ห้องเม่าปีกเหล็ก

ASPS เปิด 5 อุตสาหกรรม รับผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดันต้นทุนเพิ่ม

โดย ในหุบเขา
เผยแพร่ :
331 views

ASPS เปิด 5 อุตสาหกรรม รับผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดันต้นทุนเพิ่ม

ASPS เปิด 5 อุตสาหกรรม จ่อรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังกระทรวงแรงงานส่งสัญญาณการปรับขึ้นค่าแรงราว 5-8% อิงอัตราเงินเฟ้อ มีผลปีหน้า จับตากระทบต้นทุนอย่างไรบ้าง

.

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) จะพิจารณาอัตราค่าจ้างในเดือน ส.ค นี้ หลังสรุปตัวเลขจาก 77 จังหวัด เสร็จสิ้นตั้งแต่เดือน ก.ค ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นราว 5-8% อิงอัตราเงินเฟ้อ โดยมีเป้าหมายจะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค 66

.

ฝ่ายวิจัยได้รวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางลบและทางบวก โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะเสียประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างต้นทุนแรงงานในสัดส่วนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เกษตรอาหาร พัฒนาที่อยู่อาศัย ชิ้นส่วน ค้าปลีก ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่อิงกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเงิน และโรงพยาบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

.

อุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์(-)

อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง : เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งรูปแบบการจ้างงานโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง โดยต้นทุนค่าแรงที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ในส่วนของคนงานก่อสร้างที่มีทั้งการจ้างโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด โดยเงินที่จ้างผ่านผู้รับเหมาช่วงจะมีการรวมทั้งค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างเข้าไปด้วย

.

หากตั้งสมมุติฐานว่าค่าแรงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วน 50% ของค่าจ้างเหมาช่วง เท่ากับว่าต้นทุนที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสัดส่วนประมาณ 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% จะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 0.10-0.15% แต่ในทางปฏิบัติ หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจริงบริษัทรับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่รับเหมาช่วง จะแบ่งกันรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปคนละส่วน อีกทั้งบริษัทรับเหมางานภาครัฐ จะมีเงินชดเชยจากค่า K ซึ่งมี เงินเฟ้อ เป็นองค์ประกอบในการคำนวณด้วย ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างไม่เกิน 0.1%

.

อุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร : มีโครงสร้างค่าแรง (DL) ในไทยเฉลี่ยราว 1.5-8% ของต้นทุนรวม แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วแต่หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ ผู้ประกอบการก็ต้องปรับเพิ่มค่าแรงให้พนักงานด้วยเช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยทำ Sensitivity หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2566 ราว 4.7% จากปัจจุบัน

.

อุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย : เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนสัดส่วนหลัก 30-40% มาจากต้นทุนที่ดิน ตามด้วยต้นทุนก่อสร้างและแรงงานราว 40-50% ที่เหลือเป็นงานโครงสร้าง และอื่น ๆ และหากพิจารณาแยกเฉพาะต้นทุนค่าแรงงานที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ในงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่ผ่านการจ้างงานกับผู้รับเหมา คาดคิดเป็น 20% ของต้นทุนรวม หรือราว 13% ของยอดขาย (อิง Gross Margin ขายฯ เฉลี่ย 33%) ภายใต้สมมติฐานการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5% จะกระทบต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น 1%

.

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติผลกระทบการขึ้นค่าแรงส่วนใหญ่จะอยู่กับกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่ได้ว่าจ้างในการจัดการงานก่อสร้าง เนื่องจากใช้วิธีการ Outsource กับผู้รับเหมาฯ และปกติงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีการทำสัญญาล่วงหน้า และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างเพื่อส่งมอบ ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อโครงการเดิมที่สร้างเสร็จแล้ว ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ปกติในสินค้ากลุ่มคอนโดฯ มีการกำหนดต้นทุนเรียบร้อย และบางบริษัท ทำสัญญากับผู้รับเหมาแบบ Turnkey กล่าวคือผู้รับเหมาเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนแนวราบอาจมีการเจรจาต่อรองเรื่องต้นทุน

.

ขณะที่โครงการใหม่ จะถูกส่งผ่านไปยังราคาขายใหม่ตามต้นทุนใหม่ นอกจากนี้ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยในงานก่อสร้าง เช่น Precast สามารถลดแรงงานคนได้พอสมควร รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนอื่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อมาร์จิ้นอย่างมีนัยฯ

.

ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพทำกำไรตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2564) พบว่า ผู้ประกอบการยังสามารถรักษา Gross Margin ในกรอบ 32-34% และ Norm Profit ในกรอบ 13-15% แม้เผชิญกับวัฏจักรเรื่องต้นทุนก่อสร้างและแรงงานที่ปรับขึ้นก็ตาม (ยกเว้นปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และส่วนใหญ่เน้นขายสต๊อก พร้อมลดราคา ทำให้ GP ปีดังกล่าวลงมาอยู่ที่ 31% และ Norm Profit อยู่ที่ 12.5% ก่อนเห็นการฟื้นตัวขึ้นในปีถัดไป)

.

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ : มีสัดส่วนค่าแรงงานเฉลี่ย 5-8% ของต้นทุนรวม โดยฝ่ายวิจัยทำ Sensitivity หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลงจะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มชิ้นส่วนปี 66 ราว 2.2% จากปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการชิ้นส่วนในไทยจ่ายค่าแรงให้ลูกจ้างรายวันสูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำอยู่แล้ว แต่มีโอกาสขึ้นค่าแรงอีกเพื่อป้องกันการย้ายงานในอนาคตได้

อุตสาหกรรมรับเหมา ICT : แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นลูกจ้างรายวันในบริษัท แต่จะเป็นการจัดหาแรงงานภายนอก (Outsource) ทำให้ภาระการจ่ายค่าแรงส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับผู้รับเหมาช่วงที่มารับงานแทน ทั้งนี้หากผู้ประกอบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 5% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง คาดจะส่งกระทบแนวโน้มกำไรสุทธิน้อยกว่า 4.1% จากปัจจุบัน

.

อุตสาหกรรมที่ไม่เสียประโยชน์ (+/0)

อุตสาหกรรมพลังงาน : ภาพรวมธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานไม่ได้อิงกับการใช้แรงงาน โดยโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่จะอิงกับราคาพลังงาน, ค่าเสื่อมราคา เป็นหลัก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงาน (SG&A) ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายในรูปแบบของเงินเดือน, โบนัส ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่ได้ส่งผลผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยฯ ต่อโครงสร้างต้นทุนหรือผลการดำเนินงานบริษัทในกลุ่มนี้

.

อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา : การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกระทบกลุ่มจำกัด จากโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของ ค่าเสื่อมราคาของป้ายโฆษณา และ ค่าตัดจำหน่ายรายการโทรทัศน์ เป็นหลัก ส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานส่วนมากจะจ่ายเป็นรายเดือน โดยรวมแล้วจึงไม่กระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มนี้

.

อุตสาหกรรม logistics : การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกระทบค่าใช้จ่ายระดับต่ำ เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขนส่ง ได้แก่ ค่าระวาง ค่าน้ำมัน นอกจากนี้พนักงานที่ทำงานในบริษัทขนส่งต่างๆ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนซึ่งสูงกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไม่ส่งผลต่อกลุ่มนี้อย่างมีนัยสำคัญ

.

อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ICT : เป็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าและบริการของธุรกิจมือถือ เป็นสินค้าอุปโภคที่แปรตามค่าจ้างแรงงาน กล่าวคือ เมื่อค่าจ้างเพิ่มขึ้น จะหนุนต่อการใช้งานมือถือเพิ่มและซื้อเครื่องโทรศัพท์ใหม่ตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลกระทบเชิงลบจากค่าจ้างพนักงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะพนักงานส่วนใหญ่รับค่าจ้าง เงินเดือน สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว

.

อุตสาหกรรมโรงพยาบาล : ต้นทุนค่าใช้จ่ายผลตอบแทนของพนักงานในกลุ่มรพ. จะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งเราคาดว่าค่าใช้จ่ายของพนักงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มรพ. มีน้อยกว่า 1% ต่อรายได้รวม ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยฯ ต่อโครงสร้างต้นทุน แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มรพ.อาจได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ตามค่าแรงขั้นต่ำที่มากขึ้น

.

อุตสาหกรรมค้าปลีกฯ : มีโครงสร้างต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยราว 1-3% ของรายได้รวม ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ในส่วนของค่าใช้จ่ายของพนักงานขายหน้าร้าน หรือพนักงาน Part-time โดยฝ่ายวิจัยได้ทำ Sensitivity Analysis ในกรณีผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 1% โดยสมมติฐานอื่นไม่เปลี่ยนแปลง พบว่า แนวโน้มกำไรสุทธิในปี 2566 ของกลุ่มค้าปลีกฯ จะลดลงราว 0.2-0.9% จากปัจจุบัน ซึ่งหากอิงข่าวล่าสุด ถ้ากระทรวงแรงงานปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 5% จะกระทบแนวโน้มกำไรในปี 2566 ในหุ้นกลุ่มค้าปลีก ลดลงราว 1% - 4.5% แต่อย่างไรตาม เรามองว่าแนวโน้มกำไรที่ลดลงจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จะสามารถชดเชยได้บางส่วนจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน

.

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว : โครงสร้างค่าใช้จ่ายพนักงานของกลุ่มโรงแรมไทยปี 64 อย่าง CENTEL และ ERW จะคิดเป็นสัดส่วน 26% และ 32% ของต้นทุนและค่าใช้จ่าย (CGS + SG&A) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มโรงแรมจ่ายเกินค่าจ้างขั้นต่ำพอสมควร แต่อาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อจูงใจให้แรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม ภายใต้ Sensitivity Analysis หากกำหนดค่าจ้างขึ้นเฉลี่ย 6.5% (ค่าเฉลี่ยของ 5% - 8%) สุทธิจากภาษีเท่ากับค่าแรงขึ้นประมาณ 5.2% เมื่อนำไปคูณกับสัดส่วนค่าแรง จะส่งผลต่อประมาณการ CENTEL และ ERW ราว 1.3% และ 1.6% ตามลำดับ (ยังไม่รวมผลด้านบวกจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น) ด้วยตัวเลขผลกระทบไม่สูงมาก

.

อุตสาหกรรมยานยนต์ : แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือรับค่าแรงเกินขั้นต่ำ แต่เมื่อทั้งระบบขึ้น อาจมีผลต่อเนื่องถึงบริษัทในกลุ่ม เพื่อจูงใจให้คนทำงาน ทั้งนี้ หากอิงจาก stanly ที่มีสัดส่วนค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 12% ของต้นทุนผลิต ซึ่งกระทบต่อประมาณการกำไรปกติไม่เกิน 0.62% จึงมองผลต่อหุ้นในกลุ่มฯ ไม่เกิน 1% โดย AH ที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากประเด็นค่าแรงในไทยน้อยกว่ากลุ่ม

.

ค้นหากลุ่มหุ้น OUTPERFORM และ UNDERPERFORM เวลามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ปัจจุบันคาดว่า กระทรวงแรงงานจะมีการปรับขึ้นค่าแรงช่วง 4Q65 ช่วง 5 – 8% และหากไปดูข้อมูลในอดีตในช่วง 12 – 13 ปีที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 6 ครั้ง หากไม่นับปี 2011 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในช่วง 3 – 15 บาท/วัน หรือมีการปรับขึ้น 1% - 5% เป็นต้น แสดงว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2022 นี้ถือว่า อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต

.

ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ ลองทำการศึกษาในเชิงปริมาณ หาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของหุ้นแต่ละ Sector ในช่วงเวลา 1 เดือน หลังมีการประกาศขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ทั้ง 6 รอบที่ผ่านมา พบว่ากระทบต่อ SET Index จำกัด โดย SET ยังปรับขึ้นได้เฉลี่ย +0.9% แต่มีความน่าจะเป็นให้ผลตอบแทนเป็นบวก 50% และยังมีกลุ่มหุ้นที่ Outperform ตลาด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อาทิ HELTH +7.2%, FIN+6.3%, INSUR+4.5%, TOURISM +2.8% ในทางตรงกันข้ามกลุ่มหุ้นที่ Underperform ตลาด และต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อกำไรชัด อาทิCONS -1.0% ซึ่งกลุ่มหุ้นดังกล่าว น่าจะนำไปปรับใช้ในการปรับพอร์ต เพื่อรับมือกับประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระยะถัดไปได้

***********************************

 


ในหุบเขา