ห้องเม่าปีกเหล็ก

AI จะเป็นประโยชน์ถ้าควบคุมให้ถูก จากมุมมองไมโครซอฟท์

โดย 98 Degree
เผยแพร่ :
52 views

AI จะเป็นประโยชน์ถ้าควบคุมให้ถูก จากมุมมองไมโครซอฟท์

ไมโครซอฟท์ มอง AI จะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยยกระดับมนุษย์ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ทุกภาคส่วนควรเข้ามาร่วมมือกัน กำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย พร้อมร่วมมือภาครัฐสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้ทางดิจิทัลเพิ่มเติมรับยุค AI ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ควรร่วมกันเข้ามาเตรียมความพร้อมในการนำ AI เข้ามาใช้งานในประเทศ ทั้งในมุมของการให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วน และในแง่ของข้อกฎหมาย

"AI จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเสริมให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น เพียงแต่หลายภาคส่วนควรมีเวทีร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในแง่ของการกำกับดูแล การนำมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับหลายๆ อุตสาหกรรม"

 

เบื้องต้น ไมโครซอฟท์ เริ่มมีการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยเฉพาะในส่วนของภาคการศึกษา เพื่อสร้างให้เกิดการรับรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำเพื่อรับกับ AI ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทไอทีชั้นนำหลายแห่ง เห็นพ้องตรงกันในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมออกมา

 

สำหรับเหตุผลที่ ไมโครซอฟท์ เริ่มออกมาเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการสร้างหลักเกณฑ์กลาง เนื่องมาจากในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแง่ร้ายเกี่ยวกับการนำ AI ไปใช้งาน เพราะมีหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคาม และความเสี่ยงในการนำ AI มาใช้

 

 

 

***AI คุกคามมนุษย์ ถ้าไม่สอนให้ดี

 

โอม เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการนำ AI ไปใช้ในระบบจดจำใบหน้าของผู้ให้บริการรายหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยง ที่จะเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการนำ AI มาวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาชญากรรม

 

"กลายเป็นว่า เมื่อ AI ตรวจจับใบหน้าจากข้อมูลของผู้ที่ถูกปล่อยตัวหลังรับโทษในการคุมขังในประเด็นของโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมซ้ำ ระบบพิจารณาว่าคนผิวสีจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาวปกติ ทำให้กลายเป็นประเด็นเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติไปทันที"

 

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคนผิวสี อย่างระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้าในกล้อง ที่สามารถจับใบหน้าของคนผิวขาวได้ปกติ แต่กลับไม่เห็นใบหน้าของคนผิวดำ ไปจนถึงเรื่องของการเปรียบเทียบใบหน้าของคนผิวสี

 

เช่นเดียวกับอุปกรณ์ไอที ในยุคของ IoT ทั้งหลาย ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ได้ลึกมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นใหม่ๆ ที่มีเซ็นเซอร์สแกนรายละเอียดพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกโจรกรรมออกไป ก็จะทำให้ผู้ที่ได้ข้อมูลไปรู้ว่าภายในบ้านมีสิ่งของอะไรอยู่ตรงจุดใดบ้าง

 

แม้แต่ข้อมูลสุขภาพ อย่างการออกกำลังกาย เคยมีกรณีอย่างการนำข้อมูลออกกำลังกายของทหารสหรัฐฯ เนื่องจากมีข้อกำหนดให้ทหารที่ออกกำลังกายเก็บข้อมูลการออกกำลังไว้บนแอปพลิเคชันอย่าง Strava เมื่อข้อมูลชุดดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาทำให้สามารถระบุพื้นที่ของค่ายทหารสหรัฐฯ ได้ทั่วโลกจากแผนที่การวิ่งที่ถูกเก็บไว้

 

ส่วนในมุมทางการแพทย์ เคยมีกรณีอย่างการนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค แล้วกลายเป็นว่ามีผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหอบหืด พร้อมกับโรคปอดบวมเข้ามา แต่ AI กลับให้คำแนะนำว่าสามารถจ่ายยา ให้แล้วกลับบ้านได้เลย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในทางการแพทย์ ถ้าเป็นโรคหอบหืด และปอดบวม คู่กันต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน ทำให้ปัจจุบัน AI ยังต้องถูกพัฒนาด้วยการป้อนข้อมูลจากมนุษย์ไปอีกสักระยะ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และถูกต้องมากที่สุด

 

อีกประเด็นคือเรื่องของการที่ AI จะเข้ามาแย่งงานจากข้อมูลที่ถูกสื่อสารในช่วงที่ผ่านมาว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วไมโครซอฟท์ มองว่า AI จะมาเป็นเทคโนโลยีเสริม เพื่อทำให้คนที่มีความเห็นใจ มีจินตนาการ สามารถขยายขอบเขตความสามารถได้โดยที่มี AI เป็นผู้ช่วย

"สิ่งที่ทุกภาคส่วนควรร่วมกันทำอย่างเร่งด่วนในเวลานี้คือ การเข้าไปสนับสนุนให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ Re-skill ในการทำงาน เพื่อมาควบคุม AI และนำ AI ไปแทนที่ในงานบางชนิดที่จะช่วยให้มนุษย์นำเวลาไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพแทน"

 

ในจุดนี้ ไมโครซอฟท์ ยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรต่างๆ ต่อเนื่องในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการร่วมกับทาง ดีป้า (DEPA) อย่าง Coding Thailand ที่เข้าไปสนับสนุนเยาวชน ในการเข้าไปช่วยสอนบุคลากร อาจารย์ ให้มีความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมขั้นต้น

 

รวมถึงโครงการอย่าง Empower Portal ในการเข้าไปร่วมกับศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในการให้ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลในต่างจังหวัด เพื่อให้สังคมไทยพร้อมจะรับเทคโนโลยีใหม่ และสื่อสารให้เข้าใจว่าเมื่อ AI เข้ามาจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง

 

 

***เริ่มเห็นการลงทุนในไทย

 

ในมุมของผู้ให้บริการเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ เริ่มเห็นถึงแนวโน้มที่องค์กรธุรกิจให้ความสนใจกับ AI ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา และมีหลายองค์กรเริ่มนำไปประยุกต์ใช้แล้ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หลายๆ โรงพยาบาลเริ่มมีการเตรียมความพร้อม ในการนำ AI เข้ามาช่วยแล้ว

 

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิต ที่เริ่มเห็นแนวทางในการนำ AI เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลายองค์กรยังรอดูต้นแบบในการนำไปใช้

 

ดังนั้น ในปีนี้ไมโครซอฟท์ จะเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น ในการนำกรณีศึกษาต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศเข้ามาร่วมผลักดันกับทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มในการให้บริการพร้อมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้เท่านั้น

 

***6 หลักเกณฑ์ AI เพื่อช่วยมนุษย์

 

ไมโครซอฟท์ ได้พัฒนา 6 หลักเกณฑ์ ชี้นำในการพัฒนา AI ให้อยู่บนกรอบที่เหมาะสม ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ของมนุษย์เป็นหลักขึ้นมา ซึ่งหลายๆข้อ มีความคิดเห็นที่ตรงกับบริษัทไอทีรายอื่นๆที่กำลังพัฒนา AI ขึ้นมาด้วย

 

1.ยุติธรรม - ต้องทำให้แน่ใจได้ว่าเมื่อ AI ตัดสินใจทางการแพทย์หรือการจ้างงาน ระบบควรจะต้องให้คำแนะนำเดียวกัน เมื่อใช้พิจารณา หรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม AI อาจมีอคติขึ้นมาได้ ถ้ามนุษย์ที่สอน AI ในการคัดเลือก และตัดสินข้อมูลตามความคิดของมนุษย์

2.ไว้ใจได้ - AI ต้องได้รับการออกแบบให้ทำงานภายใต้กรอบข้อบังคับที่ชัดเจน และผ่านการทดสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อรับรองว่าระบบจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เหนือความคาดการณ์ได้อย่างปลอดภัย และไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายเดิมของระบบ นอกจากนี้ มนุษย์ยังควรมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่าจะใช้งานระบบ AI เมื่อไรและอย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันในการลดความเสี่ยง

 

3.ปลอดภัย - ระบบ AI ก็เหมือนกับเทคโนโลยีคลาวด์อื่นๆ ที่ต้องทำงานโดยเป็นไปตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกำกับดูแลการรวบรวม ใช้งาน และเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้ตามมาตรฐานความเป็นส่วนตัว และป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือถูกโจรกรรม

 

4.เสมอภาค - โซลูชัน AI จะต้องตอบโจทย์ความต้องการและพื้นฐานที่หลากหลายของมนุษย์ทุกคน ด้วยวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุม โดยคาดการณ์อุปสรรคทั้งในด้านคุณสมบัติของระบบและสภาพแวดล้อมในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดการกีดกันผู้ใช้บางกลุ่มโดยไม่ตั้งใจ

 

5.โปร่งใส - เมื่อ AI ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้น เราต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เกี่ยวกับการทำงานของระบบ AI เพื่อที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจถึงวิธีการตัดสินใจ และสามารถระบุอคติ ความคลาดเคลื่อน และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

6.รับผิดชอบ - ผู้ที่ออกแบบและติดตั้งระบบ AI จะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของระบบด้วย โดยบรรทัดฐานความรับผิดชอบสำหรับ AI ควรกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติจากภาคส่วนอื่นๆ เช่นมาตรฐานด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์ เป็นต้น โดยหลักการด้านความรับผิดชอบนี้ ต้องนำมาปรับใช้อย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การออกแบบระบบไปจนถึงการใช้งานจริง

 

 

ที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก..ผู้จัดการออนไลน์


98 Degree