ทุเรียน vs ทองคำ ราคาย้อนหลัง 10 ปี
.
ชอบกินผลไม้อะไรมากที่สุด? เชื่อว่า “ทุเรียน” คือ คำตอบของหลายๆ คน เพราะด้วยรสชาติ เนื้อสัมผัส และกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทั้งที่ชอบมาก แต่ก็มีโอกาสกินได้ไม่บ่อยนัก เพราะราคาค่อนข้างสูง
.
ข้อมูลจาก ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย พบว่า ราคาหน้าสวนของทุเรียนหมอนทอง ปี 2557 อยู่ที่ 34 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านมา 10 ปี ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 129 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 279% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาทองคำที่เติบโต 67% ซะอีก
.
สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาทุเรียนแพงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะ 80% ของผลผลิตทุเรียนจะถูกส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน พูดง่ายๆ คือ ผลผลิตทุเรียน 100 ลูก จะถูกส่งออกไป 80 ลูก เหลือให้คนไทยเพียง 20 ลูกเท่านั้น
.
และหากมองในภาพรวมของประเทศ ปี 2565 ทุเรียนทำเงินสะพัด 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เท่ากับ 6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.6% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการบริโภคทุเรียนที่เพิ่มขึ้น
.
ด้วยเหตุนี้ในระยะหลัง เราจึงมักเห็นเกษตรกรหรือนายทุนหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ด้วยผลตอบแทนด้านราคาที่สูงขึ้น และตลาดทุเรียนก็มีแนวโน้มเติบโต ทำให้ธุรกิจนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม "ผลตอบแทนสูง" ก็มักตามมาด้วย "ความเสี่ยงสูง" เช่นเดียวกัน
.
เราลองมาวิเคราะห์การทำธุรกิจทุเรียนดูก่อนดีกว่า ว่าไทยมีอะไรที่ต้องประเมินบ้าง โดยใช้หลัก “PESTEL” เหมือนกับการวิเคราะห์เพื่อเลือกลงทุนหุ้นสักตัวหนึ่ง
.
P: Political (ภาวะการเมือง)
.
ต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศนำเข้า อย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของทุเรียนไทย ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและพร้อมสนับสนุนการค้าระหว่างกันมากน้อยแค่ไหน?
.
E: Economic (ภาวะเศรษฐกิจ)
.
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ราคาสูง ดังนั้น การบริโภคทุเรียนจึงแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน หากภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา ก็ย่อมส่งผลต่อการบริโภคทุเรียนด้วยเช่นกัน
.
S: Social (ภาวะสังคม)
.
คนจีนนิยมทุเรียนไทยเพราะรสชาติอร่อย ทำให้ทุเรียนไทยมีราคาสูง เกษตรกรมีรายได้เยอะ แต่จากการที่จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากเวียตนามได้ จากข้อได้เปรียบด้านการขนส่งที่ใกล้จีน ทำให้ “ทุเรียนเวียดนาม” สามารถตัดผลแก่ 85–90% อันเป็นช่วงมาตรฐานทุเรียนสุกพอดี
.
ขณะที่ “ประเทศไทยระยะทางการขนส่งยาวนานหลายวัน” ทำให้ ล้งต้องตัดทุเรียนผลแก่ 75% กลายเป็นทุเรียนแก่ยังไม่ได้ที่ หรือเรียกว่า “ทุเรียนตึงอ่อน” ส่งผลต่อรสชาติความอร่อยไม่ครบสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หนำซ้ำ “ล้งและเจ้าของสวน” ก็มักให้ตัดผลแก่ระดับ 75% นี้ที่จะได้น้ำหนักดี “แต่คุณภาพสินค้าต่ำ”
.
T :Technology (เทคโนโลยี)
.
การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปของทุเรียนไทยช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และพัฒนาคุณภาพ ตาม GMP และ GAP เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ทุเรียนไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้
.
E: Environment (ภาวะสิ่งแวดล้อม)
.
ถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทสินค้าเกษตรมากที่สุด ภาวะภูมิอากาศมีผลอย่างมากต่อผลผลิตทุเรียน และมีผลต่อการค้าทุเรียนเช่นกัน อย่างเช่น กรณีฝนตกหนักในเดือนตุลาคม 2564 ที่จันทบุรี จังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศ ชาวสวนบางแห่งต้องสูญเสียต้นทุเรียนกว่าไปกว่าครึ่ง เพราะถูกน้ำหลากเข้าท่วม หรือ กรณีที่ทางการจีนระงับการนำเข้าทุเรียนไทย เพราะตรวจพบการปนเปื้อนโควิด-19 ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทุเรียนไทยผ่าน สปป.ลาวไปยังจีน แม้การระงับครั้งนั้นเป็นการระงับเพียง 3 วันเท่านั้น เป็นต้น
.
L: Legal (กฎหมาย)
.
กฎหมายของประเทศนำเข้า ต้องดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนอนุญาตให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตจากศุลกากรแห่งชาติจีนให้ส่งออก “ทุเรียนสด” ไปประเทศจีนได้ ต่อจากประเทศไทย และเวียดนาม (มาเลเซีย ได้รับอนุญาตเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง) ทำให้ไทยมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น มีความเสี่ยงที่ราคาทุเรียนไทยจะถูกปรับราคาลงตามกลไกตลาด เพราะคู่แข่ง ราคาถูกกว่า และต้นทุนการขนส่งที่น้อยกว่า โดยเฉพาะทุเรียนเวียตนามใช้เวลาขนส่งแค่ 36 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ทุเรียนจากไทยใช้เวลาขนส่งเร็วสุด 3-4 วัน
.
จะเห็นได้ว่าการใช้หลักการ PESTEL มาวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องหุ้น หรือ ตราสารทางการเงิน เท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ในการลงทุนอย่างอื่นๆ เช่น ทุเรียนได้ดีเช่นกัน