ห้องเม่าปีกเหล็ก

JWD เดินหน้าแลกหุ้น SCGL สำเร็จตามแผน

โดย คุณนายตื่นสาย
เผยแพร่ :
205 views

JWD เดินหน้าแลกหุ้น SCGL สำเร็จตามแผน

ดีเดย์ 17 ก.พ.นี้ เปลี่ยนย่อหลักทรัพย์ใหม่เป็น “SJWD”

 

.

JWD เดินหน้าทำธุรกรรมแลกหุ้นกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) แล้วเสร็จตามแผนรวมกิจการ เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์” และเริ่มใช้ชื่อย่อซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่เป็น “SJWD” มีผล 17 ก.พ.นี้ ยกระดับสู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนชั้นนำครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

.

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้รวมกิจการกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) ล่าสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ได้ดำเนินการตามมติผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการแลกหุ้น (Share Swap) โดยทำการลดทุนและเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เป็น 905,510,153.00 บาท จากเดิม 510,000,000.00 บาท และออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 791,020,363 หุ้น

.

โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) แก่ผู้ถือหุ้นของ SCGL ที่ราคาหุ้นละ 24.02 บาท สำหรับเป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นสามัญของ SCGL แทนการชำระด้วยเงินสด ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของ SCGL เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใน JWD คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ JWD ภายหลังทำธุรกรรมครั้งนี้

.

ทั้งนี้ ปัจจุบันถือว่าการทำธุรกรรมรวมกิจการระหว่างกันแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 และจะเริ่มใช้ชื่อย่อใหม่ในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “SJWD” ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 รวมถึงจะเริ่มรวมผลประกอบการของ JWD และ SCGL ตั้งแต่ไตรมาส 1/2566 เป็นต้นไป

.

สำหรับการรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จะยกระดับบริษัทฯ เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวัดจากรายได้และกำไร โดยดำเนินธุรกิจในอาเซียน 9 ประเทศ อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมจีนตอนใต้ ฯลฯ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าครอบคลุมทั้งกลุ่ม B2B (Business-to-Business) B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) และ C2C (Customer-to-Customer) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (End-to-End) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

.

การผสานความแข็งแกร่งระหว่าง JWD และ SCGL จะเพิ่มศักยภาพธุรกิจและขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการนำเสนอการบริการและผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) สามารถบริหารจัดการและลดต้นทุนได้ดียิ่งขึ้นจากการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ระบบไอที รถขนส่ง เป็นต้น

.

อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสขยายการลงทุนจากการมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรับโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (IBD/E Ratio) ของ JWD ก่อนรวมกิจการอยู่ที่ 1.8 เท่า และเมื่อรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จะลดลงประมาณ 0.4 เท่า

.

ขณะที่ผลการดำเนินงานภายหลังรวมกิจการจะโดดเด่นยิ่งขึ้น ข้อมูลตามงบการเงินรวมเสมือนงวดปี 2564 ของ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จะมีรายได้รวม 25,548 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,152 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกของปี 2565 จะมีรายได้รวม 14,270 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 584 ล้านบาท โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในอนาคตมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันที่ JWD มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศกว่า 20% เนื่องจากศักยภาพการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น

.

ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือชื่อย่อซื้อขายหลักทรัพย์ SJWD ต่อจากนี้ จะผสานผสานความแข็งแกร่งระหว่าง JWD ที่มีความเชี่ยวชาญการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทาง และ SCGL ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและมีวัฒนธรรมการทำงานแบบมืออาชีพ ด้วยฐานลูกค้ารวมกันที่มีมากกว่า 2,400 ราย พื้นที่คลังสินค้าทุกประเภทและลานจอดพักรถรวมกันกว่า 2.3 ล้านตารางเมตร รถขนส่งกว่า 12,000 คัน และเรือบรรทุกสินค้ากว่า 240 ลำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน

.

ด้วยผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) การเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิมของ SCGL และ JWD (2) สร้างมูลค่าเพิ่มในบริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ (3) เชื่อมต่อฐานการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อ (4) ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และ (5) พัฒนาขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม บริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น

.

“ภายใต้การรวมกิจการเป็น บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ โครงสร้างการบริหารงานจะมีคุณบรรณ เกษมทรัพย์ ผู้บริหารจาก SCGL และตัวผม ร่วมกันบริหารงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) มั่นใจว่าด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของดีมานด์ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลกได้” นายชวนินทร์ กล่าว

 


คุณนายตื่นสาย