จากสงครามการค้าสู่สงครามเย็น วิกฤติโลกครั้งใหม่ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ
แม้จะไม่ใช่เรื่อง “เซอร์ไพรส์” สุดๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นจริง ก็ยังอดที่จะสร้างความตื่นตระหนก “ช็อกไปทั่วโลก” ไม่ได้
เพราะหลังจากมีข่าว “ความคืบหน้า” การเจรจาเพื่อยุติ “มาตรการการกีดกันทางการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมาต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายมีความหวังว่า “สงครามการค้า” ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก จะไม่ทวีความรุนแรงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม “นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก” ต้องประเมินผลกระทบและความรุนแรงของ “สงครามการค้า” ครั้งนี้ใหม่ทั้งหมด หลังจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่เก็บภาษี 10% ขึ้นเป็น 25% ถือเป็นการประกาศใช้มาตรการทางภาษีกับจีนรอบที่ 2 และต่อจากนั้นเพียง 3 วัน จีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นการตอบโต้ทันที ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญฯในอัตรา 25% เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศ “สงครามการค้า” รอบที่ 2 ในครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดกระแส “การต่อต้าน และความเกลียดชัง” ระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น โดยเกิดกระแสต่อต้านสินค้าสหรัฐฯ และขึ้นราคาสินค้า “นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ” ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจีน
ขณะที่ประธานาธิบดี “ทรัมป์” ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ห้ามให้บริษัทของสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีที่เสี่ยงต่อความมั่นคงชาติ โดยรวมถึงบริษัทหัวเว่ย ของประเทศจีน โดยให้เหตุผลว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยมีการตั้งข้อสังเกตมาอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯพยายามใช้มาตรการทางการค้าสกัดกั้นการเข้าสู่เทคโนโลยี 5 จี ซึ่งจีนประสบความสำเร็จก่อนสหรัฐฯ
“ทั้งสองประเทศกำลังสะสมประเทศพันธมิตรเพื่อดึงเข้าร่วมสงครามการค้าโลก และจะกลายเป็น “สงครามเย็นรอบใหม่” และสงครามครั้งนี้ไม่ใช่เพียงประเด็นทางการค้า แต่เป็นปัญหา “การเมืองระดับโลก”
ผลกระทบจาก “สงครามการค้า” ครั้งใหม่นี้ ส่งผลกระทบทันทีต่อปริมาณการค้า และทิศทางการลงทุนทั่วทั้งโลก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อการขยายตัวของการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ “การซบเซาของเศรษฐกิจจีน” ที่กระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ขณะที่ “เศรษฐกิจไทย” ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องมาแล้ว 3 ไตรมาส ขณะที่การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ไม่ได้มีแต่ผลบวกในด้านเดียวอย่างที่เราคิด แต่อาจจะทำให้สหรัฐฯ ใช้ประเด็นการผลิตของอุตสาหกรรมจีนในไทยมาเป็นประเด็นใหม่ในการกีดกันทางการค้า และขึ้นบัญชีจับตาด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ท่ามกลาง “สงครามการค้า” ที่สร้างผลกระทบรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็น “สงครามเย็น” รอบใหม่ ขณะเดียวกัน “การเมือง” ในประเทศเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่กำลังกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้
เราจะเผชิญหน้ากับสงครามครั้งใหญ่ครั้งนี้อย่างไร และมีโอกาสที่จะพลิกวิกฤติครั้งนี้ หรือไม่ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหลากหลายความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน...
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดจากนี้ คือ สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญฯ อีกรอบในเร็วๆนี้หรือไม่ เพราะหากสหรัฐฯขึ้นภาษีอีกครั้ง จะนำไปสู่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศแน่นอน นอกจากนั้น คำพูดของ “ทรัมป์” มีความรุนแรง และสร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลก
ขณะที่นาย “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน จะมีคำพูดประจำ 2 เรื่องคือ การปกครองของจีน มีแบบฉบับเป็นของตนเอง ไม่ได้เลียนแบบคนอื่น และ 2.จีนสนับสนุนการค้าเสรี และพร้อมปฏิรูปประเทศ
คำพูดทั้ง 2 ประธานาธิบดี จึงเป็นเหมือนเส้นขนานที่ห่างออกจากกัน โดยไม่มีทางบรรจบกันได้!!
“สหรัฐฯและจีน อยากจะเอาชนะกันให้ได้ เพราะสหรัฐฯรู้ว่าจีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีไปเร็วมากๆ จึงต้องการหยุดการพัฒนาจีน ทั้งทางด้านการค้าและเทคโนโลยี ซึ่งทางจีนก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ความตึงเครียดทางการเมืองจึงเกิดขึ้น และไม่จบง่ายๆแน่นอน”
เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น นักลงทุนจึงเกิดความกลัวสงครามการค้า และความกลัวนี้ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐฯประเทศเดียวที่เศรษฐกิจดี ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) และเอเชีย เศรษฐกิจขาลงหมด จีนเจ็บตัวมาก เพราะยอดส่งออกลดลง โดยเฉพาะสินค้าไอที อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่เป็นหัวหอกของจีน
“การส่งออกของไทยในปีนี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะลดลงแน่นอน เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ สินค้าไอที อิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้ารายใหญ่ให้แก่จีน”
จุดนี้เป็นการกระแทกที่รุนแรงสำหรับการส่งออกไทย เพราะไทยมีสินค้าส่งออกไม่กี่รายการที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล นอกจากนั้น เมื่อคิดสัดส่วนในการเติบโตของประเทศ การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทำให้สภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ เหมือนถูกหมัด “ไมค์ ไทสัน”
“ยอดส่งออกไทยติดลบมาแล้ว 3 ไตรมาส รวมกันเกือบ 5% คิดเป็นเงิน 300,000-400,000 ล้านบาท ทำให้คาดได้ว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนไตรมาสแรกจะชะลอตัว ยิ่งถ้าการเมืองไม่จบ ลากยาวถึงไตรมาส 2 จะยิ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะปัญหาของเราเรื่องการเมืองอีกเด้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข่าวดี ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ยังคง รอที่จะลงทุน บรรยากาศเศรษฐกิจก็ซบเซา จึงอยากให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด”
แต่อีกแง่มุมหนึ่ง หากมองในเชิงบวกต้องลุ้นว่า หากสหรัฐฯไม่นำเข้าสินค้าจีน ก็ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผู้ประกอบการไทยต้องเก่งและดิ้นรนแข่งขัน กับคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย
“ปัญหาหนักที่สุดตอนนี้ คือ ความรุนแรงของสงครามการค้า ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า จีนจะยอมสหรัฐฯหรือไม่ หากจีนไม่ยอม อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่า จีนคงไม่ยอมง่ายๆ เพราะเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่มาก และยังพึ่งพาตัวเองได้ จึงต้องจับตา โดยขึ้นอยู่กับการเจรจาว่า จะมีข้อยุติหรือไม่”
ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทย
“ผมมองแต่แรกแล้วว่า สงครามการค้าของ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่จะยืดเยื้อ ซึ่งก็เป็นจริง ผ่านมาเป็นปีแล้วยังไม่มีท่าทีจะจบลงได้ และผมไม่ได้มองว่าเป็นความขัดแย้งแค่การค้า แต่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงด้วย เพราะสหรัฐฯเป็นที่ 1 ของโลก อยู่ดีๆจีนจะขึ้นมาแข่งชิงความเป็นเบอร์ 1 สหรัฐฯต้องสกัด”
“สงครามการค้า” ครั้งนี้ เป็นเหมือน “ปรากฏการณ์ใหม่” ทางการค้าในศตวรรษที่ 21 หรือเป็น “Disruptive Global Market” ที่ทำให้การค้าโลกเปลี่ยนแปลง เหมือนเทคโนโลยี และสมาร์ทโฟนที่ทำให้ธุรกิจต่างๆเปลี่ยนแปลง และได้รับผลกระทบ
เพราะเมื่อสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 25% และจีนประกาศตอบโต้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯทันที ทำให้การค้าโลก รวมถึงตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกวุ่นวาย และในที่สุดทำให้เกิดการค้าผัน (Trade Diversion) และการลงทุนผัน (Investment Diversion) จากจีนไปประเทศอื่น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือระยะยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า สงครามการค้า ของ 2 ประเทศจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด
“สหรัฐฯ พยายามสร้างความไม่แน่นอน และบั่นทอนความเชื่อมั่นในจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงห่วงโซ่การผลิตสินค้า (Supply Chain) ของโลกออกจากจีน ดังนั้น ในช่วงต่อไปจะเห็นการค้า และการลงทุนพลิกผันมากขึ้น”
โดยหากผันมาทางเอเชีย หรืออาเซียน ไทยย่อมได้ประโยชน์แน่ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใหม่เจนจัดเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ก็น่าจะดึงการลงทุนมาลงที่ไทยได้ โดยมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นปลายทาง แต่ไทยต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศที่จะลงทุนเห็นชัดก่อนว่า “ไทยคือจุดหมายปลายทาง” หากยังนั่งเฉย นักลงทุนไม่มาแน่
อย่างไรก็ตาม การดึงดูดการลงทุนจากจีนมาไทย หรือย้ายฐานการผลิตมาไทย ก็มีสิ่งสำคัญที่ต้องระวังเช่นกัน คือ กรณีจีนมีปัญหากับสหรัฐฯ ถ้าจีนมาตั้งโรงงานในไทยมากๆ เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปสหรัฐฯ ไทยก็อาจจะมีปัญหากับสหรัฐฯได้อีก ซึ่งไทยไม่อยากมีปัญหากับทั้ง 2 ประเทศแน่นอน
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวเป็นหลัก หากทั้งสองเรื่องซบเซา โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจีนอาจมาเที่ยวไทยลดลง หลังเศรษฐกิจจีนซบเซาจากผลกระทบของสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบลดลงตามอย่างเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ยังมีข่าวว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มรายชื่อไทยเข้าไปอยู่ในบัญชีประเทศแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องอธิบายให้สหรัฐฯเข้าใจนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของไทย โดยรัฐบาลใหม่จะต้องมีความสามารถสูงมากด้านการเจรจา และการค้าระหว่างประเทศ ไม่เช่นนั้นไทยจะเหนื่อยมาก!!
วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
“ดูแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ และไม่น่าจะเจรจาจนสามารถบรรลุข้อตกลงได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เมื่อจีนพยายามขึ้นมา ชิงที่ 1 สหรัฐฯก็ย่อมต้องสกัด”
เมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอันดับ 1 และ 2 ขัดแย้งกัน แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำลายบรรยากาศการค้า การลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้น คนขายหุ้นทิ้งทันที แต่พอมีข่าวจะเจรจา ตลาดหุ้นก็เริ่มฟื้น แต่มองดูแล้ว อยู่ในทิศทางขาลงมากกว่า นอกจากนี้ยังกระทบต่อการลงทุนด้วย เพราะนักลงทุนต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนก่อน ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้า 25% มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนมาก
“เศรษฐกิจไทยเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้คาดว่าจีดีพีของไทยอาจลดลง 0.3% จากเป้าหมาย ส่วนมูลค่าส่งออกจะลดลง 1% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงเพียงใด แต่ในเมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ดี นักท่องเที่ยวจีนก็อาจลดการท่องเที่ยวลง”
ผลกระทบต่อไทยจะมีทั้งบวกและลบ เพราะผู้ส่งออกจีนจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯลำบากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ส่งออกสหรัฐฯ ก็จะส่งออกไปจีนลำบากด้วย ซึ่งสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนจะส่งออกได้ยากขึ้นเช่นกัน ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้ของไทยได้รับผลกระทบมาก แต่สินค้ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่อยู่ใน Supply Chain ของจีน เช่น สินค้าเกษตร อาหาร จะได้รับผลดี ที่จะส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีนได้
นอกจากนี้ ถ้าสงครามยืดเยื้อจนกลายเป็น “สงครามเย็น” ด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างการเมือง และเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแน่ โดยเฉพาะจีนจะย้ายฐานการผลิตมาประเทศที่ 3 ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์ด้วย แต่ไทยต้องทำตัวเองให้พร้อม และมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ที่สำคัญต้องทำให้นักลงทุนเห็นว่า ไทยมีเสถียรภาพ เหมาะสมกับการลงทุน โดยรัฐบาลใหม่ต้องเร่งสานต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อดึงดูดการลงทุนให้ได้
“ผลกระทบระยะสั้น หน่วยงานภาครัฐน่าจะเตรียมการลดผลกระทบไว้แล้ว ส่วนระยะยาว จะกระทบเพียงใดต้องติดตาม ซึ่งผลกระทบมีทั้งบวกและลบ บางส่วนเป็นโอกาสของไทย แต่เราต้องทำตัวให้เหมาะสมกับโอกาสนี้”
เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่าการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.62 จะทำให้มูลค่าส่งออกของไทยปี 62 ลดลงได้อีก 500 ล้านเหรียญฯ จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าจะลดลง 1,600 ล้านเหรียญฯ หรือการส่งออกไทยได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 2,100 ล้านเหรียญฯ”
แต่หากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งใหม่อีกมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญฯ อย่างที่ขู่ไว้ น่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของไทยปี 62 ลดลงอีก 1,500 ล้านเหรียญฯ รวมจะได้รับกระทบทั้งปีที่ 3,100 ล้านเหรียญฯ
เอกชนแนะรัฐบาลใหม่ออกมาตรรับมือ
สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การประชุม G–20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ หากสหรัฐฯตกลงปัญหากับจีนได้ ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศน่าจะมีแถลงการณ์ร่วมกัน แต่หากยังตกลงกันไม่ได้ ก็มีความเสี่ยงมากที่สหรัฐฯจะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่เหลือทั้งหมดจากจีน
นอกจากนี้ยังต้องติดตามรายงานของกระทรวงคลังสหรัฐฯ เรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าว่าจะมีรายชื่อประเทศใดอยู่ในกลุ่มที่ถูกระบุว่าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า หรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) โดยรายงานฉบับก่อน เดือน ต.ค.61 จัดให้ 6 ประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ต้องติดตามว่า รายงานฉบับใหม่จะระบุถึงการเกินดุลการค้าของไทยและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่ทางการสหรัฐฯใช้ในการประเมินการเกินดุลการค้าและการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนประเทศที่เข้าข่ายถูกติดตามอาจจะเพิ่มมากขึ้น
“ไทยน่าจะเผชิญกับผลกระทบของสงครามการค้า และประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯจะหยิบยกขึ้นมากดดันคู่ค้าต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เพราะคาดว่า สหรัฐฯอาจใช้มาตรการภาษีและอัตราแลกเปลี่ยนกดดันคู่ค้าที่เกินดุลการค้าจำนวนมาก เช่น จีน ต่อเนื่องอีกระยะ โดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย.63 เนื่องจากผลกระทบของการขึ้นภาษีสินค้าจีนที่มีต่อผู้บริโภคและธุรกิจในสหรัฐฯยังอยู่ในระดับที่พอรับได้”
ส่วนการเตรียมรับมือของไทยนั้น คงขึ้นอยู่กับระดับมาตรการต่างๆที่สหรัฐฯนำออกมาใช้ โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดที่สหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจากจีนทุกรายการ รวมถึงประกาศจับตาค่าเงินบาทของไทย จะทำให้การส่งออกไทยปี 62 และปี 63 ต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก จนอาจสร้างความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้
“ทางการไทย” อาจพิจารณานำมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจออกมาใช้เพื่อไม่ให้การส่งออกและเศรษฐกิจชะลอตัว จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่การจ้างงาน การใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงภาคธุรกิจ
เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน รอบที่ 2 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเหมือนเราถูก “สึนามิพัดถล่มเหมือนปี 47” เรียกว่า “อาจราบเรียบเป็นหน้ากลอง” เพราะสหรัฐฯและจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย
โดยเราส่งออกไปสหรัฐฯสัดส่วน 12% ของการส่งออกรวม และส่งออกไปจีน 10% รวมเป็น 22% ที่สำคัญเมื่อสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าสำเร็จรูปจากจีน 20-25% ถือเป็น “จุดชี้เป็นชี้ตาย” ทันทีของการส่งออกไทย เพราะปกติไทยส่งออกไปจีนในกลุ่มวัตถุดิบ เช่น พืชเกษตร ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ยางพารา กว่า 5,700 รายการ เพื่อให้จีนนำไปผลิตต่อเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ
เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้ ทุกอย่างคือมหาวิกฤติของประเทศไทย!!
“สงครามการค้า” ยังเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาให้กับทุกประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯและจีน เมื่อบรรยากาศการซื้อขายโลกไม่ดี กำลังซื้อในตลาดโลกชะลอตัว จีนก็จะหันกลับมาส่งออกในอาเซียนทดแทนตลาดสหรัฐฯ และประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักที่จีนจะปักหมุดส่งสินค้าเข้ามา โดยเฉพาะเหล็กเส้น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่จีนมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย และหากสินค้ากลุ่มนี้ทะลักเข้าไทย ผู้ประกอบการไทยอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส เพราะผู้ประกอบการจีนก็อาจย้ายฐานการผลิตในหลายๆ อุตสาหกรรมเข้ามาในไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตหนีปัญหาข้อขัดแย้งสงครามการค้า แต่จุดนี้มีความเสี่ยงในระยะยาว แม้จะเกิดการจ้างงานคนไทย แต่ก็มีผลเรื่องการเกินดุลการค้า เพราะขณะนี้ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 12 ของโลก หากจีนย้ายฐานเข้ามาจริง สหรัฐฯก็อาจปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อสกัดสินค้าจีนที่ผลิตในไทยได้เช่นกัน
ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ประกอบด้วย 1.หาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ที่มีประชากรรวมเกือบ 50% ของประชากรโลก ถือเป็นตลาดมีศักยภาพ มีกำลังซื้อมหาศาล
2.ต้องเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ยังยืดเยื้อ เช่น เอฟทีเอไทย-อินเดีย หรือประเทศในยุโรป 3.กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดเมืองรอง ผ่านการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรอง
ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.ไทยพาณิชย์
“สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ หากสหรัฐฯและจีนตกลงกันได้ในการประชุม G 20 ปลายเดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นกรณีที่ดีที่สุด ซึ่งเท่าที่เราประเมินกรณีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ 50% ซึ่งหากเป็นไปตามทิศทางนี้จะไม่กระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย จีดีพีปีนี้น่าจะโตได้ตามที่ไทยพาณิชย์ประเมินไว้ที่ 3.6% และตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับสู่ภาวะปกติที่เราประเมินดัชนีตามปัจจัยพื้นฐานได้ที่ 1,630 จุด โดยมี Forword PE ที่ 14.5 เท่า”
แต่หากตกลงกันไม่ได้ แต่ไม่มีการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีก จะมีผลกระทบจะทำให้ส่งออกไทยลดลง เพราะไทยส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางให้จีน กระทบการส่งออกสินค้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกดให้จีดีพีไทยขยายตัวได้เพียง 3.3% กระทบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน และดัชนีหุ้นไทยอาจชะลอตัวลงมาที่ระดับ 1,580 จุด คาดการณ์ Forword PE ที่ 14 เท่า ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้น้อยคือ 20%
ส่วนกรณีเลวร้ายสุดคือ ตกลงกันไม่ได้และสถานการณ์รุนแรงขึ้นต่างฝ่ายต่างตอบโต้กัน ซึ่งล้วนไม่เป็นผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกและไทย กรณีนี้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ 30% และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 3% กดดัชนีหุ้นไทยลงไปแถวๆ 1,550 จุด โดยมี Forword PE ที่ 13.5 เท่า
“กรณีเลวร้ายสุดคือ สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนก้อนสุดท้ายอีก 300,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจะกระทบกับประชาชนสหรัฐฯโดยตรง เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร จะไม่กระทบแค่เศรษฐกิจ แต่จะกระทบไปถึงตลาดเงิน ตลาดทุน และความนิยมของ “ทรัมป์”
ขณะที่จีนจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดทั้งต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายไม่น่าจะทำให้สงครามยืดเยื้อบานปลายจนถึงจุดนี้ เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดการเกลียดชังและต่อต้านสหรัฐฯในจีนมากขึ้นจนควบคุมไม่อยู่
สำหรับ “คำแนะนำ” การลงทุนของนักลงทุนนั้น หากเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะตกลงกันได้ในประชุม G 20 ดัชนีหุ้นไทยที่ลงมาต่ำกว่า หรือใกล้เคียง 1,600 จุด จึงน่าซื้อหุ้นได้
โดยเลือกกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ ที่จะได้ประโยชน์จากรัฐบาลใหม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันกำลังเกิดผล ทั้งนี้ “ไทยพาณิชย์” คาดการณ์ว่า หากสงครามการค้าคลี่คลายได้ ดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 3 มีโอกาสขึ้นไปได้ถึง 1,700-1,800 จุด จากปัจจัยบวกในประเทศ ก่อนจะชะลอตัวลงมาที่ระดับ 1,600-1,700 จุด ในไตรมาส 4
“แนะนำว่าไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แม้ราคาหุ้นจะโดนกดไปกับตลาด โดยกรณีที่เรามองเป็นกรณีที่ดีที่สุดมีความเป็นไปได้มากสุดถึง 50% แต่หากยังมีความกังวลกับความเสี่ยง ก็อาจจำเป็นต้องโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำคือ เงินฝากและพันธบัตรรัฐบาล”.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก