
แม้กลุ่มนักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) เข้าเก็บหุ้น ทำให้ปิดตลาด (พุธ 24 ต.ค.) มียอดซื้อสุทธิไปเกือบ 6 พันล้านบาท สวนทางกับแรงขายกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และพอร์ตโบรกเกอร์ ที่ปิดตลาดขายสุทธิ 916 ล้านบาท และ 1.04 พันล้านบาท ตามลำดับ ทุบดัชนีตลาดหุ้นไทยดำดิ่งลงไปทดสอบจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
“วิวัฒน์ เตชะพูลผล” รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ บอกกับ Money Channel ว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงได้อีก โดยมองกรอบแนวรับรอบนี้ 1,570-1,600 จุด เบื้องต้นคาดใช้ระยะประมาณ 1 สัปดาห์ในการปรับฐาน เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกเริ่มแสดงความกังวลกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่กำลังส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งผลให้เกิดภาวะเร่งขายหน่วยลงทุนออกมาในฝั่งของ Global Fund ที่ในรอบนี้พบว่าเกิดผลขาดทุนทั้งจากการลงทุนในตลาดทุนและตราสารหนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากตลาดหุ้นในฝั่งยุโรปปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดในรอบหลายปี โดยในฝั่งตลาดหุ้นไทยเชื่อว่าลงทดสอบจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ระดับ 1,585 จุด ก่อนจะเกิดแรงซื้อคืนหนุนดัชนีฯ รีบาวด์ได้อีกครั้ง
ความเสี่ยงในระยะสั้นคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงแรง จากกรณีซาอุดีอาระเบียยืนยันจะไม่ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือ แม้จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและชาติยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ปรับตัวขึ้นไม่ได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริง ขณะที่ในปี 2562 นักพยากรณ์ประเมินเศรษฐกิจโลกว่าจะชะลอตัว จากผลกระทบสงครามการค้า ดังนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวลงอีก หุ้นกลุ่มเครือ ปตท. ที่เป็นกลุ่มชี้นำดัชนีฯ จะกดดันอัพไซด์ของ SET INDEX ในระยะถัดไป
สำหรับกลยุทธ์ในช่วงนี้ ค่ายทิสโก้รายนี้ ย้ำว่ายังไม่ต้องรีบเข้าซื้อหุ้น เพราะมีโอกาสปรับฐานได้อีก โดยติดตามปัจจัยที่จะช่วยหนุนบรรยากาศรอบนี้คือวันที่ 2-9 พ.ย.นี้ที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งคาดหวังว่าภายหลังจากการเลือกตั้งรอบนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะลดท่าทีความร้อนแรงในการใช้นโยบายสงครามการค้าในระยะถัดไป
"Global Fund เร่งขายออกมา เพราะเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอ น้ำมันดิบปรับตัวลงแรง ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง กดดันให้ SET ปรับฐานรอบนี้ โดยในวันนี้หุ้นรายตัวปรับตัวลงเฉลี่ย 2% ส่วนหุ้นพลังงานลดลงเฉลี่ยมากกว่า 5% ซึ่งหากสถานการณ์ปัจจัยลบในต่างประเทศเริ่มคลี่คลายดัชนีฯระดับที่ 1,570-1,600 จุด ก็น่าจะเห็นแรงซื้อคืนได้ในระยะสั้น" คุณวิวัฒน์ กล่าว
ด้าน “ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล. เคที ซีมิโก้ บอกกับ Money Channel ว่า ถ้าพิจารณากราฟเทคนิค SET INDEX ได้หลุดแนวรับมาตามลำดับ โดยเริ่มตั้งแต่ 1,664 จุด เกิดขายหลุด 1,630 จุด ในรอบนี้คงต้องมาติดตามว่าถ้าทดสอบ 1,600-1,570 จุด ดัชนีฯจะสามารถรีบาวด์ได้หรือไม่ แต่บรรยากาศล่าสุดดูเหมือนว่าตลาดจะยังอยู่ในทิศทางขาลง แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกมา แต่เชื่อว่าจะยังมีกองทุน LTF และ RMF เข้ามาช่วยประคับประคองได้ในช่วงปลายปี เพราะปัจจุบันระดับ P/E ของตลาดหุ้นไทยที่ 15 เท่า ถือว่าน่าสนใจเข้าซื้อสะสม แต่ต้องมาติดตามท่าทีของนักลงทุนว่าจะกังวลกับความเสี่ยง จนต้องชะลอการลงทุนหรือไม่
ส่วนกลยุทธ์ลงทุน แนะนำเลือกเป็นรายตัว โดยเน้น 2 ธีมหลักที่เลี่ยงผลกระทบปัจจัยลบต่างประเทศ ได้แก่ หุ้นที่มีปันผลสูง 5-6% และรับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ส่วนหุ้นอิงกับเศรษฐกิจโลก หรือพลังงาน แนะหลีกเลี่ยงมีความเสี่ยงขาลงในระยะสั้น
ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนคงต้องติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/61 ของบริษัทขนาดใหญ่หลายรายว่าจะเป็นปัจจัยเข้ามาซ้ำเติมแรงขายในตลาดหุ้นไทยอีกหรือไม่ โดยในวันที่ 25 พ.ย.นี้เป็นคิวของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ส่วนในสัปดาห์หน้า (29 ต.ค.-2 พ.ย.) จะเป็นกลุ่มสื่อสาร เช่น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC),บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เป็นต้น
ด้านนักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง คาดว่าผลการดำเนินงานของ PTTEP มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4/61 คาดว่าบริษัทจะรายงานกำไรหลักไตรมาส 3/61 ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% Y/Y และ 9% Q/Q และทำสถิติสูงสุดของปีนี้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% Y/Y และ 43% Q/Q ในไตรมาส 4/61 หนุนโดยปริมาณขายปิโตรเลียมและราคาปิโตรเลียมที่ปรับตัวสูงขึ้น การรับรู้สัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในแปลงบงกชและการรับก๊าซจากผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้น จะหนุนปริมาณขายปิโตรเลียมให้เติบโตต่อเนื่อง นอกจากนั้นราคาขายปิโตรเลียมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดัชนีหุ้นไทยวันนี้ปิดทำการที่ระดับ 1,623.37 จุด ลดลง -35.19 จุด หรือ -2.12% มีมูลค่าการซื้อขาย 65,168 ล้านบาท หลักทรัพย์ที่กดดัชนีมากที่สุด 5 อันดับแรก (Most Impact Loss)
1.PTT ปิดที่ระดับ 48.50 บาท ลดลง -1.75 บาท หรือ -3.48% ราคาหุ้นที่ลดลงมีผลต่อดัชนี -4.916 จุด
2.PTTEP ปิดที่ระดับ 134.00 บาท ลดลง -11.00 บาท หรือ -7.59% ราคาหุ้นที่ลดลงมีผลต่อดัชนี -4.2949 จุด
3.IVL ปิดที่ระดับ 52.00 บาท ลดลง -3.25 บาท หรือ -5.88% ราคาหุ้นที่ลดลงมีผลต่อดัชนี -1.7946 จุด
4.CPALL ปิดที่ระดับ 63.00 บาท ลดลง -2.00 บาท หรือ -3.08% ราคาหุ้นที่ลดลงมีผลต่อดัชนี -1.767 จุด
5.SCB ปิดที่ระดับ 136.00 บาท ลดลง -4.50 บาท หรือ -2.12% ราคาหุ้นที่ลดลงมีผลต่อดัชนี -1.5027 จุด
SET ติดลบมาหลายวันติด ต้องวางแผนการลงทุนกันไว้ดีๆ เก็บเงินสด หาจังหวะเก็บหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก ใจต้องนิ่งหน่อย ช่วงนี้นะ