FTA: โอกาสทางการค้า... ที่มาพร้อมต้นทุน
ในโลกปัจจุบัน การแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศ
ผู้ผลิตไทยจำนวนมากกำลังเผชิญการแข่งขันจากทั่วโลก และขณะเดียวกันก็มีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศมากขึ้น
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปิดประตูการค้า คือ ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)
FTA เป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ อาจเป็น 2 ประเทศ (ทวิภาคี) หรือเป็นกลุ่มประเทศ (พหุภาคี) ที่จะร่วมมือขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีศุลกากรและไม่ใช่ภาษีศุลกากร
ทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง และมีโอกาสแข่งขันได้มากขึ้น

ข้อมูลปี 2567 ระบุว่า ไทยใช้สิทธิ FTA ไปแล้วกว่า 83.81% ของมูลค่าสินค้าที่มีสิทธิใช้ได้ โดยเฉพาะกับเปรู (TPCEP, 125.48%) ชิลี (TCFTA, 99.72%) และจีน (ACFTA, 89.74%)
ขณะเดียวกัน ยังมีบางตลาดที่ไทยสามารถเพิ่มการใช้สิทธิ FTA ได้อีกมาก เช่น ญี่ปุ่น (AJCEP, 4.91%) นิวซีแลนด์ (AANZFTA, 13.36%) และออสเตรเลีย (AANZFTA, 34.99%)
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยยังคงขยายตัวได้ในตลาดประเทศคู่ค้าที่ไทย เช่น
1. หมวดสินค้าเกษตร: ข้าว ยางพารา และไก่แปรรูป
2. หมวดสินค้าแปรรูป: อาหารทะเลกระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง และและผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ
3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม: เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง
FTA จึงไม่ใช่แค่ “ความตกลงระหว่างประเทศ” แต่คือ “กลไกทางเศรษฐกิจ” ที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
แม้ FTA จะช่วยขยายตลาดและลดต้นทุน แต่ก็สร้าง “โจทย์ใหม่” ให้ผู้ประกอบการจำนวนมากให้ต้องเร่งปรับตัว
เพราะการใช้สิทธิให้ได้ประโยชน์จริง กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไข
1. ขั้นตอนการขอใช้สิทธิที่ซับซ้อน
การใช้สิทธิ FTA ต้องมีเอกสารประกอบจำนวนมาก เช่น หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) ซึ่งต้องจัดทำล่วงหน้าให้ถูกต้องและครบถ้วน
2. การแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่ออัตราภาษีลดลง ไม่ใช่แค่สินค้าไทยที่ส่งออกได้มากขึ้น แต่สินค้าต่างประเทศก็เข้าสู่ตลาดไทยได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ทำให้บางอุตสาหกรรมในประเทศต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
3. อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers)
แม้จะผ่านเรื่องภาษีได้ แต่ยังต้องเผชิญกับกฎระเบียบเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการสิ่งแวดล้อม และมาตรการทางเทคนิค
4. ขาดข้อมูลตลาดเชิงลึก
โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค คู่แข่งท้องถิ่น หรือโครงสร้างราคา ทำให้ใช้ประโดยชน์จาก FTA ได้ไม่เต็มที่
5. ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
แม้จะลดต้นทุนทางภาษีได้ แต่หากค่าเงินบาทมีความผันผวน อาจกระทบต่อรายได้จากการส่งออก
ดังนั้น นโยบาย ต้องมีทั้ง “ส่งเสริม” ผู้ประกอบการที่พร้อมใช้สิทธิ FTA และ “สนับสนุน” ผู้ที่ต้องการเวลาปรับตัวให้ทันการแข่งขัน
การใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ จึงต้องมาพร้อมความเข้าใจในเงื่อนไข ความพร้อมของภาคเอกชน และนโยบายสนับสนุนที่ทันสถานการณ์
ในโลกที่การค้าไม่รู้จักพรมแดน ผู้ที่พร้อมที่สุด ย่อมมีโอกาสมากที่สุด
ที่มาข้อมูล: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์
.
เรื่องและภาพ: พรปวีณ์ ธรรมวิชัย Economist, Bnomics
════════════════
ที่มาเนื้อหา.. Bnomics by Bangkok Bank