ห้องเม่าปีกเหล็ก

PTT กำไรลด

โดย Sunnyday
เผยแพร่ :
50 views
PTT เผย Q1/65 กำไร 25,571 ลบ. ลดลง 21.5% เหตุกลุ่มปิโตรฯ-โรงไฟฟ้าชะลอ
 
 
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 มีกำไร 25,570.94 ล้านบาท หรือ 0.89 บาท/หุ้น ลดลง 21.5% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 32,587.61 ล้านบาท หรือ 1.14 บาท/หุ้น
.
ใน Q1/65 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 142,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39,704 ล้านบาท หรือ 38.5% จากไตรมาส 1/64 ที่จำนวน 102,997 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามราคาขายเฉลี่ย และปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นเพิ่มขึ้น จากธุรกิจการกลั่นที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจาก Accounting GRM ที่เพิ่มขึ้นจาก 6.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน Q1/64 เป็น 8.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
.
ทั้งนี้ กำไรสต๊อกน้ำมันของกลุ่มปตท. เพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาทตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
ในขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ ทั้งสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานมีผลการดำเนินงานลดลงโดยหลักจากธุรกิจไฟฟ้าที่ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตรากำไรจากการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง
.
นอกจากนี้บริษัทมีผลขาดทุนตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นมากจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากราคาซื้อขายน้ามันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำสุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นกำไรลดลง เหลือ 929 ล้านบาท จาก Q1/64 ที่ 4,874 ล้านบาท โดยหลักจากการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 ประมาณ 7,000 ล้านบาทสุทธิกับการตัดจำหน่ายสินทรัพย์บางส่วนในโครงการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศบราซิลประมาณ 2,900 ล้านบาท ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
.
สำหรับใน Q2/65 คาดว่าราคาน้ำมันดิบใน Q2/65 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 98 - 103 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10.5 – 11.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ในไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 โดยมีปัจจัยส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันดิบและแนฟทาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย – ประเทศยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
 
 

Sunnyday