ห้องเม่าปีกเหล็ก

สรุปหนังสือ The Most Important Thing ** อยากให้อ่านครับ

โดย คนเล่นหุ้น
เผยแพร่ :
1,624 views

May be an image of ‎text that says '‎This hat arity, a useful book. WARREN BUFFETT The MOST IMPORTANT THING HOWARD MARKS Uncommon Sense for the Thoughtful Investor Columbia Business School اود ኢጥg‎'‎

The Most Important Thing

สรุปโดย Saksit Stampp Sangarun

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เท่าที่เห็นในกลุ่มซื้อขายหนังสือมือสอง หนังสือเล่มนี้ราคาพุ่งทะลุฟ้าเนื่องด้วยสาเหตุอะไรประกอบกันบ้างผมก็ไม่อาจรู้ได้ ตัวผมเองมีโอกาสอ่านตั้งแต่หนังสือถูกแปลออกมาใหม่ๆใน version illustrated ใช้ความพยายามอ่านมาก แต่ด้วยความเป็นมือใหม่ก็เลยท้อแล้วเน้นอ่านบทสุดท้ายที่เป็นสรุปขมวดปมของทุกๆบทเข้าไว้ด้วยกัน
.
หลังจากที่ได้รู้จักคนในวงการหนังสือ(ลงทุน)มากขึ้น พี่ที่เคารพคนนึงก็มาถามว่าชอบเล่มนี้ไหม ตอนนั้นตอบไปว่าเฉยๆ Howard Marksน่ะเหรอไม่ติดท้อป 5 ของผมหรอก! เพราะผมไม่ได้อินกับหนังสือเขาขนาดนั้น และไม่ได้ไปค้นคว้าต่อ (Top5 ของผมคือบัฟเฟตต์ มังเกอร์ โมนิช กาย ลินช์) และเนื่องจากสงสัยว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงแพงนักก็เลยไปอ่านใหม่ แต่เป็นฉบับไม่ illustrated และอ่านจากเล่ม Eng จากปากคำของโฮเวิร์ด มาร์คสเลย ส่วนเล่มไทยที่แปลโดยพี่เว็บเป็นillustratedแปลดีมากเช่นกันครับ
.
ชำแหละ the most important thing!
โฮเวิร์ด มาร์คส เป็นนักลงทุนใน Distressed Debt มือฉมังในช่วงเริ่มก่อตั้ง Oak Tree Capital แตกต่างจากบัฟเฟตต์หรือมังเกอร์ที่พยายามเข้าซื้อกิจการเพื่อเป็นเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือการสร้าง Berkshire Hathaway ให้เป็นInsurance Powerhouse ด้วยการใช้บัญชี Float จากการดำเนินกิจการประกันที่โตขึ้นเรื่อยๆมาลงทุนต่อ หรือบางทีก็เข้าไปในบอร์ดเพื่อบริหารจัดการเมื่อบริษัทมีปัญหา แต่OakTree ชำนาญเรื่องการเข้าไปซื้อของที่มี “ความน่าจะเป็นในการที่จะTurn around” เช่นการไปลงทุนในหนี้สินของบริษัทที่ถูกตัดสินให้ล้มละลายแล้วคิดว่าบริษัทนี้จะผ่านพ้นไปได้
.
ในหนังสือจะเน้น 17 เรื่อง 19 บท(พูดเรื่องความเสี่ยงสามบทเต็มๆ)ขมวดปมอีกหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดครั้งใหญ่มากหากไปอ่านแต่บทสุดท้าย เพราะตลอดทั้งเนื้อหาของเล่มนี้มีข้อคิดแฝงไว้เต็มไปหมด! และจะพลาดบทที่มีนาสซิม นิโคลัส ทาเลบเล่นบทนำด้วย
.
***"มาเริ่มกันที่เรื่องของความมีประสิทธิภาพของตลาดกันก่อน"
Howard Marks อาจเรียกได้ว่าเขามีอายุงานพอๆกับทฤษฎี EMT(efficiency market theory)เลยก็ว่าได้เพราะปีที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัยชิคาโก้ก็คือช่วงเดียวกับที่ EMT เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งมาร์คสบอกว่าความมีประสิทธิภาพของตลาดที่ว่าสำหรับเค้าก็คือการที่ข้อมูลทั้งหลายมันถถูรวมเข้าไปในราคาตลาดอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้แปลว่าราคานั้นจะเป็นราคาที่ ‘ถูกต้อง’ แล้วทำไมนักลงทุนถึงทำเงินได้ถ้าหากตลาดมันมีประสิทธิภาพล่ะ ไม่ใช่ว่าทุกราคาจะเป็นราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎีเหรอ ? สำหรับนักลงทุนบางคนนั้นมีทักษะและมุมมองที่ต่างจากคนอื่นและเห็นถึงความผิดพลาดของการตั้งราคาจริงๆ อีกอย่างคือนักลงทุนที่สุดยอดเหล่านั้นมองกรอบเวลายาวกว่านักลงทุนอื่นๆในตลาด ผลตอบแทนแค่ปีสองปีไม่สามารถบอกได้หรอกว่าคนๆนี้สุดยอด แต่หากทำได้อย่างสม่ำเสมอ และมีการเพิ่มมูลค่าเข้าไปในตลาดแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเอาชนะตลาดในระยะยาว เพราะฉะนั้น EMT มีไว้เพื่อบอกว่าในระยะสั้นๆแล้วข่าวล่ามาเร็วใครๆก็รู้ จึงได้รวมเข้าไปในราคาตอนนี้เรียบร้อย แต่การลงทุนเป็นธุรกิจทำนายอนาคต จึงเกิดความไม่มีประสิทธิภาพตามกรอบเวลาได้เช่นกัน
.
แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ
.
***สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ 'มีสติรู้ตัว ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง'
.
เพราะถ้าเราไม่มานั่งพิจารณาซักนิดว่าเรารู้และเข้าใจสิ่งใดบ้าง เราจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ Howard Marks เรียกว่ากลุ่ม “I know” คนกลุ่มนี้มีลักษณะมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คิดไปไกลว่าวิกฤติหรือสถานการณ์ต่างๆจะเปิดเผยออกมาอย่างไรในอนาคต ซึ่งมีโอกาสถูก แต่ก็มีโอกาสผิดเช่นเดียวกัน! เนื่องจากการสุ่มทีอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ถ้าสามรถคาดการณ์อนาคตได้จริงๆ การมานั่งปรับพอร์ตเป็นแนวรับก็กลายเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล การกระจายความเสี่ยงและความกลัวขาดทุนตัดทิ้งไปได้เลย ควรจะอัดเต็มและเล็งผู้ชนะเท่านั้น แต่ถาเราเกิดไม่รู้จริงๆว่าอนาคตจะเผยตัวออกมาอย่างไรทั้งในภาพเล็กและภาพใหญ่ เราสามารถทำได้แค่คาดการณ์และพยายามป้องกันตัวเองจากการทำพลาดทั้งหลายจะดีกว่า Howard Marks ยังยกคำของMark Twain ปิดท้ายไว้ว่า “มันไม่ใช่สิ่งที่คุณไม่ทราบหรอกที่พาคุณไปเจอกับปัญหาต่างๆ แต่มันเป็นเรื่องที่คุณมั่นใจเหลือเกินแต่ดันไม่เกิดขึ้นต่างหาก”
.
***"การที่เราทำผลตอบแทนได้ดี หาหุ้นได้เป็นเด้งๆ ถือว่าเป็นทักษะล้วนๆใช่ไหม ?"
.
Howard Marks บอกว่าโลกของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนหรือนอกแวดวงการลงทุนก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโชคทั้งนั้น อาจจะเรียกว่าการสุ่ม หรือเรียกว่าโอกาสก็แล้วแต่คนจะชอบ ในบทที่ 16 เข้าได้อ้างถึงหนังสือ Fooled by Randomness ว่าอธิบายเรื่องของการสุ่มได้ดีมาก อย่างที่ทาเลบได้ว่าไว้ว่า ทุกๆผลลัพธ์ของการกระทำใดๆอาจก่อให้เกิด "alternative history" ที่อาจเกิดขึ้นได้ และ"visible history"ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีคนมากมายที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่จนเรารู้จักกันในทุกวันนี้ แต่ก็มีคนอีกมากเหมือนกันที่รับความเสี่ยงพอๆกัน กล้าหาญพอๆกันแต่ดันประสบความสำเร็จเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตามที่อาจเกิดจากการสุ่มทำให้คนพวกนั้นกลายเป็นแค่footnoteของประวัติศาสตร์ไป
.
อย่างที่บัฟเฟตต์ได้เขียนไว้ในภาคผนวกของ Intelligent Investor เวอร์ชั่นที่ 4 ว่าให้จินตนาการถึงการแข่งโยนเหรียญ โดยคนในอเมริกา 225 ล้านคนโยนเหรียญดอลลาร์วันละ 1 ครั้ง ถ้าโยนออกหัวให้เก็บเงินจากคนที่ออกก้อยมาแล้วทำแบบนี้ไปเรื่อย อีกสิบวันต่อมาจะเหลือคนประมาณ 220,000 คนที่โยนออกหัวติดกันมาแล้วสิบครั้งและได้เงินมา 1000 เหรียญ หลังจากนั้นอีกสิบวันก็จะเหลือคนแค่ 215 คนพร้อมกับหนังสือที่คนเหล่านั้นเขียน โดยปกหน้าจะมีตัวหนังสือบรรยายว่า "ผมทำเงิน 1 เหรียญให้กลายเป็นหนึ่งล้านเหรียญในยี่สิบวันได้อย่างไร ด้วยการทำงานแค่วันละสามสิบวินาทีในตอนเช้า" ดังนั้นเราต้องระลึกไว้ด้วยว่า แค่เรื่องของการสุ่มเพียงอย่างเดียวอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันได้มากมายโดยไม่ต้องพึ่งพาทักษะใดๆเลย
.
***"อัลฟ่า กับเบต้า"
ถ้าใครที่เคยอ่านทฤษฎีการลงทุนมาแล้ว อาจจะคุ้นเคยกับค่าเบต้าและอัลฟ่า
-เบต้า คือการวัดเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวราคาของพอร์ตเทียบกับตลาด
-อัลฟ่านั้น Howard Marks นิยามไว้ว่าคือทักษะการลงทุน หรือความสามารถในการขับเคลื่อนศักยภาพพอร์ตออกมาซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของราคาตลาดเลย
ถ้าเรียนสมการเส้นตรงแล้วน่าจะคุ้นเคยกับ y=อัลฟ่า+เบต้าx
ซึ่งนักลงทุนที่มีทักษะเท่านั้นที่จะ 'จับดาบสองคม' แล้วบาดเจ็บไม่เท่ากันในสองด้าน(Asymmetry performance) หรือถ้าพูดอีกอย่างคือคนไม่มีทักษะในการลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูงและต่ำตามการขึ้นลงของเลย ถ้าตลาดกระทิงก็จะกระทิงตามไปด้วย และหากตลาดตกลงไปมากๆ พอร์ตก็จะพังเช่นเดียวกัน
.
การป้องกันตัวเองในขาลงให้เสียหายน้อยกว่าตลาดต้องอาศัยทักษะในการลงทุนมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนนี้เองที่ Howard Marks ถือว่าเป็นการ "เพิ่มมูลค่า" ให้กับการลงทุน ส่วน Portfolio Manager ทั้งหลายที่ไม่ได้มีทักษะมากนักก็อาจจะอยู่ไม่รอดเพราะถูกเรียกถอนเงินทุนออกในช่วงตลาดลงหนัก วิธีแก้สามารถอ่านต่อย่อหน้าสุดท้ายได้ครับ
.
***"มูลค่า และความสัมพันธ์กับราคา"
Howard Marks บรรยายถึงการที่ช่วงเวลาในการทำงานของเขา ได้เห็นการใช้ Technical ถดถอยลงไปบ้างเนื่องจากการมาของ EMT ทำให้เหลือเรื่องที่ต้องสนใจอยู่สองอย่างคือ Value investing กับ Growth Investing(มุมมองของเขาเปลี่ยนไปนิดหน่อยในปี 2020 ที่บริษัทเทคโนโลยีกลับมาอีกครั้งหลังจากเละเทะไปในปี 2001 และได้คุยกับลูกชายที่เป็น growth investor) ในเรื่องของมูลค่านั้น สิ่งที่มีคุณค่าควรให้ความสำคัญคือ ความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรเข้ามาในบริษัท
.
หากเป็นเบน เกรแฮมสมัยก่อนก็จะยึดตามหลัก 'ซื้อของมูลค่า 1 เหรียญโดยการจ่ายเงินเพียง 50 เซนต์' ส่วนมังเกอร์จะออกเป็นแนว ซื้อธุรกิจที่ดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งทั้งสองวิถีนี้มีจุดร่วมคือ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ราคาตลาดจะเข้ามาใกล้กับมูลค่าที่แท้จริง! มีอยู่สามอย่างที่ Howard Marks คิดว่านักลงทุนไม่ว่าจะแนว Value หรือ Growth ต้องมีพื้นฐานพอ
1. ต้องรู้ขอบเขตมูลค่าที่แท้จริงออก
2. หากราคาลงมาและมีโอกาสซื้อเพิ่มให้ซื้อ (เป็นข้อได้เปรียบของการ raise cash ของกองทุน และบริษัทที่สามารถจัดสรรกำไรบริษัทลูกได้อย่าง Berkshire) ถือเอาไว้ รอเวลาที่มูลค่าจะเผยตัวออกมาในอนาคต
3. สำคัญสุด ต้องคิดถูกต้อง!!
.
ฝึกฝนให้เป็นพอล โมดดิบแห่งอาราคิส!
.
สำหรับคนที่ไม่ได้อ่านดูน ราชันย์ทะเลทรายขออนุญาตสปอยนะครับ
คือพอลเนี่ยมีแม่เป็นท่านหญิงเจสสิกาที่ฝึกจิตมาตัดความรู้สึกต่างที่เข้ามารบกวนใจได้อย่างทันทีทันใด เมื่อรู้สึกว่าตัวเองโกรธ ก็สามารถระงับความโกรธได้เลย แม่ฝึกพอลแบบนั้นเหมือนกันตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตขึ้นอายุได้สิบห้าก็เข้าทำการทดสอบจิตใจจนผ่านแบบทดสอบสุดโหดได้ ความกลัวความหลงทั้งหลาย ต้องพยายามตัดมันออกไปให้เร็วที่สุด เรียกอีกอย่างว่าการปรับสภาพจิตใจ(เพื่อที่จะได้รับมือ'เครื่องเทศ'บนดาวได้) เราจะกลับมาที่เปรียบเทียบเรื่องนี้กับบทที่สิบของ The Most Important Thing มีอยู่บทหนึ่งในหนังสือกล่าวถึงการต่สู้กับต่อสู้กับอิทธิพลทางลบทางจิตวิทยาดังนี้
.
1.ความโลภ เป็นแรงผลักที่มากพอจะทำให้มองข้ามสามัญสำนึกไปได้
2.ความกลัว ซึ่งผลักดันให้เราไม่ลงมือทำสิ่งต่างๆในเวลาที่ควรทำ
3.การปฏิเสธความจริง อย่างที่ชาร์ลี มังเกอร์ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรง่ายไปกว่ากาหลอกตัวเองอีกแล้วล่ะ”
4.การไหลไปตามฝูงชนแทนที่จะคิดตรงข้าม หลายๆครั้งที่ผู้คนเลิกคิดเอะใจและทำตามๆกันไปเพราะมั่นใจเกินเหตุ
5.ความอิจฉา เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่พยายามาให้มกขึ้นไม่รู้จักพอเนื่องจากเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
6.ความทะนงตน ซึ่งอาจเกิดจากการเปรียบเทียบผลตอบแทนระยะสั้นไม่กี่ปี เมื่อสิ่งต่างๆเข้าข้างเรา แลทำให้เราถูกแม้มันจะเป็นเรื่องของโชคช่วย มันก็ยังสนุกที่จะรู้สึกว่าตัวเองฉลาดอยู่ดี
.
ยาแก้พิษเหล่านี้ไม่มีและแก้ได้ยากมากซะด้วย เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่เกิดตามธรมชาติ ต้องตระหนักรู้และมีปรัชญายึดเหนี่ยวเอาไว้ให้ดี อย่างที่มันเกอร์บอกไว้ว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”
.
“And Who doesn’t know that ?”
บทแรกเริ่มของหนังสือเล่มนี้คือ Second Level thinking นั่นคือให้คิดซ้อนไปมากกว่าการคิดปกติ (ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทักษะ ประสบการณ์ แล้วก็มีปัจจัยหลายอย่างมาก) ไม่ใช่ว่าใครๆจะเริ่มหัดคิดแบบสองชั้น สามชั้นหลายตลบโดยธรรมชาติได้ คนที่มีประสบการณ์มากกว่า มีชุดความคิดในการแก้ปัญหาแบบชารืลีมังเกอร์ที่แนะนำให้ใช้Checklist เข้าทานความเข้าใจในการลงทุนอยู่เสมอ คนประเภทนี้อาจจะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่กับมือใหม่คงต้องใช้เวลา
คนที่คิดชั้นเดียวอาจคิดว่า “ธุรกิจนี้กำลังจะเติบโตเพราะมีสัญญาใหม่ที่ทำร่วมกับคู่ค้ารายใหญ่ให้เอาสินค้าไปขายในร้านได้ มันจะต้องโตไปมากกว่านี้แน่ๆ ต้องซื้อแล้ว!” แต่คนทีคิดอีกชั้นนึงอาจจะมีคำถามสะกิดต่อมาอกว่า “แล้วใครเค้าไม่รู้เรื่องนี้กันล่ะ ใครๆก็รู้ ข่วดีหมดแล้วเดี๋ยวก็ลง ขายก่อนละกัน!”
.
***“ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง สัมพันธ์กันแบบ linear จริงเหรอ ?”
จากรูปที่แนบมาในโพสต์นี้นะครับจะเห็นว่ามันเหมือนคันธนู แต่จริงๆแล้วมันคือ Standard Distribution Curve ที่เอามาวาดแนวตั้ง ให้ตรงกลางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับกราฟเส้นตรง Risk vs Return จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราเคยได้ยินในชั้นเรียนการลงทุนหรือธุรกิจ หรือแม้แต่เศรษฐศาสตร์ก็ต่างพูดว่า High Risk High Return ทั้งนั้น แต่ Howard Marks กลับมองว่ามันเป็นจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การที่ความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนออกมาสูงก็เป็นไปได้ ซึ่งจะไม่สูงมาก เป็นไปตามการกระจายอาจจะได้ผลลัพธ์ออกมา 3 ซิกม่าหรือ 4 ซิกม่าบวกลบเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและบาลานซ์พอร์ตให้เกิดความเสี่ยงที่เราได้ ควบคุมได้เป็นเรื่องจำเป็น
.
***“อยู่กับวัฏจักร รู้ว่ายืนอยู่ตรงไหน และทำความรู้จักกับจิตวิทยาแบบเพนดูลัม”
มีกฎอยู่สองบข้อ
1. ในโลกการลงทุน เกือบทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในรูปแบบของวัฏจักร
2.โอกาสที่ยิ่งใหญ่ มักเกิดจากการที่ผู้คนส่วนมากลืมกฎข้อที่ 1
ซึ่งข้อที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อความความกลัวความเสี่ยงลดน้อยถอยลง มองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องดีๆเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วกระบวนการสามารถเอามาอธิบายได้ประมาณนี้
-เศรษฐกิจเติบโต รุ่งเรือง
-คนปล่อยเงินทุนเพิ่ม หรือระดมเงินมาปล่อยกู้เพิ่ม
-ข่าวร้ายถูกนำเสนอน้อยมาก
-ความกลัวต่อความเสี่ยงลดลง
-สถาบันการเงินเริ่มเพิ่มกำลังในการปล่อยกู้
-เริ่มลดมาตรฐานการปล่อยกู้ลง ลดมาตรฐานการพิจารณาเครดิต และ"การปล่อยกู้ครั้งที่แย่ที่สุดมักจะเกิดขึ้นตอนที่ทุกๆอย่างดูดีสุดๆ"
ทุกๆอย่างจะโตแบบรวดเร็วมากจนกระทั่ง wait for it!!
.
ผลตอบแทนต่อเงินทุนไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป (no return on capital)
.
โอ้โห ทีนี้ข่าวดีเมื่อวานก็ไม่ดีอีกต่อไปแล้ว เงินที่ต้นทุนแสนถูก โดนเรียกเก็บและค่อยๆล้มกันเป็นโดมิโน่ไล่กันไปเรื่อยๆ พอทุกอย่างสงบลงก็ค่อยเริ่มวงจรนี้ใหม่อีกรอบ
.
เพราะฉะนั้น การขึ้นและลงของราคาจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความรู้สึกดีและแย่กับการลงทุนเดียวกันนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงจึงขึ้นอยู่กับ 'ราคาที่เข้าซื้อ' วัฏจักรจึงมีผลต่อperformanceของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ทักษะเพียงอย่างเดียว เราจึงต้อง'วัดไข้'ตลาดด้วยว่าตอนนี้อยู่ตรงไหนของ Pendulum(รูปลูกตุ้มที่แนบมา)
.
ซึ่งตรงกลางเราจะเรียกว่า Happy Medium ฝั่งซ้ายมืออาจเรียกว่า Depression ซึ่งเกิดเมื่อวัฏจักรเครดิตเป็นขาลง และขวามือเป็น Euphoria เมื่อวัฏจักรเครดิตเป็นขาขึ้น มีสินทรัพย์ที่ถูกแย่งกันเข้าซื้อแบบไม่สมเหตุสมผล หากเกิด"Too much money Chasing too few deals" ตลาดแบบนี้เป็นตอนที่ไข้ขึ้นสูงและพร้อมจะระเบิดทุกเมื่อ มีเพียงคนที่โชคดีบางกลุ่มเท่านั้นทำกำไรได้ดี
.
ซึ่งHoward Marksบอกว่า ตอนที่ตลาดเป็นDepressionนี่แหละคือโอกาสสุดยอดของการเข้าไปหาบริษัทที่ดี ยิ่งซื้อได้ราคาถูกความเสี่ยงยิ่งต่ำลงด้วย(ไม่ใช่ไม่มี แต่เสี่ยงต่ำกว่าเพราะมีmargin for error) พฤติกรรมซื้อสวนทางเป็นเรื่องที่ขัดต่อสัญชาติญาณฝูงของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องการประสบการณ์พอสมควร
.
เมื่อไหร่ที่เจอคนบอกว่า This time is different ให้ระวังเอาไว้ว่าตอนนั้นลูกตุ้มเพนดูลัม อาจเหวี่ยงเกือบสุดทางแล้ว
.
***“การตีเทนนิสให้ชนะแบบมือสมัครไม่ใช่เรื่องซับซ้อน 1 อย่าตีพลาดบ่อย 2 โต้แบบตั้งรับให้นานที่สุด”
ในหัวข้อนี้ Howard Marks พูดถึงการระมัดระวังตัวเองไม่ให้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่จะทำให้เกิดการผิดพลาดครั้งใหญ่ พยายามเน้นการตั้งรับให้ดี ลงทุนแบบ Defensive เข้าไว้เพราะถ้าเราไปเร่งทำผลตอบแทน อาจทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่กับเงินทุน สิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนที่บัฟเฟตต์ย้ำเตือนตลอดก็คือเรื่องของการให้มี ส่วนเยื่อความปลอดภัย(.Margin of Safety or Margin of error)ในกรณีที่อนาคตนั้นไม่ได้ออกมาเป็นแบบที่คดหวังเอาไว้ เมื่อเจจ็บตัวก็จะไม่เจ็บมาก และสามารถอยู่ในเกมต่อไปได้ การลงทุนที่ดีต้องหาสมดุลว่าเมื่อไหร่ควรจะเข้ารุกหรือตั้งรับให้ดี ถ้าขาลงเราเสียหายน้อยกว่าตลาดและขาขึ้นเราทำได้ดีพอๆกับตลาด เท่านี้เราก็เหนือค่าเฉลี่ยแล้ว!
.
สุดท้ายคือ Howard Marks คิดว่าข้อดีของเกมการลงทุนเมื่อเทียบกับเกมกีฬาก็คือ นักลงทุนไม่ได้ถูกจำกัดเวลาที่จะเข้าเล่นในสนามด้วยความแข็งแกร่งทางร่างกาย จึงทำให้ช่วงเวลาในการทำอาชีพนี้อยู่ได้นานกว่ามาก แต่นักบริหารเงินหลายคนกลับทำอาชีพนี้ได้ไม่นาน(เกิดparadox) เนื่องจากช่วงเวลาที่อยู่ในสนามพวกเขาพยายามหวดมากไป เมื่อตีโดนlooser’sเข้าบ่อยๆก็เลยต้องออกจากเกมไปโดยปริยาย


คนเล่นหุ้น