โควิด-19 เขย่าวงการเศรษฐีโลก
“บรรดาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ พยากรณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า โควิดก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินและความยากจนเพิ่มพูนทั้งแผ่นดิน แต่อีกมุมหนึ่งของโควิด-19 กลับสร้างโอกาสทองให้แก่คนบางกลุ่ม ได้เข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีโลกแบบไม่ทันตั้งตัว หรือเกิดการเชือดเฉือนวิ่งแซงสลับอันดับเศรษฐีของประเทศอย่างดุเดือด”
การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งปีแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเมื่อใด จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ พยายามทำลายสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างรวดเร็ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดโควิดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สาหัสพอๆ กับความร้ายแรงของไวรัสโควิด เกือบทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญชะตากรรมเศรษฐกิจห่อเหี่ยวทรุดต่ำเฉียบพลัน คนตกงานเกลื่อนกลาด และกำลังจะกลายสภาพเป็นคนยากไร้ในที่สุด บรรดาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ พยากรณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า โควิดก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินและความยากจนเพิ่มพูนทั้งแผ่นดิน ประเมินกันว่า คนยากจนทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้นนับร้อยๆ ล้านคน เพราะวิบากกรรมจากไวรัสตัวนี้
แต่อีกมุมหนึ่งของโควิด-19 กลับสร้างโอกาสทองให้แก่คนบางกลุ่ม ได้เข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีโลกแบบไม่ทันตั้งตัว หรือเกิดการเชือดเฉือนวิ่งแซงสลับอันดับเศรษฐีของประเทศอย่างดุเดือด
ความเคลื่อนไหวในแวดวงมหาเศรษฐีโลกข่วงโควิด-19 น่าสนใจดีเหมือนกัน จะลองหยิบยกมาเล่ากันเล่นๆ เพลินๆ คลายเครียดจากความโหดร้ายของโควิดที่กระทบต่อคนครึ่งค่อนโลก รายงานข่าวชิ้นแรกมาจากพวกกูรูอิสระของเมืองมะกัน ที่ระบุว่า โรคระบาดส่งผลให้พฤติกรรมของคนต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อต้องกักตัวส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือที่พักอาศัย การทำงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ราคาหุ้นของบริษัทไฮเทคทั้งหลายแหล่ จึงพุ่งพรวดพราดในช่วงที่ผ่านมา และเป็นตัวผลักดันให้เจ้าของกิจการบริษัทไฮเทคพวกนี้ รวยอู้ฟู่อย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่า โควิด ได้สร้างมหาเศรษฐีป้ายแดงในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นราว 30 คน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยเฉพาะมหาเศรษฐีหน้าเดิม 5 อันดับแรกของแดนโคบาล ได้แก่ Jeff Bezos (Amazon), Bill Gates (Microsoft), Mark Zuckerberg (Facebook), Warren Buffett (Berkshire Hathaway) และ Larry Ellison (Oracle) มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นประมาณ 26% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด ไม่ต้องสงสัยหรอก ในเมื่อผู้คนต้องทำงานที่บ้าน ก็จำเป็นต้องใช้สารพัดอุปกรณ์สื่อสารและโปรแกรมการทำงานมากมาย หรือแม้แต่ยามพักผ่อน ก็หนีไม่พ้นพวกแอปความบันเทิงหรือเกมต่างๆ อีกเยอะแยะ จึงทำให้เจ้าพ่อวงการไฮเทคและอินทอร์เน็ตพวกนี้ นั่งนับเงินกันเพลิดเพลิน จนอาจเผลอลืมความเหี้ยมโหดของโรคโควิดไปเลย
หันมาดูย่านเอเชียกันบ้างดีกว่า โควิดก็สร้างเศรษฐีใหม่ให้แก่ย่านนี้เหมือนกัน Bloomberg ได้สำรวจสถานการณ์เงินๆ ทองๆ ในช่วงโรคระบาด พบว่า เพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ได้ผุดเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ในยามนี้ด้วย คร่าวๆ รวม 4 ราย ล้วนมาจากธุรกิจถุงมือยางทั้งหมด เดาได้ไม่ยาก ในเมื่อเกิดโรคระบาดรุนแรงทั่วโลก อุปกรณ์ทางการแพทย์เบื้องต้นที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ก็คือ ถุงมือยาง ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
มาเลเซีย เป็นประเทศที่ผลิตถุงมือยางส่งออกไปยังตลาดโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของจำนวนทั้งหมดทั่วโลก ในช่วงโควิดระบาด ความต้องการพุ่งขึ้นมหาศาล การสวมใส่ถุงมือยาง ไม่ได้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ยังรวมไปถึงแวดวงธุรกิจอื่นๆ หรือบุคคลธรรมดาที่ต้องการป้องกันตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ราคาหุ้นของธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านถุงมือยางแห่งแดนเสือเหลือง จึงทะยานไม่หยุด เป็นผลให้เจ้าของกิจการไต่อันดับเศรษฐีพันล้านอย่างง่ายดาย
บริษัทรับส้มหล่นจากโควิด ได้แก่ Top Glove Corp, Hartalega Holdings Bhd, Kossan Rubber Industries Bhd และ Supermax Corp Bhd โดยเฉพาะรายหลัง วงการเศรษฐีจับตามองเป็นพิเศษ แม้ว่าจะเข้าสู่ทำเนียบตามหลังรุ่นพี่ๆ แต่ราคาหุ้นโตเร็วมากกว่า 5 เท่า ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของเถ้าแก่แตะระดับหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำนักวิจัยหลายแห่งเห็นว่า การที่บริษัท Supermax น่าสนใจ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ผลิตถุงมือยางเอง แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่เน้นเป็นผู้จัดจำหน่าย นาย Thai Kim Sim เจ้าของกิจการ Supermax ได้รำพึงรำพันกับ Bloomberg ว่าเขาและภรรยา ได้ร่วมกันก่อตั้งกิจการค้าถุงมือยางเป็นครั้งแรกในปี 1987 ต่อมาจึงตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตเองในปี 1989 และเป็นแห่งแรกของมาเลเซียที่ผลิตถุงมือยางภายใต้แบรนด์ของตนเอง ตามนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น
ปัจจุบัน บริษัทได้ส่งออกถุงมือยางไปตลาดโลก มากกว่า 160 ประเทศ เจ้าสัว Thai และ ภรรยา ถือหุ้นของ Supermax ประมาณ 38% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังยืดเยื้อ ทำให้คาดว่าความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก น่าจะเพิ่มขึ้นราว 11% ในปีนี้ หรือประมาณ 330,000 ล้านชิ้น และมาเลเซีย สามารถรองรับได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณความต้องการดังกล่าว
สำหรับ Supermax ได้ผลิตถุงมือยางตกประมาณ 24,000 ล้านชิ้นต่อปี และเตรียมขยับขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ถึง 44,000 ล้านชิ้นต่อปี ภายในปี 2024 การที่เจ้าสัว Thai ได้เข้าทำเนียบเศรษฐีโลกครั้งนี้ เป็นเพราะราคาหุ้นของบริษัทในช่วงโควิดพุ่งเกือบ 400% ขณะที่รายได้ของกิจการในไตรมาสแรกเพิ่มราว 24% จากปีก่อนหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่มาเลเซีย ได้รับความน่าเชื่อถือในเรื่องผลิตภัณฑ์ยางพารามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นผลมาจากโรคติดต่อ Aids ทำให้ถุงยางอนามัยและถุงมือยางของมาเลเซีย ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเป็นลำดับ
ความเคลื่อนไหวในเอเชียอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลกก็คือ แดนมังกร ซึ่งเป็นข่าวฮือฮากันไม่น้อยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็เพราะมีการกระชากตำแหน่งแชมป์ของประเทศอย่างไม่คาดฝัน โดยนาย Pony Ma แห่งบริษัทชั้นนำ Tencent ซึ่งมีเครือข่ายกิจการด้านโซเชียลมีเดียครอบคลุมทั่วไปหมดทุกหย่อมหญ้า ได้ก้าวสู่บัลลังก์คนร่ำรวยมากที่สุดของจีน สามารถดันให้นาย Jack Ma แห่งอาณาจักร Alibaba ถอยลงมาเป็นอันดับ 2
รัศมีแห่งโชคลาภได้ฉายพุ่งเข้าเถ้าแก่ Pony Ma ตั้งแต่โรคระบาดโควิดแผลงฤทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ธุรกิจ Tencent เฟื่องฟู่เป็นพิเศษ ด้วยปริมาณความต้องการใช้แอปต่างๆ ในเครือของ Tencent เพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะแอปเกมและบันเทิงเริงรมย์ เนื่องจากผู้คนสลายความเหงาและความเซ็ง ด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเก็บกักตัวหรือล็อกดาวน์กันอย่างมโหฬาร ด้วยเหตุนี้ ราคาหุ้นของ Tencent จึงตะกายสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนแตะที่ราคา 500 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น และทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากสุดในเอเชีย แซงบริษัท Alibaba เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกัน ทรัพย์สินของ Pony Ma ก็มีมูลค่าพุ่งเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์ เบียดเศรษฐี Jack Ma ที่มีมูลค่าทรัพย์สินราว 48,000 ล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ
เจ้าสัว Pony Ma บอกกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า เหนื่อยน่าดูกว่าจะก้าวมาถึงตำแหน่งนี้ เพราะที่ผ่านมา บริษัท Tencent ก็เจริญก้าวหน้าดี แต่ดูจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับบริษัทไฮเทคอื่นๆ จึงทำให้ Tencent มักเป็นรองอยู่ตลอด แต่วิกฤติโควิดได้กลายเป็นพลังผลักดันให้ความต้องการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารพัดรูปแบบเพิ่มก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจของ Tencent สามารถรองรับความต้องการเหล่านั้นได้หมด จนบริษัทมีรายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นราว 26% จากปีก่อนหน้า
นาย Pony Ma วัย 48 ปี เป็นชาวจีนจังหวัดกวางตุ้ง จบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น อาชีพแรกของชีวิตการทำงานก็คือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้แก่บริษัทด้านโทรคมนาคมสื่อสาร ต่อมา ได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ อีกราว 3-4 คน จัดตั้งบริษัท Tencent ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s ด้วยเส้นทางดังกล่าว ก็น่าจะเหนื่อยจริงๆ ที่ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี จนได้เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของแดนมังกร
โควิด-19 ไม่ได้ช่วยเฉพาะ Pony Ma แห่งบริษัท Tencent เท่านั้น ปรากฏว่าบริษัทไฮเทคดาวรุ่งอื่นๆ ของจีน ก็มีโอกาสก้าวเข้าสู่อันดับท็อปของตารางเช่นกัน ที่โดดเด่นก็คือ Pinduoduo หรือ เรียกกันเล่นๆ ว่า PDD ซึ่งฟู่ฟ่าในหมู่ e-commerce โดยเถ้าแก่ Colin Huang โกยทรัพย์สินช่วงโควิด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์ สามารถเขี่ยเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์ Hui Ka Yan ออกจาก Top Three ของตารางได้สำเร็จ
งานนี้ ว่ากันว่า ราคาหุ้นของ PDD ได้มีส่วนช่วยนาย Colin Huang อย่างมาก เนื่องจากราคาหุ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2020 ทะยานถึง 121% ขนาด Tencent ยังเพิ่มราว 31% เท่านั้น นอกจากนี้ มหาเศรษฐีจากบริษัทไฮเทคอีกแห่งหนึ่งที่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่ม Top Five ได้แก่ นาย Ding Lei แห่ง บริษัท NetEase คู่แข่งหายใจรดต้นคอของ Tencent เนื่องจากเป็นผู้พัฒนาเกมออนไลน์ตัวยง และ ยังตะลุยด้าน e-commerce อีกด้วย
สรุปเบ็ดเสร็จ มหาเศรษฐีจีนที่ติดโผในกลุ่ม 5 อันดับแรกของคนรวยสุดในแดนมังกร ล้วนได้รับผลดีจากโควิดเกือบทั้งหมด เพราะเป็นบริษัทไฮเทค ยกเว้นเพียง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ China Evergrande Group ของนาย Hui Ka Yan ที่ทนยืนหยัดแทรกตัวในหมู่กิจการไฮเทคชั้นนำในทำเนียบมหาเศรษฐีจีน Top Five ได้ด้วย
อีกประเทศหนึ่งที่ไม่พูดถึง คงไม่ได้ แม้ว่าจำนวนมหาเศรษฐีจะไม่มากมายเท่าจีน แต่ลองว่ารวยแล้วละก้อ ไม่ดังเฉพาะในประเทศ แต่ต้องติดอันดับท็อปเท็นของโลกด้วย ได้แก่ มหาเศรษฐีอินเดีย นาย Mukesh Ambani วัย 63 ปี ได้ทำสถิติเป็นเศรษฐีชาวเอเชียรายแรก ที่เข้าไปยืนผงาดติดโผมหาเศรษฐีโลก 1 ใน 10 อันดับแรกเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีทรัพย์สินเป็นมูลค่าราว 64,500 ล้านดอลลาร์ วิ่งเข้ามาเป็นอันดับ 9 ของตารางเศรษฐีโลก
คุ้นชื่อในแวดวงธุรกิจมานาน แต่อาณาจักรธุรกิจที่มหาศาล ทำให้เศรษฐีแดนภารตะ Ambani มีวิถีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ เป็นธรรมดา บริษัทยักษ์ใหญ่ Reliance Industries Ltd มีเครือข่ายกิจการเยอะแยะ เช่น ธุรกิจน้ำมันและเปโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจสิ่งทอ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ สาธยายคงไม่ครบ เอาเป็นว่ารวยของแท้
วันนี้ เขาอาศัยในคฤหาสน์ 27 ชั้น กลางนครมุมไบ อาณาบริเวณน่าจะมโหฬาร เพราะแค่ลานจอดรถก็สามารถเรียงรถหรูได้เกือบ 170 คัน ในตัวคฤหาสน์มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ 50 ที่นั่ง ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยงตามวาระของงาน ห้องออกกำลังกาย ห้องเล่นโยคะ ห้องซาวน่าและสปา สวนพฤษศาสตร์ตามฤดูกาล ฯลฯ เอาเป็นว่าหากจะเดินเข้าไปในอาณาบริเวณคฤหาสน์แล้วละก้อ ควรมีไกด์ของสถานที่ตามไปด้วย ไม่งั้นมีสิทธิ์หลงทาง
การที่นาย Ambani มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากมายในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่เขาเองไม่คาดฝันเหมือนกัน แม้ว่าเขาจะมีกิจการมากมาย แต่การดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็เป็นไปตามวัฏจักรทั่วไป ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เนรมิตทรัพย์สินในช่วงนี้ก็คือ วิกฤติโควิด-19 ที่รุมกินโต๊ะเมืองจีนในระยะแรกที่เกิดการระบาดในเมือง Wuhan จนส่งผลให้ธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนและจัดตั้งโรงงานมากมายในจีน ได้ผลเสียหายจากความชะงักงันของระบบ Supply Chain ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติ จึงได้ทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุนและมองหาแหล่งลงทุนอื่นๆ ที่จะกระจายความเสี่ยงดีกว่า และอินเดีย ก็น่าจะเป็นหนึ่งในทำเลที่น่าปลอดภัย เมื่อเทียบกับจีนในขณะนี้
ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนจากบริษัทต่างชาติจึงเริ่มทยอยมายังอินเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในแดนชมพูทวีปมีจำนวนมากมายมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนในที่สุด ได้สังเกตว่า หากมีการร่วมกิจการกับธุรกิจเจ้าถิ่น และยอมถือหุ้นน้อยกว่า จะเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าเหมาะสมที่สุดในอินเดียขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลยังใจไม่ถึงมากพอที่จะเปิดโอกาสแก่ธุรกิจต่างชาติ จึงมีกฎระเบียบแบบสองมาตรฐานหลงเหลืออยู่พอสมควร ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่าหากต้องการทำธุรกิจในตลาดอินเดียอย่างมีความสุขแล้วละก้อ ต้องหาพันธมิตรเป็นธุรกิจท้องถิ่นดีกว่า
นาย Ambani จึงเป็นหนึ่งในนักธุรกิจเจ้าถิ่นที่มีธุรกิจต่างชาติเข้ามาทาบทามขอร่วมลงทุนในกิจการต่างๆ มากมาย เรียกว่าหัวบันไดคฤหาสน์ไม่แห้ง และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ แห่กันมาขอร่วมลงทุนซื้อหุ้นในกิจการ Jio Platforms Ltd ซึ่งเป็นกิจการในเครือของอาณาจักร Reliance Industries โดย Jio เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง การเงินการธนาคาร การค้าออนไลน์ เป็นต้น
Jio Platforms Ltd เป็นกิจการที่นาย Ambani จัดตั้งเมื่อปี 2016 และแบกภาระหนี้สินไว้พอสมควร แต่เมื่อโควิดระบาด การใช้เทคโนโลยีเพื่อชีวิตวิถีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ Jio เป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติทันที เพราะตลาดอินเดียที่มีพลเมืองกว่า 1,300 ล้านคน คาดว่าราวๆ ครึ่งหนึ่งอาจยังเข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ ทำให้ Jio มีโอกาสที่จะพัฒนาและจับตลาดกลุ่มนี้ได้ไม่ยาก แถมยังมีการประเมินกันว่า Jio จะจับส่วนแบ่งตลาดมือถือได้เกือบ 50% ภายในปี 2025
มัวช้าอยู่ทำไม นักลงทุนต่างชาติระดับหัวกะทิ จึงวิ่งแข่งกันเข้าร่วมซื้อหุ้น Jio ทันที นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เช่น Facebook, บริษัทเพื่อการลงทุน KKK, กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงบริษัทชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย จนล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Google ก็หอบเงินราว 10,000 ล้านดอลลาร์ มาขอแจมในตลาดอินเดียด้วย โดยเฉพาะการร่วมซื้อหุ้น Jio และตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบดิจิทัลของอินเดีย
งานนี้ Jio รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติคร่าวๆ เกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ในชั่วระยะเวลา 3-4 เดือนเท่านั้น และมีส่วนทำให้หนี้สินของ Jio มลายหายสิ้นก่อนกำหนด และยังทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเฟื่องฟู และผลักดันให้นาย Ambani ได้ก้าวสู่ทำเนียบ 1 ใน 10 เศรษฐีโลกฉับพลัน
สำหรับนักธุรกิจท้องถิ่นเมืองโรตี คงเป็นปลื้มกับการที่นักลงทุนต่างชาติได้หันมาสนใจร่วมลงทุนด้วย โดยขอเป็นหุ้นส่วนรายเล็กมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียที่ยังค่อนข้างปิดกั้นต่างชาติ และคุ้มครองธุรกิจท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม กูรูเศรษฐศาสตร์ของแดนภารตะเอง เตือนว่า สถานการณ์แบบนี้อาจ ส่งผลให้นักธุรกิจเจ้าถิ่นระดับแนวหน้ามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างชาติจะเลือกนักธุรกิจอินเดียที่มีโอกาสประสบความสำเร็จเท่านั้น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจควบคุมกลไกเศรษฐกิจอินเดียได้อย่างสบายๆ ในภายหน้า และสร้างความเหลื่อมล้ำในหมู่ชาวชมพูทวีปมากขึ้น ปัจจุบัน คนรวย 10% แรกของอินเดีย กุมความมั่งคั่งมากกว่า 3 ใน 4 ของประเทศ วิกฤติโควิด-19 ในอินเดียทุกวันนี้จึงเล่นงานเฉพาะคนเดินดินกินโรตีเท่านั้น ส่วนมหาเศรษฐีเก็บกักตัวในคฤหาสน์ นั่งนับทรัพย์สินชิลล์ ชิลล์!!
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก