ห้องเม่าปีกเหล็ก

กนง.ส่อ'คงดอกเบี้ย'1.75% รอดูมาตรการปลุกศก.ภาครัฐ

โดย Tunrawas
เผยแพร่ :
52 views

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

กนง.ส่อ'คงดอกเบี้ย'1.75% รอดูมาตรการปลุกศก.ภาครัฐ: การประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปี 2562 "นักเศรษฐศาสตร์" ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ที่ประชุมจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เพื่อรอประเมินภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) แม้จะ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ เฟด ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลง ต่อเนื่อง จึงมองว่า แรงกดดันต่อดอกเบี้ยไทย น้อยลงตามไปด้วย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ประเมินว่า ดอกเบี้ยสหรัฐอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กดดันดอกเบี้ยไทยแล้ว เพราะสิ่งที่กำลังกดดันดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเวลานี้ คือ เศรษฐกิจไทยที่เริ่มชะลอตัวลงมากกว่าคาด โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ที่ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้

"แม้ว่า เฟด จะส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ดอกเบี้ยไทย ไม่จำเป็นต้องรีบลดตาม แต่ข้อมูลเศรษฐกิจที่เราเห็นล่าสุดของเดือนมิ.ย. ชะลอลงค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 2 อาจเติบโตได้เพียง 2% ต้นๆ ถือเป็นปัจจัยกดดัน กนง. ในระยะข้างหน้า จึงมองว่า ปีนี้ อาจเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 1 ครั้ง เพียงแต่การประชุมใน วันพุธนี้ คงยังไม่รีบปรับลด แต่ต้องจับตาดู สัญญาณที่จะส่งออกมา"

พิพัฒน์ ยังประเมินว่า แนวโน้ม เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง อาจเผชิญกับ ปัจจัยลบรุมเร้าอีกมากมายจนกลายเป็น "มรสุมร้าย"(Perfect Storm) ทางเศรษฐกิจ โดยภาพในขณะนี้ค่อนข้างชัดว่า การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลัก ของไทยช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลง และ เรากำลังเผชิญกับภัยแล้ง ที่อาจกระทบยาวถึงต้นปีหน้า

นอกจากนี้ถ้าดู สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เริ่มเข้าสู่วัฏจักรของการชะลอตัวแบบยกแผง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ยังพอจะขยายตัวได้ แต่ข้อมูลล่าสุดเดือนมิ.ย.ที่การบริโภคสินค้าคงทนเริ่มหดตัว ทำให้ภาพสินเชื่อเหล่านี้กลับมาชะลอตัวลง ที่สำคัญการที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ขณะที่สินค้าคงคลังของไทย ยังอยู่ระดับสูง เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิต อาจนำไปสู่ปัญหาการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ยังไม่สดใสนัก

"มุมมองทางเศรษฐกิจของเราในขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับลดคาดการณ์การเติบโตทั้งปีลงมาอีกครั้ง จากปัจจุบัน เรามองว่าจะขยายตัวที่ 3.3% ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกดดันการทำนโยบายการเงินของ กนง. ที่อาจปรับลดลงได้ โดยเฉพาะช่วงที่นโยบายการคลังยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา"

กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การประชุม กนง. รอบนี้ น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่เดิม เพื่อดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาใช้บ้าง แต่ถ้า มาตรการจากฝั่งการคลังออกมาช้า ก็มี ความเป็นไปได้ที่จะเห็น กนง. ลดดอกเบี้ย นโยบายลง 1 ครั้งในช่วงปลายปีเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจไทยถือว่าชะลอตัวลงมามาก โดยเฉพาะตัวเลขในไตรมาส 2 ซึ่งเราคิดว่า อาจเติบโตได้เพียง 2% ต้นๆ และทำให้ ครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้เพียง 2.5%"

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง แม้ตัวเลขการเติบโตมีแนวโน้มดีกว่า ครึ่งปีแรก แต่ผลกระทบของสงคราม การค้าที่สหรัฐขึ้นกำแพงภาษีจีนรอบ 2 มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ยังคงกดดัน การส่งออกของไทยอยู่ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยลบ พอสมควร

"แม้สหรัฐและจีนจะสงบศึกเรื่องการค้า กันอยู่ แต่ผลของภาษีที่ขึ้น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ยังคงอยู่และเริ่มส่งผลกระทบกับเราในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นว่าการส่งออกเดือนดังกล่าวถ้าหักทองคำออกไปเราหดตัวลงถึง 8% ซึ่งผลนี้ จะมีต่อเนื่องไปตลอดในช่วงที่เหลือของปี แน่นอนว่าการส่งออกที่ชะลอ ย่อมส่งผลต่อการผลิต และการจ้างงาน จึงทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือยังไม่สดใสนัก"

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะออกมา อย่างไร หากเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 ยังชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ มีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในเดือนธ.ค.นี้

"แบงก์ชาติกำลังอดทนกับ 3 เรื่องหลัก คือ อดทนกับเงินเฟ้อที่ต่ำ อดทันกับเงินบาท ที่แข็งค่า และ อดทนกับเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังชะลอตัว เข้าใจว่าเขาห่วงเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะข้างหน้า แต่เชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าที่เขาประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่ เราจะเห็นแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยลงมา"

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า กนง. ยังไม่น่ารีบตัดสินใจลดดอกเบี้ย ในเวลานี้ เพราะถ้าปรับดอกเบี้ยลงจะ กลายเป็นว่าทำนโยบายสวนทางกับสิ่งที่เคยดำเนินการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) ในภาคอสังหาฯ และ มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (ดีเอสอาร์) ที่เตรียมนำมาใช้ เว้นแต่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้มากๆ ก็อาจเห็น กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงหนึ่งครั้ง

"ถ้า จีดีพี เราโตไม่ต่ำกว่า 3% เชื่อว่า กนง. จะยังไม่ลดดอกเบี้ย เพราะถ้าลดไปเท่ากับสิ่งที่ทำมาแทบไม่มีความหมาย เนื่องจากแบงก์ชาติพยายามคุมไม่ให้คนก่อหนี้ มากเกินไป ซึ่งถ้าไปลดก็เท่ากับสิ่งที่ทำมา สวนทางกันหมด คนก็อาจจะสับสนกับนโยบายได้"

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แม้ดอกเบี้ยโลกจะเข้าสู่ช่วงขาลง หลัง เฟด ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่เริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องแต่ส่วนตัว เชื่อว่า กนง. จะยังไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยคงไว้ที่ระดับ 1.75% ไปตลอดทั้งปี เพราะอัตราดอกเบี้ยบ้านเราค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาปรับขึ้นไปเพียงแค่ 0.50% เท่านั้น จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยในปีนี้คิดว่าแบงก์น่าจะเก็บกระสุนไว้ใช้ ในช่วงที่จำเป็นมากที่สุด

เขา บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต คือ เศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น ถ้าการส่งออกชะลอตัวลงมากกว่านี้จนถึงขั้นติดลบ และส่งผลกระทบ มาถึงเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งการลงทุน และการบริโภค แบงก์ชาติคงต้องกลับมา ทบทวนนโยบายดอกเบี้ยอีกครั้ง

"ไม่อยากให้มองว่าเฟดลดดอกเบี้ยแล้วเราต้องลดตาม เพราะการดำเนินนโยบายการเงินต้องดูหลายๆ ส่วนประกอบกัน โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ ตอนนี้ถามว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ต้องดูที่การส่งออกถ้าชะลอตัวลงมากจนทำให้เศรษฐกิจในประเทศแย่ตาม คงเห็นกนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ย"

Source: กรุงเทพธุรกิจ

ขอบคูณที่มา : Bank of Thailand Scholarship Students


Tunrawas