'หุ้นไทย' แพงสุดในเอเชีย โบรกชี้ 'พี/อี' ทะลุ 21.8 เท่า
นักวิเคราะห์ เตือนระวังลงทุนหุ้นไทย หลังค่า “พี/อี” พุ่งแตะระดับสูงสุดในภูมิภาคที่ 21.8 เท่า พร้อมประเมินแรงซื้อต่างชาติเข้ามาแค่ช่วงสั้น เป็นเพียงการปรับน้ำหนักตามทิศทางเงินทุนโลก แนะจับตา “บอนด์ยิลด์” เริ่มสูงขึ้น ฉุดความน่าสนใจลงทุนในหุ้น
หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทย ฟื้นตัวขึ้นจาก “จุดต่ำสุด” ที่ 1,128 จุด ซึ่งเป็นราคาปิดตลาด ณ วันที่ 13 มี.ค.2563 จนถึงสุดสัปดาห์ก่อนหน้า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ราว 28% มากที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชีย
ล่าสุด วานนี้(8มิ.ย.) ดัชนีหุ้นไทย ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนมาแตะระดับสูงสุดของวันที่ 1,454 จุด หรือเพิ่มขึ้น 19.25 ก่อนมาปิดตลาดที่ระดับ 1,438.66 เพิ่มขึ้น 2.96 หรือ 0.21% มูลค่าการซื้อขาย 105,398 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 6 วันทำการ และยังเป็นการเพิ่มขึ้นมาแล้ว 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
อย่างไรก็ตามในวานนี้ นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ พร้อมใจกันเทขายสุทธิออกมา 787 ล้านบาท และ 2,542 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีหุ้นไทย ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของดัชนีในปีนี้ จากที่เคยติดลบไปกว่า 30% ลดช่วงการติดลบลงมาเหลือเพียง 9% จากปีก่อน
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หากพิจารณาอัตราส่วนระหว่างระดับดัชนีในปัจจุบันเทียบกับคาดการณ์กำไรของตลาดในปีนี้ หรือค่า P/E จะพบว่า ดัชนีหุ้นไทย มีค่า P/E สูงที่สุดในภูมิภาคที่ 21.8 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมาเลเซีย ซึ่งมี P/E 21 เท่า โดยที่มาเลเซียเป็นตลาดที่เงินไหลออกมากที่สุดในปีนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีต 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยกำลังซื้อขายกันด้วยค่า P/E ที่สูงกว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) อยู่ 5.5 เท่าของ SD และส่วนหนึ่งก็ยังเป็นผลจากการที่ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ถูกปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงมากที่สุดในภูมิภาคถึง 34.8%
“ในเชิงมูลค่า (Valuation) ตลาดหุ้นไทยอยู่ในจุดที่ค่อนข้างแพงแล้ว แม้ว่าจะมองโดยเทียบกับแนวโน้มกำไรปีหน้าก็ตาม การปรับขึ้นของตลาดในรอบนี้อยู่บนแรงหนุนจากสภาพคล่องเป็นหลัก โดยเฉพาะเม็ดเงินในประเทศจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกึ่งเงินสด (M2) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งไหลออกมาจากหุ้นกู้ ทำให้เราเริ่มเห็นนักลงทุนรายบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดมากขึ้น”
ขณะเดียวกัน การกลับมาซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นแรงหนุนเชิงบวกในช่วงสัปดาห์ก่อน มองว่าเป็นเพียงการซื้อปรับน้ำหนักตามทิศทางเงินทุนทั่วโลก โดยยังไม่ได้มีนัยมากนัก สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือ ความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นกู้ ซึ่งที่ผ่านมาหดหายไป ทำให้เงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้น รวมถึงทิศทางผลตอบแทนของตราสารหนี้ ซึ่งเริ่มปรับขึ้นมาบ้างทั่วโลก อาจจะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นลดลง
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ช่วยผลักดันตลาดขึ้นมาในช่วงครึ่งวันแรกของวันทำการล่าสุด โดย บล.ยูโอบีเคย์เฮียน มองว่า ตลาดกำลังให้น้ำหนักกับผลการดำเนินงานไตรมาส 2ปี2563 ที่ดีขึ้นของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี แต่ในระยะสั้นเป็นเพียงแรงเก็งกำไรเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นต้นทุนจะขึ้นเร็วกว่ารายได้ ดังนั้นแม้อาจได้กำไรจากสต็อกน้ำมัน แต่กำไรปกติจากการกลั่นน้ำมันจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่กลุ่มสำรวจและผลิต แม้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเป็นบวกต่อจิตวิทยาการซื้อขาย แต่ปัจจัยเฉพาะตัวของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในส่วนของราคาขายตามสัมปทานใหม่ของแหล่งบงกชและเอราวัณในปี 2565 ที่ลดลง จะทำให้กำไรในช่วงปี 2563 - 2566 เป็นขาลง ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีที่มีต้นทุนจากก๊าซเฉลี่ยย้อนหลังจากราคาน้ำมัน 6 เดือนจะโดดเด่นกว่า ด้านกลุ่มปั๊มน้ำมัน คือผู้ได้ประโยชน์ตัวจริงจากภาวะอุปทานส่วนเกิน ทำให้ราคาซื้อจากโรงกลั่นไม่สูง ขณะที่อุปทานการเติมน้ำมันกลับมาเพิ่มหลังการเปิดเมือง
ด้าน บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เร็วและแรงสุดตลาดหนึ่ง โดยเพิ่มขึ้น 6.91% ประกอบกับมูลค่าซื้อขายใน 2 วันทำการที่ผ่านมา สูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อวัน แสดงให้เห็นว่าตลาดอยู่ในภาวะพร้อมรับความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนกระโดดเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นกันมากขึ้น ฉะนั้นในช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างชัดเจน ยิ่งดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องกลับมาโฟกัสความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก