงใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป และไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบัน การสร้าง API หรือทำระบบต่างๆไม่ได้ใช้เงินทุนสูง นี่เป็นประเด็นที่เราหารือกับ ก.ล.ต. แล้ว และกำลังจะหารือกับทางบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติต่อ เพราะการมีฐานข้อมูลเครดิตที่ครบถ้วนนั้น ช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ได้พิสูจน์มาแล้ว ทั้งในอเมริกา ยุโรป อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งฐานข้อมูลตรงนี้ควรที่จะเปิดกว้าง ไม่ควรมีอุปสรรคในการที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต”
- ส่งเสริมให้มีการทำFactoring Leasing มากขึ้น โดยในประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลกลาง และเชิญชวนให้ธนาคารและนอนแบงก์ ที่ทำ Factoring Leasing คีย์ข้อมูลลงไปในฐานข้อมูลกลาง เพื่อลดปัญหา Double Invoicing ที่ SME นำ Invoice ใบเดียวไปยื่นกู้หลายๆ ที่ ซึ่งแบงก์ชาติได้สร้างระบบฐานข้อมูลกลาง คือ Central Web Service (CWS) ซึ่งเวลาที่ Investree ทำ Supply Chain Financing จะคีย์ข้อมูลลงไปในระบบ เพื่อให้สมาชิกอื่นๆทราบ
อย่างไรก็ตาม แม้ระบบ CWS จะมีคอนเซ็ปท์ที่ดี แต่ในเชิงปฏิบัติยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะธนาคารมีฐานข้อมูลของตัวเองภายใต้ ITMX อยู่แล้ว ซึ่งจะมีประเด็นปัญหาอีก เพราะเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใน ITMX ได้ ภาพของการเป็น Open Infrastructure ก็อาจไม่เกิดขึ้น
- ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนมือของหลักทรัพย์ค้ำประกัน รายงานของIFC ชี้ว่า หลักทรัพย์ค้ำประกันควรมีการเปลี่ยนมือได้ง่าย ซึ่งในมุมของแพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงนั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถรับการค้ำประกันจากกรรมการได้ เพราะตอนที่ออกใบอนุญาตคราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์มมานั้น ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิงสามารถเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้
นางสาวณัทสุดา กล่าวว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นกำแพงของธุรกิจคราวด์ฟันดิง แม้ว่าประเทศไทยจะเดินหน้ามาระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ายังมี SME อีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และประเทศไทยยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก