ห้องเม่าปีกเหล็ก

กนง. ชี้ชะตา ’ดอกเบี้ย’ ลดช้าอาจต้อง ‘ลดแรง‘

โดย INVESTING
เผยแพร่ :
100 views

กนง. ชี้ชะตา ’ดอกเบี้ย’ นักเศรษฐศาสตร์เตือน ลดช้าอาจต้อง ‘ลดแรง‘

By วิชชุลดา ภักดีสุวรรณ

 

ลุ้นกนง. รอบนี้ ชี้ชะตานโยบายการเงิน ท่ามกลางความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจอ่อนแรง นักเศรษฐศาสตร์เสียงแตก “ลด-คงดอกเบี้ย เตือนลดช้าระวังต้อง “ลดลึก”

 

 

สถานการณ์ “เศรษฐกิจไทย” กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายใน ภายนอกประเทศที่รุมเร้า ทำให้การตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังหลังจากนี้ มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะ “นโยบายการเงิน” ที่เปรียบเสมือน “กองหน้า-กองหลัง” ทำหน้าที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เติบโตหรือรอดพ้นจากวิกฤติไปได้

ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (25 มิ.ย.2568) จึงน่าจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า กนง. จะทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ผ่านการ “ลดดอกเบี้ย” หรือการเลือก “คงอัตราดอกเบี้ย” เพื่อรอดูสถานการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ท่ามกลางปัญหาถาโถมที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตลาดส่วนใหญ่ขณะนี้คาดการณ์ว่า กนง. จะพิจารณา “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” หลังลงมาต่อเนื่อง 2 ครั้งติดต่อกัน ทำให้ครั้งนี้อาจรอและดู หรือ Wait and See โดยอาจพิจารณาปรับลดอีกครั้งใน เดือน ส.ค.

แต่มุมเขาเอง มีมุมมองที่แตกต่าง โดยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวที่มีความชัดเจนมากขึ้นปัจจุบัน รวมถึง “เงินเฟ้อ” ที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน อาจมีความจำเป็นที่เศรษฐกิจไทยต้องการมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมและต่อเนื่อง

ดังนั้น การ Wait and See อาจทำให้ประเทศไทย “เสียโอกาส” อีกทั้งกว่าที่นโยบายการเงินจะเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลา ดังนั้นมองว่า เหตุการณ์วันนี้ไม่สามารถรอได้ จึงมองว่ามีเหตุผลสมควรให้กนง.พิจารณา “ลดดอกเบี้ย” ลงในรอบนี้ได้

แต่ปัจจัยหลัก มองว่า เป้าประสงค์การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นเพียงการช่วย “ประคอง” เศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ ไม่ได้ลดเพียงเพราะต้องการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ดังนั้น ผลอาจช่วยประคองเท่านั้น เพราะการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงไม่ส่งผลให้สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

หากถามว่า ปัจจุบันนโยบายการเงินถือเป็น “พระเอก” หรือไม่ในการสนับสนุนท่ามกลางสถานการณ์การเมืองมีความไม่แน่นอน ยังมองว่านโยบายการเงินเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือมีหน้าที่หลักในการช่วยประคองเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ได้เป็นพระเอก ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

“ดังนั้นหน้าที่ของนโยบายการเงินทำได้ดีที่สุด คือ การไม่เป็นผู้ร้ายซ้ำเติมเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่า หากไม่ลดดอกเบี้ยแล้วจะเป็นผู้ร้าย เพราะสิ่งที่เราต้องการ คือคนที่มีบทบาทมาช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประคองตัวอยู่ได้ และต้องยอมรับว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยเราขาด “พระเอก” จริงๆ เพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลงมีชัดเจนขึ้น Downside Risk เพิ่มขึ้นทุกวัน”

หากไม่ “ลดดอกเบี้ย” ครั้งนี้ แล้วไปลดดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อมีความชัดเจนในประเด็นต่างๆ หรือรอไปลดในเดือนส.ค. มองว่า กนง. อาจต้องระวังว่า การลดช้า อาจทำให้กนง.ต้อง “ต้องลดลึก” ให้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นั่นหมายความว่า แทนที่จะจบวงจรการลดดอกเบี้ยที่ 1.25% อาจมีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลงไปต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่กนง.ต้องเตรียมรับมือให้ดี

“ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ Policy Space ของไทยเริ่มมีจำกัดแล้ว แม้จะมีพื้นที่เหลือให้สามารถลดดอกเบี้ยได้ แต่พื้นที่จำกัดลง ดังนั้นต้องรีบใช้ เพราะหากใช้ช้าเราอาจต้องทำมากกว่าที่คิด”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า สถานการณ์วันนี้ ค่อนข้างคาดเดายาก หรือ Tricky ขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ดังนั้น การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายจึงพิจารณายากขึ้น

แต่หากให้พิจารณามองว่า โอกาสที่กนง. จะ “คงดอกเบี้ย” มีมากกว่าการ “ลดดอกเบี้ย” เนื่องจากที่ผ่านมาการสื่อสารของธปท. และกนง. มักจะเน้นย้ำถึงการรักษา policy space การรักษาพื้นที่นโยบายการเงิน
รวมถึง ความต้องการลดดอกเบี้ยตอนที่เห็นผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งก่อนหน้านี้ ธปท. ยังเน้นย้ำว่า ปัจจัยความเสี่ยงสำคัญคือเรื่อง Trump tariff มาตรการภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้น หากยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากประเด็นนี้ จึงเป็นไปได้ที่ กนง.จะ “เก็บกระสุน” ไว้ก่อน โดยใช้เหตุผลเดิม คือ ตัวเลขส่งออกปัจจุบัน ยังไม่ถือว่าแย่มากนัก เหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

แต่ก็ไม่ได้ “ปิดประตูในการลดดอกเบี้ย” มองว่ายังมีโอกาสอยู่ เพราะประเด็นที่ห่วงที่สุด คือ นักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และล่าสุดได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้แย่กว่าที่คาดไว้

หากพูดถึงบทบาทนโยบายการเงิน จะกลายมาเป็นพระเอกหรือไม่ มองว่า นโยบายการเงินไม่สามารถเป็นพระเอกได้อย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับที่ กนง. สื่อสารมาต่อเนื่องว่า นโยบายการเงินเปรียบเหมือน “กองหลัง” ของเศรษฐกิจไทย 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของนโยบายการเงินหลังจากนี้ จะต้องมีบทบาทมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาวันนี้ อาจไม่ได้มาจากดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ทำได้ไม่เต็มที่
หากดูการลดดอกเบี้ยของ กนง.ที่ผ่านมาในปีนี้ 0.50% มาอยู่ที่ 1.75% ในปัจจุบัน

แต่ธนาคารพาณิชย์ กลับปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพียง 5 basis points เท่านั้น การส่งผ่านไม่ค่อยมากนัก และสองเห็นธนาคารพาณิชย์ยังมีความกังวลจริงๆ จากภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อที่ผ่านชะลอลงต่อเนื่อง หรือบางธนาคาร หรือทั้งระบบก็ยังคงติดลบอยู่

จุดเน้นนโยบายการเงินจึงต้องมุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกส่งผ่านนโยบายการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อมีการลดดอกเบี้ยหรือผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว จะมีกลไกส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจได้มีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และต้องกลับไปแก้ประเด็นที่ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ด้วย จากความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ ว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปนั้นจะมีความเสี่ยงหรือไม่ สถานการณ์นี้จึงเหมือน “งูกินหาง” เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย พอแบงก์ไม่กล้าปล่อย เศรษฐกิจก็ยิ่งไม่ดี

นโยบายการเงินเป็นพระเอกไม่ได้ เพราะผู้ว่าชอบพูดว่า นโยบายการเงินเปรียบเหมือนกองหลัง แต่บทบาทต้องเยอะขึ้น และหนึ่งในประเด็นที่ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาเพราะนโยบายการเงินทำไม่ได้เต็มที่”

โดยมองว่า ธปท. อาจต้องพิจารณาถึงเครื่องมืออื่นในการช่วยมากขึ้น เช่น การโฟกัสไปที่การให้ incentive ของแบงก์ในการปล่อยกู้ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมไปถึงการจัดการเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ที่มีภาระเยอะ ซึ่งการปฏิรูปภาพใหญ่เหล่านี้จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ธนาคารได้

“ในต่างประเทศ เช่น ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำคือ ให้แรงจูงใจกับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้มากขึ้น โดยให้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง มาตรการนี้มีความคล้ายคลึงกับ Soft Loan ในประเทศไทย หรือการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยคลายความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ธนาคาร และสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยกู้เพิ่มขึ้น เพราะหากแบงก์ยังไม่มั่นใจปล่อยกู้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เครดิตที่จะเข้าสู่ระบบจะยิ่งชะลอลงเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจหมุนช้าลงไปอีก”

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เชื่อว่ากนง. น่าจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์โดยรอบ รอดูความชัดเจนจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอลดูเหมือนจะเริ่มสงบลงแล้ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลดแรงกดดันในการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงภายนอก

หรือความเสี่ยงจากการเมืองภายใน ที่ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันกลับมาจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศมากกว่าประเด็นสงครามการค้าและภาษี ที่ยังคงไม่คลี่คลาย เหล่านี้ทำให้กนง. เลือกรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า เหตุผลที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยยังคงมี แม้จะมีปัจจัยที่ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ แต่การลดดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ เพราะความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจขณะนี้มีมากขึ้น

ดังนั้น หากถามว่า นโยบายการเงินต้องเป็นพระเอกในช่วงเวลานี้หรือไม่ มองว่า บทบาทของนโยบายการเงินแม้จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่การลดดอกเบี้ยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้
อย่างไรก็ตาม มองว่า หาก กนง. ตัดสินใจไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ครั้งหน้ามีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลงได้ในเดือนส.ค. หรือช่วงที่เหลือของปีนี้ เมื่อมีความชัดเจนในประเด็นเรื่องภาษีทรัมป์

บทบาทของนโยบายการเงิน แม้จะเข้ามาช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การลดดอกเบี้ยก็ไม่สามารถแก้ไขหรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ดังนั้นครั้งนี้ไม่ลด ครั้งหน้าก็ต้องลดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง”

 

ที่มา..  https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1186453

 


INVESTING