ไขปม 5 แบงก์ใหญ่แห่ออกหุ้นกู้ต่างแดน ย้อนหลัง 3 ปี ทะลุ 3 แสนล้านบาท
ก่อนจะสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งหนึ่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ประกาศความสำเร็จในการออกตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (additional tier 1) มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 18,700 ล้านบาทเลยทีเดียว
“กรุงไทย” ปลื้มระดมทุนสำเร็จ
โดย “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยบอกว่า ตราสารดังกล่าวเป็นตราสารด้อยสิทธิไม่มีกำหนดชำระคืน ธนาคารสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดเมื่อตราสารมีอายุครบ 5 ปี ซึ่งมุ่งเสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.40% ต่อปี ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับตราสารประเภทเดียวกันที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ของไทย
“ตราสารดังกล่าวจะถูกนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการออกตราสาร additional tier 1 ของธนาคารในครั้งนี้ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างทางการเงินของธนาคารในระยะยาว เทียบเคียงกับธนาคารคู่เทียบอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายผยงกล่าว
โดยผู้ลงทุนแสดงความสนใจลงทุนในตราสารของธนาคารกรุงไทยกว่า 3.8 เท่าของมูลค่าที่ออก ประกอบไปด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีคุณภาพและลงทุนระยะยาวจากทั่วโลกจำนวน 155 ราย
ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในทวีปเอเชีย 74% นักลงทุนในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 16% นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา และอื่น ๆ อีก10% และแบ่งตามประเภทนักลงทุนเป็นประเภทบริษัทบริหารเงินลงทุน 87% ที่เหลือเป็น private banks บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ และธนาคารพาณิชย์
“การออกและเสนอขายตราสารในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันในและต่างประเทศเป็นอย่างดี แม้สภาวะตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วงเดือน มี.ค.จะอยู่ท่ามกลางความผันผวน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีการประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงธนาคารไม่ได้ออกระดมทุนในตลาดทุนต่างประเทศบ่อยครั้ง ทำให้การออกตราสารหนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ” นายผยงกล่าว
ย้อน 3 ปี ระดมทุน 3 แสนล้าน
อย่างไรก็ดี นอกจากแบงก์กรุงไทยแล้ว ช่วงที่ผ่านมาก็มีแบงก์ไทยหลายแห่งมีการออกตราสารในลักษณะเดียวกันมาแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2561-ปัจจุบันพบว่า 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย คือ
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทหารไทย (TMB) มีการออกตราสารรวมกันเป็นมูลค่า 10,882 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท
2 วัตถุประสงค์ออกตราสาร
โดย “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) อธิบายว่า ในรอบ 3 ปีหลังมานี้แบงก์ไทยมีการออกตราสารการเงินในต่างประเทศกันค่อนข้างมาก แต่ต้องบอกว่าการออกตราสารดังกล่าวไม่ใช่เกิดจากเงินกองทุนของแบงก์มีปัญหา เพราะปัจจุบันอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ของระบบแบงก์ไทยอยู่สูงถึง 19.5%
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการออกตราสารดังกล่าวของแบงก์มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ 1.ออกเพื่อเงินทุนเพื่อการควบรวมกิจการ ทั้งการควบรวมกิจการในไทย และการควบรวมในต่างประเทศ อย่างแบงก์ไทยที่มีการไปซื้อกิจการแบงก์ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะพบว่ามีการออกตราสารในต่างประเทศด้วยมูลค่าที่สูงกว่าทุกแบงก์
และ 2.ออกเป็นตราสารกึ่งทุน เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ซึ่งตราสารลักษณะนี้จะมีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้จำหน่ายในประเทศค่อนข้างยาก หากจะขายต้องเป็นระดับ high net worth (HNW) ถึงจะเข้าใจโครงสร้างดี ทำให้แบงก์ส่วนใหญ่จึงเลือกออกและเสนอขายในต่างประเทศกันมากกว่า
ยันแบงก์ไทยฐานะแกร่ง
“การออกตราสารกึ่งทุนดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพราะระบบแบงก์ไทยต้องการเพิ่มทุนเป็นสำคัญ แต่เป็นการปรับแต่งเงินทุนให้มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เพียงพอ โดยเป็นการออกมาทดแทนตราสารเก่าที่หมดอายุไปด้วย” นายนริศกล่าว
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการออกตราสารที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ระยะข้างหน้าคงเห็นแบงก์ออกตราสารลักษณะนี้กันอีกไม่มากนัก หากไม่จำเป็นจริง ๆ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก