รู้จักกับ บาทดิจิทัล

══════════════
น้องกุ้งมาแล้ววววว...ตอนนี้ไปพบกับ “บาทดิจิทัล” กันดีกว่า อินเทรนด์กันหน่อย เดี๋ยวปลายปีแบงก์ชาติจะทดลองใช้วงจำกัดแล้ว มันคืออะไรกันแน่ และ ณ จุดนี้มันเกี่ยวข้องกับพวกเรามากน้อยแค่ไหนกันนะ ตามน้องกุ้งมาเลยค่ะ
.
1.บาทในรูปดิจิทัล
.
Central Bank Digital Currency (CBDC) ตามนิยามของ ก.ล.ต. CBDC คือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง และปัจจุบันตาม พ.ร.บ.เงินตรายังไม่ได้ระบุให้ CBDC มีสถานะเป็นเงินตรา (legal tender)
.
แต่ถ้าในอนาคต ธปท.จะต้องออก CBDC จริงๆ ก็จะไปแก้กฎหมายเพื่อให้ CBDC มีสถานะเป็นเงินตรา ซึ่ง CBD ก็เหมือนธนบัตรเลยเพียงแค่เปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น และชื่อเรียกที่สื่อมวลชนใช้เพื่อให้ ปชช.เข้าใจได้ง่ายๆ คือ “บาทดิจิทัล”

.
2.โครงการอินทนนท์
.
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ธปท.ศึกษาและพัฒนา "บาทดิจิทัล" มาตั้งแต่ปี 2561 แล้วภายใต้ชื่อโครงการว่า “อินทนนท์” ซึ่งเป็นการทดสอบการนำ DLT มาใช้กับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินและการบริหารสภาพคล่องระหว่าง ธปท.และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการแบบ real-time และ 24/7 แต่ตอนนั้นเป็น CBDC แบบ Wholesale (CBDC ที่ใช้ในธุรกรรมระหว่างธนาคาร)

.
3.Retail CBDC
.
ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อทดสอบใช้งาน Retail CBDC (CBDC ที่ใช้สำหรับธุรกรรมรายย่อย) ในช่วงปลายปี'65 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC แต่ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้

.
4.เงินที่เขียนโปรแกรมลงไปได้
.
นอกจากการทดสอบใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อยแล้ว ธปท.ยังมีแผนจะทดสอบระดับนวัตกรรม ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) หรือเขียนคำสั่งลงไปบนเงินได้ ตรงนี้แหละจะทำให้ “เงินบาทดิจิทัล” มีลูกเล่นแพรวพราวมากขึ้น เป็นการต่อยอดนวัตกรรมไปได้อีกมากมายในแบบที่เราคาดไม่ถึง

.
5. เงินสดยังจำเป็น แต่อาจจะลดลงเรื่อยๆ
.
ในอนาคตหากมีการออกใช้ CBDC จริง จะเป็นการใช้ควบคู่กันทั้งเงินกระดาษในรูปแบบ physical กับ CBDC ในรูปแบบดิจิทัล เพราะในแง่การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ในระยะแรกระหว่างปรับตัว ปชช.ทุกคนอาจจะไม่สะดวกใช้ CBDC ที่ต้องมีสมาร์ตโฟนเพื่อรองรับการทำธุรกรรม ดังนั้น เงินสดจึงยังมีความจำเป็นเพียงแต่อาจจะลดลงเรื่อยๆ

.
6.อีกนานกว่าจะได้ใช้
.
แล้วคนไทยจะได้ใช้เมื่อไหร่? คงไม่ใช่ภายใน 2-3 ปีนี้แน่นอน เพราะว่าบ้านเราคนยังชอบใช้เงินสดกันอยู่มาก แถมมีระบบการชำระเงิน “PromptPay” ที่โอนโคตรสะดวก จึงยังไม่น่าจะเกิดเงินบาทดิจิทัลให้เราใช้เร็ววัน

.
7.ไม่มีดอกเบี้ยนะ
.
แถมโมเดลที่จะทดลองทำ บาทดิจิทัล แบงก์ชาติก็ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้เราเหมือนกับเงินฝากในธนาคาร ดังนั้น เราคงไม่อยากเอาเงินบาทดิจิทัลแช่ไว้ในแอป แต่คงเหลือค้างไว้เท่าที่จำเป็น

.
8.Privacy?
.
กลัวว่าจะมีใครเข้ามาสอดส่องใช่ไหมล่ะ? ในการออกแบบเรื่อง privacy แบงก์ชาติไม่ได้เก็บข้อมูลในลักษณะที่จะเข้าไปติดตามดูทุกธุรกรรมของทุกคนที่ใช้ CBDC แต่จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบธุรกรรม ที่เข้าข่ายเป็นธุรกรรมต้องสงสัยตามมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องมาตรฐานสากล

.
.
@แอดมินกุ้ง
------------------------------------