Correlation ประโยชน์ในการจัด Portfolio
ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน นักการเงิน นักลงทุน มีความพยายามที่จะอธิบายตลาดหุ้นโดยอาศัยหลักการทางการเงินมากมาย รวมทั้งนำเอาความรู้จากเศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอีกหลากหลายศาสตร์ในเชิงวิทยาศาสตร์มาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในตลาดหุ้น โดยเฉพาะหลักการทางสถิติก็ถูกนำมาประยุกต์เพื่ออธิบายในหลายๆครั้ง วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงค่า Correlation หรือ ค่าสหสัมพันธ์ ในภาษาไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการนำมาใช้เพื่อคัดเลือกหุ้นที่เหมาะสมเข้ามาใน Portfolio โดยเฉพาะ Portfolio ของกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่มาก
สหสัมพันธ์ (Correlation) เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เช่น การหาความสัมพันธ์ ระหว่างอายุกับน้ำหนัก อายุกับรายได้ ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรว่ามีมากน้อยขนาดไหน จะใช้ค่า Correlation เป็นค่าวัดความสัมพันธ์ โดยใช้วิธีการทางสถิติหลากหลายวิธี การจะใช้ค่าสถิติตัวใดขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวแปร และจะต้องมีการทดสอบนัยสำคัญก่อน จึงจะสรุปว่าตัวแปรนั้นๆสัมพันธ์กันหรือไม่ โดยการอ่านผลจะอ่านเพียงว่าทั้งสองตัวมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ถ้าสัมพันธ์กันแปรแปรผันตามกันหรือแปรผกผันกันเป็นค่ามากน้อยเพียงใด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวแปรใดเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรตามได้ โดยค่า Correlation จะมีค่าระหว่าง -1 ถึง 1
ในแวดวงการลงทุนนั้นก็ได้นำประโยชน์ของ Correlation มาใช้ในการช่วยจัด Portfolio ด้วยโดยเพื่อที่จะให้ได้ Optimize portfolio แต่การ Optimize portfolio นั้นไม่ใช่เป็นการทำเพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่เป็นการลดความผันผวนของผลตอบแทน ด้วยสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม โดยหุ้นหรือสินทรัพย์ทางการเงินตัวใดมีความผันผวนจากผลตอบแทนเฉลี่ยน้อย คือ หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ในที่นี้คือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้นเท่านั้นไม่รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ
“สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์” หรือ “Correlation” ในกรณีของ Investment หมายถึง ค่าความสัมพันธ์ระหว่าง หลักทรัพย์แต่ละคู่ เช่น Equity index กับ 10yr UST หรือ ราคาหุ้น ADVANC กับ INTUCH หรือ ราคาหุ้น BEC กับ WORK ค่า Correlation นั้นมีค่าตั้งแต่ -1.0 ถึง +1.0 และเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา
Correlation ที่เข้าใกล้ “ +1 ” หมายความว่า ราคาหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้นคู่นั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน และในปริมาณที่ใกล้คียงกันมาก
Correlation ที่ใกล้เคียง “ -1 ” หมายความว่า ราคาหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้นคู่นั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามกัน แต่ในปริมาณที่ใกล้คียงกันมาก เช่น หลักทรัพย์ A เปลี่ยนแปลง “ +0.7% ” ในขณะที่ หลักทรัพย์ B เปลี่ยนแปลง “ -0.8% ” ส่วนกรณีของ Correlation ใกล้เคียง “ศูนย์” นั้น หมายถึง หลักทรัพย์ทั้งสองแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
หลักการทั้งหมด เพื่อลดความผันผวนของ Portfolio return ได้โดยการเพิ่มคู่หลักทรัพย์ที่มี Negative correlation (สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่เป็นลบ) เข้าไปใน Portfolio เพื่อทำให้ ความผันผวนของราคามีค่าต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ Expected return ที่ต้องการ มีค่าเท่าเดิม
- Yoo -
อ้างอิง : fundmanagertalk.com , thaipvd.com