เยน และ ดอลลาร์
พลวัต 2016
วิษณุ โชลิตกุล
นานจนเกือบลืมไปแล้วว่า อิทธิพลจากคำพูดของ มิสเตอร์เยน หรือ นายเอสิเกะ ซากากิบาระ นั้น รุนแรงแค่ไหน
เกือบ 20 ปีก่อน มิสเตอร์เยน ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังที่ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินเยน เคยเขย่าตลาดค่าเงินทั่วโลกสำหรับความเห็นแต่ละครั้งของเขาจนเป็นที่เลื่องลืออย่างมาก ก่อนที่จะหายหน้าไปเพราะเกษียณอายุจากงานจากเงื่อนเวลา
วันนี้ มิสเตอร์เยนกลับมาอีกครั้ง โดยไม่มีตำแหน่งแห่งที่รองรับอะไรเลย นอกจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ Aoyama Gakuin University แต่ยังมีคนเงี่ยหูฟังความเห็นอันแหลมคมของเขาอีกครั้ง
เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ของอเมริกันว่า อนาคตค่าเงินเยนจะต้องแข็งค่ามากขึ้นอีกเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์ และเงินสกุลสำคัญของโลก เพราะเหตุผลสำคัญคือ เขามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้น กำลังจะหมดเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไป
คำพยากรณ์ที่นักการเงินญี่ปุ่นและทั่วโลกพากันสยดสยองมากที่สุดคือ ความเห็นของมิสเตอร์เยนที่ระบุว่า เงินเยนจะค่อยๆ แข็งค่าลงไปต่อเนื่องจนถึงระดับ 90 เยนต่อดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2016
ตามความเห็นของมิสเตอร์เยน หลักหมุดสำคัญในอนาคตอันใกล้ที่จะชี้ขาดคือ ระดับค่าเงินเยนที่จะหลุดลงไปที่ระดับ 95 เยนต่อดอลลาร์ก่อน แล้วจะค่อยๆ ขยับตัวแข็งขึ้นตามขีดความสามารถที่อ่อนแอลงของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีระดับเงินเฟ้อบรรลุเป้าหมาย 2%
จุดอ่อนของธนาคารกลางญี่ปุ่นในความเห็นของมิสเตอร์เยนอยู่ที่การแบกภาระอุ้มพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมากถึง 36% ของพันธบัตรที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกจำหน่ายทั้งหมด ซึ่งทำให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มพูนมากขึ้น และมองเห็นว่าคำอ้างของนายคุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่บอกว่า นโยบายการเงินของธนาคารนั้นไร้ขีดจำกัด เป็นเพียงข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอ
คำพูดของมิสเตอร์เยน อาจจะไม่มีน้ำหนักเพียงพอ แต่ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ล่าสุด ที่ปรับลดอัตราการขยายตัวของสหรัฐลง 0.6% สู่ระดับ 1.6% ในปีนี้ และลดลง 0.3% สู่ระดับ 2.2% ในปีหน้า หลังจากที่มีการขยายตัว 2.6% ในปีที่แล้ว ก็สอดรับกับมิสเตอร์เยนอย่างดียิ่ง
ข้อมูลของ IMF ที่ระบุว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐทำให้อิทธิพลของสายเหยี่ยวในเฟดที่พยายามผลักดันให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปลายปีนี้ มีน้ำหนักลดลงไปอย่างมาก เพราะการขึ้นดอกเบี้ย จะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางกลับย่ำแย่มากลงไปอีกครั้งได้
หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่ตามมาคือ การแข็งค่าของดอลลาร์ รวมถึงการใช้จ่ายด้านทุนที่อ่อนแอ และภาวะผันผวนในตลาดการเงินในช่วงต้นปี
ในขณะที่มุมมองของ IMF ต่อสหรัฐในเชิงลบ แต่กลับมีมุมมองเชิงบวกต่อจีน ที่คาดว่าในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 6.6% และปีหน้าที่ระดับ 6.2% และเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ และปีหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นทางด้านการคลัง รวมทั้งจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นั่นหมายความว่า IMF ก็มีมุมมองเช่นเดียวกันกับมิสเตอร์เยนว่า ค่าเยนจะต้องแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่จะอ่อนตัวลง
มุมมองทั้งสองนี้ ช่วยคลายกังวลที่ว่าเฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากเฟดไม่ดำเนินการดังกล่าว โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของโลกจะต่ำติดพื้นต่อไป และเงินทุนส่วนเกินจะไหลกลับมาที่ตลาดทุนในเอเชียเพื่อทำแครี่เทรด จะยังคงดำเนินต่อไปอีกยาวนานพอสมควร
ผลพวงของการทำแครี่เทรดนี้ น่าจะส่งผลดีต่อบรรดา 5 ชาติในอาเซียนได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ IMF ก็คาดว่าจะมีการขยายตัว 4.8% ในปีนี้ และ 5.1% ในปีหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้า
ความเห็นของมิสเตอร์เยน และ IMF นั้น ดูจะเบาลงไปเมื่อล่าสุด ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ข้ามชาติ GCI Asset Management Inc. ออกมาฟันธงว่า มีโอกาสที่ค่าเงินเยนจะแข็งขึ้นไปที่ระดับ 75 เยนต่อดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจัยแวดล้อม เนื่องจากความล้มเหลวของธนาคารกลางญี่ปุ่น จะทำให้เงินเยนกลายเป็นแหล่งหลบภัยที่แข็งแกร่งในอนาคตแทนดอลลาร์ที่จะอ่อนแอลงไป
ทัศนะที่นำเสนอนี้ ขัดแย้งกับจารีตความเชื่อเก่าแก่ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่มีวันยอมให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีก
ที่ผ่านมานายคุโรดะ พูดทำนองเดียวกันซ้ำซาก โดยไม่ทำอะไรเลยเป็นชิ้นเป็นอัน นับตั้งแต่ค่าเงินเยนสูงกว่า 103 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งค่าเงินเยนอ่อน ที่เคยเป็นหนึ่งในอาวุธสำหรับสร้างการแข่งขันการค้ามายาวนานของญี่ปุ่น อาจจะกลายเป็นฝันร้ายแทน แบบที่เคยเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงโรงแรมพลาซ่าในนิวยอร์ก ค.ศ. 1985
ข้อตกลงพลาซ่า เคยทำให้เงินเยนแข็งค่ารุนแรงจากระดับเหนือ 240 เยนต่อดอลลาร์ก่อนข้อตกลง เหลือเพียงแค่ 120 เยนต่อดอลลาร์ภายใน 2 ปี ทำให้กลุ่มทุนญี่ปุ่นเจอปัญหา 2 ด้านพร้อมกัน ด้านหนึ่งต้นทุนการผลิตของโรงงานในประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่สามารถทานทนต่อไป กับอีกด้านกำลังซื้อของค่าเงินเยนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
ยังไม่มีใครรู้ว่า ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน แต่หากเกิดขึ้นจริงก็อาจจะเป็น “2 เด้ง” ของประเทศอาเซียนอีกเช่นกัน แต่หากจะเกิดขึ้นจริง ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกก็อาจจะวุ่นวายปั่นป่วนอีกครั้ง
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก