ห้องเม่าปีกเหล็ก

จับประเด็นเทรดกลุ่มสื่อสาร ต้นทุนคลื่นฯ ยังฉุดผลงานระยะยาว

โดย Fin-trading
เผยแพร่ :
55 views
พระเอกของวัน (พุธ 8 ก.พ.) คงต้องยกให้หุ้นกลุ่มสื่อสาร ที่โอเปอเรเตอร์ค่ายมือถือบวกยกแผง ทั้ง ADVANC (ที่รวมทั้งหุ้นแม่อย่าง INTUCH) ,TRUE, ตามมาด้วย DTAC ช่วยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ขยับขึ้นใกล้ 1,600 จุดอีกครั้ง แม้ว่าภาพรวมปัจจัยภายในประเทศยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ ขณะด้านต่างประเทศ ล่าสุด มีความกังวลสถานการณ์การเมือง ที่นำโดยการเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมทั้งการที่ราคาหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาแรง จนเสี่ยงต่อการถูก “Take profit”
 
 
 
 
ประเด็นหลักที่เข้ามากระตุกราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารให้กลับมาเทรดกันคึกคักอีกครั้งก็รวมถึงการที่ “ทีโอที” ประกาศเดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจมาซื้อซองวันที่ 10-15 ก.พ. นี้ และยื่นเอกสารภายในวันที่ 27 มี.ค. ก่อนเข้าเซ็นสัญญาภายในไตรมาส 3/60 และพร้อมให้บริการในไตรมาส 4/60 
 
โดยคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 MHz เต็มทั้ง 60 MHz โดยมีเป้าหมายวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่รองรับลูกค้าได้
 
 
ขณะนี้พบว่ามีผู้สนใจแล้ว 5 ราย ได้แก่ DTAC, ADVANC, TRUE , บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด, และ บริษัท ทานตะวัน เทเลคอม จำกัด 
 
 
Money Channel สอบถามข้อมูลจากนักวิเคราะห์พื้นฐานกลุ่มสื่อสารของบริษัทหลักทรัพย์ค่ายใหญ่ บอกว่า ADVANC กับ TRUE ยังมีภาระค่าใช้จ่ายสูงกับคลื่น 1800 และ 900 MHz เพราะใน 4-5 ปีข้างหน้าจะต้องมีภาระต้องจ่ายทั้งหมดกว่า 8 หมื่นล้านบาท จึงทำให้ DTAC ที่พลาดจากการประมูลมาในรอบที่แล้ว มีโอกาสยื่นข้อเสนอดีที่สุด  
 
 
หาก DTAC ได้คลื่น 2300 MHz ก่อนที่สัญญาสัมปทาน 1800 และ 850 MHz กับ CAT จะหมดลงในปี 2561 จะช่วยลดแรงกดดันในการทำธุรกิจ เพราะหาก DTAC หมดสัญญาสัมปทานแล้ว บริษัทฯ จะเหลือคลื่นที่จะใช้งานเพียงแค่ 2100 MHz ซึ่งคงไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้งานทั้ง 3G และ 4G ได้อย่างแน่นอน และจะมีความเสี่ยงต่อการประมูลคลื่นในอนาคต 
 
 
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้า DTAC ได้คลื่น 2300 MHz แล้ว อาจมีความเสี่ยงการขาดทุนได้ในอนาคต เพราะตามงบการเงินจำเป็นต้องรับรู้ต้นทุนเข้ามาก่อน และกว่าจะมีรายได้ต้องใช้เวลาเป็นปี 
 
 
ส่วนหุ้น TRUE โอเปอเรเตอร์หนึ่งเดียวที่ตลาดกำลังรอคอยผลประกอบการปี 2559 (ราวปลายเดือน ก.พ.) มีนักวิเคราะห์ยังคงกังวลกับผลขาดทุนจากผลกระทบแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนสูง สะท้อนได้จากราคาหุ้น TRUE ที่พลิกกลับตัวเป็นขาลงนับตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.เป็นต้นมา 
 
 
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์รายเดิมมองว่า แม้ราคาหุ้น TRUE จะเกิดสัญญาณรีบาวด์ในช่วงสั้น แต่ยังมีโอกาสถูกกดดันตามผลประกอบการปี 2559 ที่ประเมินว่าจะขาดทุนเกือบ 4 พันล้านบาท ภายใต้คาดการณ์ในไตรมาส 4/59 TRUE อาจจะขาดทุนราว 2.5-2.6 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 3/59 หลังมีต้นทุนค่าคลื่น 900 MHz เข้ามา รวมถึงมีการลงทุนด้านอื่นๆ
 
ส่วนในปี 2560 ก็มีโอกาสเห็น TRUE ขาดทุนถึง 6 พันล้านบาท หลังรับรู้ต้นทุนคลื่น 900 MHz เข้ามาเต็มปี จึงเชื่อว่าภายหลังจาก TRUE ประกาศงบปี 2559 ชัดเจนแล้ว จะมีความเสี่ยงที่หุ้นจะถูกปรับลดประมาณการอีกครั้ง 
 
 
ส่วนค่าย "โนมูระ พัฒนสิน" ประเมินแนวโน้มผลประกอบการ TRUE ในไตรมาส 4/59 เชื่อว่าจะขาดทุนราว 2.5-2.7 พันล้านบาท ตามต้นทุนในธุรกิจมือถือที่เพิ่มขึ้น และภาระรายจ่ายทางอื่น แม้ว่า TRUE จะเริ่มมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจมือถือเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 25% ในปี 2561 จาก 19%ในปี 2558 แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการอุดหนุนค่าเครื่องในช่วง 1-2 ปีนี้ และการแข่งขันที่รุนแรง จึงยังทำให้ TRUE มีโอกาสขาดทุนต่อไป
 
 
ฝั่งโบรกเกอร์ “ทรีนีตี้” นักวิเคราะห์ประเมินราคาพื้นฐาน TRUE ที่ 7.28 บาท มองว่าค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz  จะเป็นภาระให้กับบริษัทฯ กว่าไตรมาสละ 1,800 ล้านบาท กดดันให้ผลประกอบการยังคงขาดทุนต่อไปอีกอย่างน้อย 3-4 ไตรมาส
 
 
*********************************
ทีม Business&Finance, Money Channel

 


Fin-trading