ห้องเม่าปีกเหล็ก

ค่าเงินบาทปีไก่วิ่ง "ซิกแซ็ก" เอกชนตั้งรับให้ดี...อย่าเพลินเก็งกำไร

โดย maiden
เผยแพร่ :
61 views

ปี 2560 น่าจะเป็นอีกปีที่จะยากลำบากสำหรับผู้ค้าขายระหว่างประเทศ ที่จะต้องเผชิญกับกระแสความผันผวนของค่าเงินบาทที่ขึ้นกับตัวแปรหลัก "เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ" หลังจากที่ตลาดทั่วโลกผิดหวังกับ "โดนัลด์ ทรัมป์" ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ได้ปราศรัยเมื่อคืนวันที่ 11 ม.ค. (ตามเวลาประเทศไทย) แต่กลับไม่พูดถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการภาษี การลงทุน

การแสดงท่าทีดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกต้องมาเฝ้าจดจ้องกับ "ทรัมป์" ที่จะมีการรับตำแหน่ง "ประธานาธิบดี" อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้อีกครั้ง และดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดวันที่ 4 ม.ค.อยู่ที่ 35.90 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าเล็กน้อยจากสิ้นปีที่แล้ว (30 ธ.ค. 2559) ที่ปิดตลาดอยู่ที่ 35.79 บาท/ดอลลาร์

 

ขณะที่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเปิดตลาด ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อเนื่องลงมาสุดถึง 35.95 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนวันที่ "ทรัมป์" จะปราศรัย แต่พอใกล้วันที่ "ทรัมป์" ปราศรัย ค่าเงินบาทเริ่มแกว่งขึ้นและแข็งค่าสุดที่ 35.27 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน

ทิศทางจากนี้ไปของค่าเงินบาทในมุมผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จึงยังคงให้น้ำหนักความเสี่ยงมาจากสัญญาณของ "สหรัฐ" เป็นสำคัญ โดยเฉพาะท่าทีของ "ทรัมป์" ในวันที่ 20 ม.ค.นี้

"กิตติ เจริญกิจชัยชนะ" ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจะมาจากประเด็นสหรัฐเป็นสำคัญ เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่อยู่ 35.90 บาท/ดอลลาร์ โดยเฉพาะหลังการปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์

"ปีนี้มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะผันผวนมากกว่าปีที่ผ่านมา และจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะซิกแซ็ก คือ จะอ่อนค่าและแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จึงประเมินกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทปีนี้ไว้ที่ 35.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ห่างกัน1.5-2 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเคลื่อนไหว 34.50-36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือห่างกัน 1.50 บาท"

กิตติตอกย้ำอีกว่า ช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว จะเห็นผู้ประกอบการทั้งขานำเข้าและขาส่งออกทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อฟอร์เวิร์ด (การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) หรือทำออปชั่น (ซื้อสิทธิในการจองเงินตราต่างประเทศในราคาที่กำหนดไว้) ดังนั้น ปีนี้จึงแนะนำให้ลูกค้าดูต้นทุนของธุรกิจตนเอง เช่น ต้องขายของที่ค่าเงินดอลลาร์เท่าไรจึงจะกำไร และปิดความเสี่ยงด้วยการทำเฮดจิ้งอย่างน้อย 50% และอย่าหวังเก็งกำไรค่าเงินบาท

ส่วน "นริศ สถาผลเดชา" ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปี 2560 อยู่ในฝั่งอ่อนค่า แม้ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (4-10 ม.ค. 2560) ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งมาจากปัจจัยระยะสั้นจากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไร จากที่แข็งค่าไปมากแล้วในก่อนหน้านี้

"ประเมินว่า การเทขายดอลลาร์สหรัฐจะไม่ลากยาวถึงสิ้นเดือน ม.ค. แม้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้เงินบาทมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยและประเทศในภูมิภาคนี้จะกลับมาฟื้นตัว ทำให้กระแสเงินไหลกลับเข้ามาในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเวลานี้ก็พอเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์ (กระแสเงินทุนต่างชาติ) ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยแล้ว เมื่อเปิดทำการเพียง 5 วันแรก (4-5 ม.ค. ถึง 9-11 ม.ค.) มีเงินต่างชาติไหลเข้าสุทธิแล้ว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นซื้อหุ้นสุทธิ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และซื้อพันธบัตรสุทธิ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ"


"นริศ" กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ กระแสเงินที่เข้าไปลงทุนในจีนที่ซ่อนความเสี่ยงบางอย่างเอาไว้ สังเกตได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจีนที่อยู่ระดับต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูง (Search for Yield) ในประเทศไทย ซึ่งมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกินระดับเสี่ยงที่แท้จริง และหากมีการเทขายทำกำไรออกมา อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดเงินตลาดทุนไทย และอาจเกิดการปรับฐานของค่าเงินบาทที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายได้ด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทปี 2560 อยู่ที่ 35.50-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีนี้มีโอกาสแตะ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี รายงานข้อมูลค่าเงินบาทเคลื่อนไหวของปี 2559 ว่า ต้นปี (4 ม.ค. 2559) ค่าเงินบาทเปิดตลาดอยู่ที่ 36.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างปีแข็งค่าสูงสุดอยู่ที่ 36.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปิดตลาดสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 35.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ "จิติพล พฤกษาเมธานันท์" นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) มองว่า ภาพรวมของทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 1/2560 ยังคงอยู่ในช่วงอ่อนค่า แม้จะไม่ได้อ่อนค่ามากเหมือนสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ โดยประเมินว่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"เราคาดว่าสิ้นปีนี้เงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าจากช่วงต้นปี เพราะอาจมีปัจจัยเรื่องนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจไม่ได้ทำได้อย่างที่ตลาดคาด ขณะที่ภาพรวมการค้าโลกก็ยังไม่น่าเติบโตเร็วนัก"

ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่ผู้ทำการค้าโลกจะต้องรับมือกับภาวะตลาดเงินที่เคลื่อนไหวเร็วกว่าปีที่แล้ว


maiden