ห้องเม่าปีกเหล็ก

ข้อผิดพลาดจากการใช้เครื่องมือทางเทคนิค

โดย slark
เผยแพร่ :
52 views

ที่มา Money Channel

“สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” สำนวนไทยที่สอนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แม้ว่าจะเชี่ยวชาญขนาดไหน หากไม่ระมัดระวังอาจจะพลาดพลั้งได้ ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนระดับเทพ

หากพูดถึงการใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อตัดสินใจซื้อขายหุ้นแล้วเกิดความผิดพลาด เช่น เก็งกำไรหุ้นพื้นฐานดีโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เนื่องจากระยะสั้นราคาหุ้นจะขึ้นกับอารมณ์ของนักลงทุนในช่วงนั้นๆ

ดังนั้น การเก็งกำไรบนหุ้นพื้นฐานดีจึงเป็นการจำกัดโอกาสของนักลงทุน ทำให้นักเก็งกำไรปิดโอกาสที่จะเก็งกำไรในหุ้นที่เทคนิคแนวโน้มดีมาก แต่ไม่ใช่หุ้นพื้นฐานดีหรือราคาอาจสูงมากกว่ามูลค่าที่แท้จริง

อีกทั้ง การเก็งกำไรบนหุ้นพื้นฐานดี ทำให้นักลงทุนมักจะไร้วินัยในการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของนักเก็งกำไรยิ่งกว่าการได้กำไร ก็คือ การปกป้องเงินลงทุนของตัวเองและตัดขาดทุน โดยการตั้งจุดตัดขาดทุนตั้งแต่ก่อนจะเข้าซื้อหุ้น แต่นักเก็งกำไรบนหุ้นพื้นฐานดีมักจะไม่มีการตั้งจุดตัดขาดทุน เพราะคิดว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดีหรืออาจจะมีเงินปันผลด้วย ทำให้ราคาปรับลงมาเท่าไรก็ไม่ยอมขาย ตรงกันข้าม เมื่อเห็นราคาหุ้นปรับลดลง มักจะซื้อเฉลี่ยเพราะคิดว่าราคาหุ้นถูกและทำให้ต้นทุนต่ำ

การเก็งกำไรโดยไม่มีจุดตัดขาดทุน และตลาดเป็นขาลงแล้วยังซื้อเฉลี่ย มีแต่ขาดทุนกับขาดทุน

นอกจากนี้ การใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ซับซ้อนจนเกินไป ไม่เรียบง่ายพอที่จะสร้างเป็นระบบได้ก็เกิดความผิดพลาดได้ เช่น ใช้ Indicator ในการวิเคราะห์จำนวนมากพร้อมกับวิเคราะห์เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อีกหลายเส้น ประกอบกับการใช้ทฤษฎีคลื่น รวมทั้งดูรูปแบบแท่งเทียนและวอลุ่มเข้ามาประกอบด้วย

การทำแบบนี้เสมือนกับว่านักลงทุนมีความรู้ทางเทคนิคเยอะและน่าจะวิเคราะห์ได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทำให้เกิดความสับสนและมี Bias ในการตัดสินใจ

อีกทั้งการใช้เครื่องมือทางเทคนิคเก็งกำไรหุ้นหลายตัวจะไม่เป็นผลดี เพราะการเก็งกำไรควรจะต้องตั้งจุดตัดขาดทุน ดังนั้นการเก็งกำไรหุ้นเยอะจนเกินไป เมื่อเกิดสัญญาณต้องตัดขาดทุนหรือสัญญาณขายทำกำไรในหุ้นหลายตัวพร้อมกัน อาจจะทำได้ไม่ทันเวลา หรือไม่เห็นสัญญาณขายที่เกิดขึ้นในหุ้นบางตัว

อย่าลืมว่าการลงทุนแบบเก็งกำไรในหุ้นหลายตัว นักลงทุนดูแลพอร์ตได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งจะทำให้กำไรขาดทุนในการลงทุนแต่ละตัวหักล้างกันไป ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่มีประสิทธิภาพ

การเก็งกำไรในหุ้นหลายตัวแสดงว่านักลงทุนมองโอกาสทองไม่เป็น ไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนน่าลงทุน ที่สำคัญเก็งกำไรหุ้นหลายตัวแทบจะไม่มีจุดตัดขาดทุน
แตกต่างไปการใช้เครื่องมือทางเทคนิควิเคราะห์หุ้นเพียงตัวเดียว หรือไม่เกิน 2-3 ตัว หากผิดพลาดก็เพียงตัดขาดทุนในวงเงินจำกัดอย่างมีวินัย และหากราคาหุ้นเป็นไปตามที่วิเคราะห์จะทำให้ได้ผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย

และแน่นอนเครื่องมือทางเทคนิคจะใช้ได้ดีกับหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหนาแน่น เช่น หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี นักลงทุนนิยมลงทุน ซึ่งหุ้นลักษณะนี้ถ้าใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วโอกาสเพี้ยนมีน้อย แต่ถ้าเป็นหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำๆ การวิเคราะห์ทางเทคนิคอาจจะใช้ได้ลำบาก

โดยทุกๆ เครื่องมือจะมีความเสี่ยง มีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องและความผิดพลาด เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เช่น มีข่าวลือเข้ามาในตลาด อาจจะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นหรือปรับลงอย่างทันที สำหรับนักลงทุนที่ใช้เครื่องมือทางเทคนิคเพื่อวิเคราะห์หุ้นและใช้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อขาย คงต้องท่องให้ขึ้นใจว่าไม่มีเครื่องมือไหนที่วิเคราะห์หุ้นแล้วถูกต้องแม่นยำสมบูรณ์แบบจนไม่มีคำว่า “ผิดพลาด” และเกิดความล้มเหลวในการลงทุน

ดังนั้น นอกเหนือจากความผิดพลาดของเครื่องไม้ เครื่องมือแล้ว ความเสี่ยงของการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่นักลงทุนมักจะละเลยและมักจะโทษเครื่องมือเสมอหากมีความผิดพลาด ก็คือ ผู้ที่นำเครื่องมือทางเทคนิคมาใช้ “ไม่เก่ง” แต่กลับเชื่อมั่นและหลงตัวเองว่า “เก่ง” แล้วก็นำไปใช้ในการลงทุน

พูดง่ายๆ ความเสี่ยงจากการลงทุนที่แก้ไม่ตก คือ การไม่มีวินัย และมีความโลภครอบงำ


slark