ห้องเม่าปีกเหล็ก

ส่อง 2 แบงก์ใหญ่ ปรับทัพธุรกิจ

โดย หญิงแม้น
เผยแพร่ :
259 views

BBL VS KTB ส่อง 2 แบงก์ใหญ่ ปรับทัพธุรกิจฝ่าคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่น

ก่อนหน้านี้ Wealthy Thai ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบของ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK และธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ไปแล้ว ได้เห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจท่ามกลางกระแสคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ถาโถมมา มีการพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ มานำเสนอตามความต้องการของลูกค้า และธนาคารได้ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่

 

สำหรับวันนี้มีข้อมูลของ 2 แบงก์พี่ใหญ่ สีน้ำเงินและสีฟ้า มาเปรียบเทียบให้ดูกัน นั่นคือ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

 

สำหรับ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL แบงก์พี่ใหญ่ฝั่งเอกชน สไตล์การธุรกิจของ BBL เป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) เน้นช้าแต่ชัวร์ ฐานลูกค้าหลักเป็นลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก รวมทั้งการธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ ยังให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ โดยได้เข้าซื้อธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะควบรวมเข้ากับสาขาต่างประเทศในอินโดนีเซียที่ธนาคารกรุงเทพมีอยู่เดิมอยู่แล้ว ยิ่งเสริมความแข็งแกร่ง ปัจจุบันธนาคารมีเครือข่ายในต่างประเทศ 31 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก หากเปรียบเทียบเป็นกองเรือ ถือเป็นกองเรือการเงินสัญญาชาติไทยที่แข็งแกร่งที่สุดก็ว่าได้

 

ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มีการลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย รวมทั้งมีการตั้งหน่วยงาน Bangkok Bank Innohub เพื่อบ่มเพาะและสนับสนุนสตาร์ตอัพ และบริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด เพื่อร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพ

 

ล่าสุด BBL ได้มีการลงทุนอัพเกรดเทคโนโลยีครั้งใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนหน้าของแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งของธนาคาร หรือ Bualuang mbanking เป็นครั้งแรก มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ในการใช้งานให้สะดวกมากขึ้น ถือว่าเป็นข่าวใหญ่และสร้างกระแสฮือฮาในแวดวงการเงิน เพราะธนาคารอื่นๆ ได้มีการอัพเกรดโมบายแบงกิ้งไปแล้วก่อนหน้านี้

 

ด้านแบงก์พี่ใหญ่ฝั่งภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB  เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นใหญ่โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สัดส่วน 55.07% เน้นให้การสนับสนุนลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย รวมทั้งการสนับสนุนพันธกิจต่างๆ ของภาครัฐ

 

สำหรับการลงทุนตามแผนงานด้านไอทีของธนาคารกรุงไทยปี  2563 นี้ คาดว่าจะลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความ สามารถในการแข่งขันให้กับธนาคารและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและนำลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของธนาคารที่มีอยู่ 5 ยุทธศาตร์ ได้แก่ ระบบนิเวศภาครัฐ ระบบนิเวศการชำระเงิน ระบบนิเวศการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ระบบนิเวศสถาบันการศึกษาและนักเรียน และระบบนิเวศระบบขนส่ง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ปีนี้ธนาคารกรุงไทยจะขับเคลื่อนองค์กรแบบคู่ขนาน ได้แก่ เรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือเร็ว (Speedboat) โดยเรือบรรทุกเครื่องบิน จะเป็นองค์กรขับเคลื่อนธุรกิจหลักของธนาคาร ทั้งด้านสินเชื่อ เงินฝาก และเรือเร็ว (สปีดโบ๊ท) สร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ สร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ในลักษณะระบบเปิด (Open Banking) มีการใช้ AI Machine Learning และ Data Analytics ที่จะสามารถเข้าใจลูกค้า และตอบโจทย์ลูกค้าได้ ล่าสุดในช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้มีการจัดตั้ง บริษัท กรุงไทย เวนเจอร์ส แคปิตัล จำกัด หรือเคที เวนเจอร์ส เป็นหน่วยงานใหม่ที่เน้นเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการปรับธุรกิจของทั้ง 2 แบงก์ใหญ่ที่พันธกิจอาจจะแตกต่างกันออกไป โดยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจ ช่วยลดต้น และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว

 

จากนี้ก็คงได้เห็น 2 แบงก์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาอีก แต่จะเป็นอย่างไร ต้องรอติตตาม!!!

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


หญิงแม้น