ห้องเม่าปีกเหล็ก

“TP Logistics” ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าในไทย กำลังเข้าตลาดหุ้น

โดย ฮ นกฮูก
เผยแพร่ :
571 views

“TP Logistics” ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าในไทย

กำลังเข้าตลาดหุ้น เพื่อลุยขยายกองรถไปสู่ EV

 

.

คอลัมน์ Next IPO ประจำวันอังคาร เจอกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้ Wealthy Thai จะพามาทำความรู้จักกับ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL ที่กำลังมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด

.

สำหรับ TPL เป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย ทั้งภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดสาขาและเปิดรับตัวแทนที่ให้บริการเป็นจุดรับของจากลูกค้าทั่วไป (Drop Point) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (C2C) และได้ขยายขอบเขตการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจสู่รายย่อย (B2C) ในเวลาต่อมา

.

สำหรับ การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B) รับสินค้าจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายส่ง รวมถึงหน่วยงานราชการไปส่งยังจุดหมายปลายทาง ส่วนการจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (C2C) เป็นการให้บริการจัดส่งโดยที่ลูกค้าจะต้องเป็นผู้นำสินค้าหรือสิ่งของที่ต้องการส่งมาให้แก่บริษัทที่จุดให้บริการซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 120 แห่งทั่วประเทศ โดยบริษัทมีการเปิดแฟรนไชส์เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้วย

.

ส่วนการจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (B2C) เป็นการให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของจากภาคธุรกิจเช่นเดียวกับกลุ่ม B2B แต่จะเป็นการจัดส่งสู่ลูกค้าปลายทางที่เป็นผู้บริโภคปลายทาง (Customer) แทนการส่งถึงสาขาหรือร้านค้าของกลุ่มธุรกิจต่างๆ

.

จากจุดเริ่มต้นของการให้บริการในฐานะผู้ประกอบการขนส่งขนาดเล็กที่มุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่จัดส่งสินค้าตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก บริษัทจึงมีความชำนาญในการจัดส่งสินค้าในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายภายใต้ข้อกำหนดของลูกค้า

.

โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก (Overweight) หรือของที่มีขนาดใหญ่ (Oversize) หรือมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป (Odd size) ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000 - 600,000 ชิ้นต่อเดือน และสามารถให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและรายย่อย มีจุดให้บริการกว่า 120 แห่งทั่วประเทศทั้งในรูปแบบสาขาของบริษัทและแฟรนไชส์ของบริษัท

.

ขณะที่การบริหารงานของบริษัทที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มคุณเฉลิมชัย จีนะวิจารณะ (กลุ่มคุณเฉลิมชัย) ซึ่งได้เริ่มเข้ามาลงทุนโดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และซื้อหุ้นเพิ่มทุนในช่วงปี 2551 เนื่องจากเล็งเห็นว่าธุรกิจขนส่งสินค้ามีโอกาสเติบโต และขยายไปยังธุรกิจต่อเนื่องได้อีกมาก ตามการเติบโตของประเทศ จึงได้เริ่มเข้ามาลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 37.87 ของทุนจดทะเบียน 20.60 ล้านบาท และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนกลุ่มคุณเฉลิมชัยมีสัดส่วนถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียน 70.00 ล้านบาทในช่วงปี 2559

.

จากนั้นในปี 2564 บริษัทได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 202.00 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่กรรมการ และผู้บริหาร รวมถึงผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่สนใจและมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัท ส่งผลให้กลุ่มคุณเฉลิมชัยมีสัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือร้อยละ 80.34 ของทุนจดทะเบียน 202.00 ล้านบาท

.

ต่อมา ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอีกครั้งโดยบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการให้ซื้อหุ้นของบริษัทจาก Equity gateways Limited ซึ่งได้รับโอนหุ้นมาจากคุณเฉลิมชัย จีนะ และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 2 ราย รวมเป็นจำนวน 140,070,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.67 ของทุนจดทะเบียน 202.00 ล้านบาท

.

โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนคือการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และผลตอบแทน กระจายความเสี่ยงในการลงทุน และก่อให้เกิดการผนึกกำลัง (Synergy) ระหว่างบริษัทต่างๆ ภายในกลุ่มของอควา เนื่องจากเล็งเห็นว่าธุรกิจของบริษัทสามารถเพิ่มขีดความสามารถและขยายขอบเขตการให้บริการของกลุ่มอควาในด้านของธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าได้

.

ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน กลุ่มครอบครัวจีนะวิจารณะจะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 36.25 และ AQUA จะถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 26.73 ของทุนจดทะเบียน 262.00 ล้านบาท

.

TPL วางเป้าหมายภายใน 3 ปี จะเป็นผู้นำในการให้บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่ง การจัดการด้านคลังสินค้า การกระจายสินค้า รวมถึงให้บริการในการเชื่อมโยงและรับช่วงต่อการขนส่งในแต่ละรูปแบบของการขนส่งสินค้าและสิ่งของจากต้นทางจนถึงจุดหมายปลายทาง โดยสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด

.

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัทนั้น บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะลงทุนซื้อที่ดิน เพื่อสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Hub) เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ภูมิภาค จ.นครสวรรค์, ศูนย์ภูมิภาค จ. นครราชสีมา และศูนย์ภูมิภาค จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและกระจายในเขตภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงให้บริการคลังพักสินค้าและแพคสินค้าพร้อมจัดส่ง

.

รวมทั้งบริษัทมีแผนที่จะลงทุนในศูนย์กระจายสินค้า (DC) ทดแทนสถานที่ปัจจุบันอีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้ากรุงเทพฝั่งเหนือ และศูนย์กระจายสินค้ากรุงเทพฝั่งตะวันตก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า อีกทั้งเพิ่มจุดให้บริการ (Drop Point) แก่ลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการ

.

ประกอบกับการลงทุนในยานพาหนะทั้งรถบรรทุก 10 ล้อ และ 6 ล้อ ซึ่งใช้สำหรับการขนส่งในเส้นทางระหว่างภูมิภาค (Line Haul) เป็นหลัก และรถกระบะ 4 ล้อ ซึ่งใช้สำหรับการกระจายสินค้าสู่ผู้รับปลายทาง เพื่อให้บริษัทมีกองยานพาหนะที่สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

.

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะปรับกองยานพาหนะของบริษัทด้วยการนำรถบรรทุกซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ภายในปี 2566 โดยเริ่มจากเส้นทางในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีแผนการลงทุนในยานพาหนะประเภทรถบรรทุกซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า (รถEV) ทั้ง รถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อใช้เป็นรถที่วิ่งตามเส้นทางหลัก (รถแผน หรือ Line Haul) ภายในภาคกลาง และรถกระบะ 4 ล้อเพื่อใช้เป็นรถกระจายในกรุงเทพมหานครและตามเมืองใหญ่ในภาคกลาง เพื่อลดต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 


ฮ นกฮูก