สร้างชาติด้วยการสร้างวินัย
หลายครั้งเรามักได้ยินคนพูดถึงคำว่าวินัย หรือ Discipline หรือเคยได้ยินกรผณีนักกีฬาฟุตบอล สัญชาติเยอรมันที่โชว์ความแข็งแกร่งขึ้นเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก แถมยังเป็นยุโรปชาติแรกที่ไปชนะในถิ่นละตินอเมริกัน ได้เสียอีก
ก็เลยมีการเก็บสิถิติและมีการวิเคราะห์ว่าเหตุที่ทีมเยอรมันชนะก็เนื่องจากการมีวินัยที่แข็งแกร่ง และมีทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง ทั้งๆที่ไม่ได้มีนักเตะดาวเด่นดังหรือ ซูปเปอร์สตาร์ค่าตัวเป็นร้อยเป็นพันล้านร่วมทีมแต่ประการใด มีการเขียนถึงความมีวินัยของคนเยอรมัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตและการออม เล่นฟุตบอลเก่งไม่พอยังเก็บเงินเก่งอีก
ที่นี้หากเราลองมาวิเคราะห์ถึงคำว่าวินัยนั้นหมายถึงอะไรนั้น ก็เลยขออนุญาตทำการบ้านพอสรุปได้ดังนี้นะคะ
วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้เรียบร้อย ซึ่งจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน
อีกทั้งวินัยยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านศีลธรรม จริยธรรมและทักษะสังคมที่มนุษย์ควรมี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ข้อ คือ
1. วินัยเกี่ยวกับทักษะทางสังคมทั่วไป เช่น เก็บของเป็นที่ ตรงต่อเวลา รู้จักกาลเทศะ ปฏิบัติตามกฏระเบียบ
2. วินัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินนอนเป็นเวลา การเข้าห้องน้ำ อาบน้ำแปรงฟัน การแต่งตัว ถือเป็นการช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย
3. วินัยเกี่ยวกับการควบคุมตนเอง เช่น ควบคุมอารมณ์ได้ รู้จักการรอคอย อดทน ไม่โกรธจนกรีดร้องหรือขว้างปาข้าวของจนควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้เราจึงเห็นว่า วินัยทั้งสามข้อข้างต้นเป็นวินัยพื้นฐานที่ควรจะต้องฝึกตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กเพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคต เอาเป็นว่าตอกย้ำอีกทีก็ได้ว่า
การปลูกฝังวินัยจึงต้องทำตั้งแต่เขายังเล็กและทำให้เป็นนิสัย
หลายครั้งที่หลายครอบครัวชอบอ้างว่าทำไม่ได้เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางร่างกาย หรือบางทีอ้างเรื่องสติปัญญา อารมณ์ และพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน และใช้เหตุผลเหล่านี้อธิบายว่าเป็นเหตุที่ ทำให้เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
ก็อยากให้ถามกลับว่าประเทศที่คนเขามีวินัยที่ดี คนในประเทศเขาทุกคนมีพื้นฐานทางร่างกายสติปัญญา อารมณ์หรือพื้นฐานทางสังคมเหมือนกันหมดทั้งประเทศหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ แล้วทำไมประเทศเขาถึงยังฝึกเรื่องวินัยได้ดีกว่าเรา
เราจึงพบว่าเด็กที่มีปัญหาเรื่องวินัย คือ เด็กที่ไม่สามารถควบคุมตนเองในเรื่องต่างๆ อาจเพียงบางเรื่อง หรือหลายๆเรื่องรวมกันจากทั้งสามข้อข้างต้น
ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะเล็กหรือใหญ่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของการแสดงออก ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะ ต้องรู้จักวิธีรับมืออย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยเฉพาะวินัยเกี่ยวกับการควบคุมตนเองนั้น ถือเป็นข้อที่สำคัญและท้าทายที่สุด นั่นคือ การที่เราจะต้องสอนให้ลูกจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง
เพื่อไม่ให้กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ก้าวร้าว หรือขาดความยังยั้งชั่งใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อตัวเขาเองและผู้อื่นได้.
ที่สำคัญเราไม่อาจรู้เลยว่า การที่เขาไม่มีวินัยในเรื่องที่เรามองว่าเล็กน้อย เช่นการไม่รักษาเวลา อาจทำให้เขาพลาดงานประมูลชิ้นสำคัญ การที่เขาเร่งความเร็วรถแทนที่จะชะลอเมื่อสัญญานไฟกำลังจะเปลี่ยนอาจจะเป็นต้นเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้
การสร้างวินัย จึงควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างลักษณะนิสัยและทำต่อเนื่องจนถึงเด็กวัยเรียน เพราะการเริ่มได้เร็วและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเท่านั้นจะกระตุ้นให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ การคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น
เด็กจะถูกสอนเรื่องการตัดสินใจที่เป็นระบบ เช่นการเลือกทำกิจกรรมอย่างที่สนใจและลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความจำและการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลได้ในที่สุด
การฝึกวินัยทำให้เด็กเกิดนิสัยในการควบคุมตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสังคมได้ เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตนเอง และเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นทำให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพตัดสินใจโดยไม่ล่วงเกินสิทธิหรือประพฤติผิดมารยาทของสังคมต่อผู้อื่น
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า การฝึกวินัยให้ลูกเรานั้นจำเป็นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ค่อยเป็นค่อยไป และควรให้เขาเข้าใจถึงเหตุผลของกฎระเบียบนั้น ๆ
ควรหลีกเลี่ยงการข่มขู่ แต่ควรสนับสนุนให้กำลังใจยกย่องชมเชยเมื่อมีโอกาส และควรมีบทลงโทษที่ตกลงล่วงหน้าในกรณีที่เขาไม่เชื่อฟัง หรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว
หลายครั้งที่ครอบครัวมองว่าเรื่องวินัยเป็นหน้าที่ของโรงเรียนทั้งๆที่ความเป็นจริง เรื่องนี้เริ่มได้ทันทีตั้งแต่เขาเกิด วินัยจึงมาจาก การลงมือทำ โดยเริ่มแรกจากสถาบันครอบครัว เพราะพ่อแม่มีบทบาทต่อพฤติกรรมของลูกมากที่สุด เพราะฉะนั้นระหว่างที่คอย อบรมสั่งสอนให้ลูกมีพฤติกรรมความประพฤติที่ดีและเหมาะสมแล้ว ก็ต้องประพฤติตัวเองเป็นบุคคลต้นแบบให้ลูกด้วย
นอกจากนี้แล้ว ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการเสริมสร้างวินัยให้เด็กเมื่ออยู่ในชั้น เรียน พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ควรร่วมมือกันและประสานแนวคิดระหว่างบ้านและโรงเรียน เพื่อให้เวลาในการฝีกฝน และวิธีการในทางบวกเพื่อสร้างวินัย
เราคงกะเกณฑ์ได้ยากในช่วงต้น ว่าการสร้างวินัยจะมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหรือไม่ และในเด็กเล็กเราต้องเข้มงวดขนาดไหม คำตอบไม่มีอะไรจะดีกว่า ยิ่งลูกมีวินัยเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น และที่ดีนั้นคือดีต่อตัวเขาเอง ในส่วนของคนรอบข้าง หรือสังคมนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้
อย่างในเด็กเล็กๆนั้น เราอาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆเช่น การกำหนดให้มีวินัยในเรื่องต่างๆ
วินัยในการกิน กินให้เป็นเวลา ไม่เลือกอาหาร และไม่ทานขนมหวานมากจนเกินไป
วินัยในการเรียน ตั้งใจเรียนใฝ่รู้ จัดตารางสอน ทำการบ้าน อ่านทบทวนบทเรียน เข้าเรียนสม่ำเสมอ
วินัยในการเล่น เก็บของเล่นเป็นที่เป็นทาง รักและถนอมของเล่น รู้จักป้องกันการเล่นที่อาจจะมีอันตราย รวมทั้งการเล่นและออกกำลังกายให้เป็นเวลา
วินัยในการทำงาน เช่นการช่วยงานบ้าน เล็กๆน้อยๆเช่นกวาดถูทำความสะอาด จนถึงการทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย
วินัยในชีวิตประจำวัน เช่นการอาบน้ำแปรงฟัน รักษาความสะอาด และการเข้านอน ตื่นที่เป็นเวลา
วินัยทางด้านการเงิน เช่นการใช้เงินค่าขนม การรู้จักประหยัด ระวังรักษาของ และอดออม นำเงินไปฝาก เพื่อให้รู้คุณค่าของเงิน
สำหรับแนวทางปฏิบัติคงไม่มีสูตรสำเร็จ บางบ้านอาจใช้วิธีฝรั่งเช่น การจัดทำข้อตกลงในการปฏิบัติร่วมกัน ที่มีการเขียนเป็นรายการ หรือบางครอบครัวใช้การกำหนดตามเข็มนาฬิกาเพื่อบอกว่าเวลานี้ทำอะไร แต่บางครอบครัวก็แค่พูดคุยและใช้แนวทางปฏิบัติเป็นตัวชี้นำ
สำคัญคือการกำหนดให้เขารู้แผนงานในแต่ละวัน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ความรัก ความเข้าใจและ การติดตามอย่างต่อเนื่อง
แม้เราจะคาดเดาได้ว่า จะต้องเกิดผลดีของการมีวินัย แต่การที่จะเกิดผลดีนั้นจะบ่งบอกในบุคลิกของลูกเรา ไม่ว่าจะเป็นการที่เขา มีความมั่นใจในตัวเอง มีความ สามารถในการควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ และการกระทำ แค่นี้พ่อแม่ก็มีความสุขแล้ว เพราะมันแสดงถึงวุฒิภาวะของเขาที่ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
การมีวินัยแบบนี้นอกจากจะนำไปสู่ ความมั่นใจในตนเองและความรู้สึกมีคุณค่า เข้าใจตนเอง มากยิ่งขึ้น แล้วยังส่งผลต่อ การทำงานได้ประสบผลสำเร็จยื่งขึ้น และการ เป็นคนที่ทำอะไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย ทำให้เขาสามารถควบคุมตนเองและการกระทำให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เข้าใจเรื่อง คุณค่าของเวลา เงิน สิ่งที่อยู่รอบข้างและรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม
การปลูกฝังวินัยในตัวของลูกเรา นอกจากช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขาให้เป็นไปตามวัย และอาจจะมีการจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขาทราบเหตุผลและปฏิบัติด้วยความเต็มใจ
และเมื่อเราทำได้ ก็จะได้ครอบครัวที่น่าอยู่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดสังคมน่าอยู่ และเมื่อลูกเกิดความพึงพอใจ มีความสุขในการกระทำพฤติกรรมนั้น ก็ก่อเกิดปัญญาในการเรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจและมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการมีวินัยติดตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์แบบยั่งยืนในที่สุด
มาสร่้างชาตืด้วยการสร้างวินัยให้ลูกเรา กันเถอะค่ะ
สุวภา เจริญยิ่ง