ห้องเม่าปีกเหล็ก

STA ++

โดย French Toast
เผยแพร่ :
56 views

ผิดคาดกับผลประกอบการของ STA ที่ขาดทุน ผมเองก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปริมาณการขายเพิ่มมากขึ้น

แต่ที่น่าเสียใจ คือ ทำไมบริษัทถึงขาดทุนจากตราสารนุพันธ์ ... ?

ยังไงก็ตาม การขาดทุนครั้งนี้เป็นการขาดทุนที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเป็นเหตุการณ์พิเศษ ปี 60 (อาจจะ) ไม่เกิดขึ้นอีก

ยังไงก็ตาม ผมยังคงถืออยู่ และจะซื้อเพิ่มด้วยถ้ามันลงแรงๆ แต่คงไม่ใช่ราคานี้

 

เอาบทวิเคราะห์มาฝากเพื่อนๆในนี้

2 มีนาคม 2560 -- Stock Infocus : STA : บล.ทรีนีตี้

ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี – STA
ซื้อ
ราคาเป้าหมาย    33.30 บาท
Upside/Downside    +54%
Median Consensus    32 บาท

 4Q59 และทั้งปี 2559 ขาดทุน แต่พื้นฐานยังไม่เปลี่ยนแปลง

STA รายงานรายได้ 4Q59 ที่ 2.25 หมื่นล้านบาท (+16.6% QoQ,+45.5% YoY) และรายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 1.3 พันล้านบาท และทั้งปี 2559 STA รายงานรายได้รวมอยู่ที่ 7.72 หมื่นล้านบาท (+26% YoY) โดยที่ปริมาณการขายยางอยู่ที่ 1.49 ล้านตัน ปรับตัวสูงขึ้น (+33% YoY) แต่ประกาศผลขาดทุนสุทธิที่ 758 ล้านบาท ที่เกิดจากการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ทำการปิด Position มีการขาดทุนแต่เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังคงเหมือนเดิม และคาดว่าปี 2560 จะมีภาวะขาดดุลยาง ราคายางจึงยังคงอยู่ในระดับสูง เรายังคงแนะนำ“ซื้อ”ที่ราคาเป้าหมาย 33.30 บาท

4Q59 ขาดทุน
STA รายงานรายได้ 4Q59 ที่ 2.25 หมื่นล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 16.6% QoQ และ 45.5% YoY และรายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 1.3 พันล้านบาท จากขาดทุน 91 ล้านบาทใน 3Q59 โดยที่ปริมาณการขายรวมใน 4Q59 อยู่ที่ 4 แสนตัน ปรับตัวสูงขึ้น 22% QoQ และ 32% YoY ทั้งปี 2559 STA รายงานรายได้รวมอยู่ที่ 7.72 หมื่นล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 26% YoY โดยที่ปริมาณการขายยางอยู่ที่ 1.49 ล้านตัน ปรับตัวสูงขึ้น 33% YoY แต่ประกาศผลขาดทุนสุทธิที่ 758 ล้านบาท ที่เกิดจากการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วง 4Q59 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัททำการ    สต๊อก Inventory สำหรับช่วงเดือนก.พ.-พ.ค. ที่จะเป็นช่วงปิดกรีดยาง แต่ราคายางโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2559 ส่งผลให้การปิด Position มีผลขาดทุน
ปัจจัยพื้นฐานปี 2560 ยังคงหนุนราคายาง
ราคายาง TSR20 ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2H59 และสูงสุดที่ 230 cent/kg ในช่วงกลางเดือนก.พ. 2560 ที่ผ่านมา แต่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากมีการขายทำกำไรโดยกองทุนไปบางส่วน แต่เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังคงเดิม ได้แก่  1) ระดับอุปทานยางธรรมชาติที่ออกสู่ตลาดปรับตัวลดลง ทั้งจากประเทศไทยและจากต่างประเทศ จากราคาทีต่ำลงและสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ผลผลิตยางลดลง 2) สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ช่วงเดือน ม.ค. 2560 ส่งผลให้สวนยางได้รับความเสียหาย เราคาดว่ายางที่ออกสู่ตลาดจะปรับตัวลดลงราว 5.0 หมื่นตันต่อ 2 สัปดาห์  3) ระดับ Qingdao Natural Rubber Stock ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 5.58 หมื่นตันเมื่อเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี 4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้มีความต้องการยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น 5) ประเทศจีนมีการออกกฎหมายควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกสินค้า ส่งผลให้มีความต้องการซื้อรถบรรทุกใหม่เพิ่มขึ้น โดยที่ยางล้อรถบรรทุกมีการใช้ยางธรรมชาติในการผลิตสูงกว่ารถยนต์โดยสารถึง 5 เท่า 6) ผู้ผลิตรยางรถยนต์ได้ปรับราคาขายขึ้นแล้วกว่า 10% 7) มีการคาดการณ์ว่าปี 2560-2561 จะมีการขาดดุลยาง เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงกว่าอุปทานที่เข้าสู่ตลาด       
ประมาณการณ์รายได้ปี 2560
เราคาดการณ์รายได้รวมปี 2560 ที่ 1.13 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 46.8% YoY  จากการที่ราคายางแท่งและปริมาณการขายคาดว่าจะมีการเติบโต จากการที่อุปทานที่เข้าสู่ตลาดโลกลดลง โดยที่ เราคาดว่าจะมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ราว 6% และกำไรสุทธิที่ 1.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ STA ได้แจ้งต่อตลาดว่าจะทำการถือหุ้นในบริษัทสยามเซมเพอร์เมดเพิ่มเป็น 90.2% ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงมือยาง ซึ่งมีอัตราการผลิต Full Capacity และคาดว่าจะมีแผนการขยายการผลิตเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ STA ในด้านของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยอดสั่งซื้อยางที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่แน่นอนมากขึ้น และได้ตั้งเป้ายอดขายที่ 1.7 ล้านตัน (+21% YoY)
ยอดขายและราคายังคงเติบโต แนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 33.30 บาท
เรายังคงแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมาย 33.30 บาท จากการอิงค่าเฉลี่ย 7 ปีของ P/BV ที่ 1.84X (+1.5SD) เนื่องจากราคายางยังคงมีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 และอุปสงค์ยางโลกยังสูงกว่าอุปทานในปี 2560-2561 ในขณะที่ STA สามารถเพิ่มสัดส่วนแบ่งทางตลาดโลกจาก 9% เป็น 12% เราจึงให้ค่า P/BV ที่ +1.5SD เพื่อสะท้อน Upside Gain ที่อาจเกิดขึ้น และ STA ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลที่ 0.40 บาท      

โครงสร้างรายได้
สามารถจำแนกโครงสร้างรายได้ของกลุ่มศรีตรังได้ดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการจาหน่ายยางแท่ง หรือ TSR (72%)
2.ยางแผ่นรมควัน หรือ SSR  (8.9%)
3.น้ำยางข้น หรือ Concentrated Latex (7.8%)
4.จากธุรกิจอื่นๆ (10.7%) โดยSTAได้กระจายช่องทางรายได้ของบริษัทฯ โดยอาศัยการลงทุนในบจ. สยามเซมเพอร์เมด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่บริษัทมีส่วนได้เสีย (ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม) ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ ที่ใช้ในทางการแพทย์และทางอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ได้ทำการถือหุ้นที่ 90.2% และจะเริ่มทำการรับรู้รายได้ราว 2Q60  นอกจากนี้ STA ยัง ประกอบธุรกิจสวนยางพาราอย่างเป็นระบบและมีพื้นที่สำหรับปลูกสวนยางพาราประมาณ 51,650 ไร่ ใน 19 จังหวัดของประเทศไทย  โดยบางส่วนเริ่มทยอยให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งการมีสายยางพาราเป็นของตัวเองจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบและเพิ่มความสะดวกให้กับบริษัทฯ ในการรวบรวมวัตถุดิบจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ STA สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ส่วนไม้ยางพารายังสามารถขายให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อแปรรูปเป็นของใช้และของตกแต่งภายในบ้าน และ อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อใช้เป็นพาเลทในการวางหรือบรรจุสินค้า
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2560 ทาง STA ได้ประกาศเข้าซื้อซื้อหุ้นบริษัท สยามเซมเพอร์เมด จากบริษัท Semperit ส่งผลให้ STA ถือหุ้นสยามเซมเพอร์เมดที่ 90.2% ซึ่งถือว่าเป็นผลบวกต่อ STA เอง เนื่องจากจะสามารถรับรู้รายได้จากเดิมเป็นรายได้จากการร่วมค้ามาเป็นรายได้หลัก ซึ่งสยามเซมเพอร์เมด ประกอบธุรกิจผลิตถุงมือยางที่เป็นธุรกิจปลายน้ำที่จะมาช่วยผลักดันยอดขายยางธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตของ STA ให้มั่นคงมากขึ้น

เป้าหมายในการประกอบธุรกิจ
1.การพัฒนาและขยายฐานวัตถุดิบ การขยายไปยังธุรกิจต้นนาสวนยางพาราส่งผลให้ STA สามารถขยายฐานวัตถุดิบจากสวนยางอื่นที่รายรอบและรู้ทันสถานการณ์อุปทานของยางพาราได้อย่างลึกซึ้งผ่านพื้นที่สำหรับปลูกสวนยางกว่า 50,000 ไร่ ใน 19 จังหวัดของประเทศไทย และสร้างความสัมพันธ์กับเกษตรกรและพ่อค้ายางพาราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองส่วนนี้ จะสามารถพัฒนาให้บริษัท ก้าวเข้าไปสู่การเฟ้นหาวัตถุดิบในระดับมาตรฐานโลก นั่นก็คือความโปร่งใส (Traceability) และการมีสัมพันธ์อย่างยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ณ ปัจจุบัน
2.ขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง STA ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายธุรกิจ เนื่องจาก เชื่อว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจะเป็นปัจจัยผลักดันสู่ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจผลิตยางธรรมชาติในระยะยาว โดย STA ได้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อรองรับกลยุทธ์การเติบโต และเพื่อที่จะได้รับประโยชน์จาก Economy of scale
3.ขยายฐานลูกค้า โดยการขายสินค้าที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น STA จึงดำเนินกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยจะมุ่งเน้นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และ STA ได้ขยายฐานลูกค้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการตลาดของบริษัท เนื่องจากได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตของอุปสงค์ของยางธรรมชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปัจจุบันเป็นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคยางธรรมชาติมากที่สุดในโลกหรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ยางธรรมชาติทั้งหมด



French Toast