ห้องเม่าปีกเหล็ก

สรุป วิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ด้วย Discounted Cash Flow แบบง่าย ๆ

โดย illumitus
เผยแพร่ :
9,946 views

สรุป วิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ด้วย Discounted Cash Flow แบบง่าย ๆ | MONEY LAB

 

วิธีในการประเมินมูลค่าหุ้น สำหรับบริษัทที่เราอยากนำเงินไปลงทุนนั้น มีมากมายหลายวิธี

แต่รู้ไหมว่า มีวิธีในการประเมินมูลค่าหุ้นยอดฮิตอยู่วิธีหนึ่ง ที่นักลงทุนระดับโลก มักใช้กันอย่างแพร่หลาย

วิธีนี้เรียกว่า “ประเมินมูลค่าหุ้นด้วยการคิดลดกระแสเงินสด” หรือ “Discounted Cash Flow”

แล้วการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี Discounted Cash Flow หรือ DCF เป็นอย่างไร ?

MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ

หลักการประเมินมูลค่าหุ้นด้วย DCF ก็คือ การที่เราคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระ ที่บริษัทสามารถทำได้ ตลอดช่วงชีวิตของบริษัท แล้วค่อยคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน

โดยกระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow คือ กระแสเงินสดที่คงเหลือ หลังจากที่บริษัทใช้จ่ายเงินไปในการลงทุนเพื่อทำธุรกิจ

ขั้นตอนในการนำวิธีนี้ไปใช้ ประกอบไปด้วย

1. คำนวณหากระแสเงินสดอิสระ และกระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น

กระแสเงินสดอิสระ สามารถคำนวณได้จาก

เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน

ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 บริษัท A

- ได้เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน 500 ล้านบาท

- มีรายจ่ายเพื่อการลงทุน 150 ล้านบาท

ดังนั้น บริษัท A มีกระแสเงินสดอิสระ 350 ล้านบาท

โดยบริษัท A มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 500 ล้านหุ้น ทำให้บริษัท A มีกระแสเงินสดอิสระต่อหุ้นเท่ากับ 0.7 บาทต่อหุ้น

2. นำกระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น มาคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น

ในการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องใช้ก็คือ “อัตราคิดลด” หรือ “Discount Rate”

อัตราคิดลด คือเครื่องมือที่เราใช้ ในการแปลงมูลค่าในอนาคต กลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบมูลค่าของสินทรัพย์เดียวกัน ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ขอสมมติว่าอัตราคิดลด อยู่ที่ 6% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว

นำอัตราคิดลด หารกับกระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น ทำให้เราได้มูลค่าของบริษัท A ออกมา เท่ากับ 11.6 บาทต่อหุ้น

ต้องบอกก่อนว่า จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เราตั้งสมมติฐานให้บริษัท A สามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระได้ 350 ล้านบาทต่อปี ไปตลอด

แต่ถ้าเราตั้งสมมติฐานให้กับบริษัท A ใหม่ โดยกระแสเงินสดอิสระที่บริษัท A ทำได้ ในแต่ละปี จะมีการเพิ่มขึ้น

มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ที่เราประเมินออกมาได้ ก็จะเปลี่ยนไปด้วย

เช่น เราอาจคาดการณ์ว่า บริษัท A มีศักยภาพในการเติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน

- ใน 10 ปีแรก กระแสเงินสดอิสระสามารถเติบโตเฉลี่ยปีละ 8%

- หลังจากปีที่ 11 เป็นต้นไป กระแสเงินสดอิสระจะเติบโตได้เฉลี่ย 3% ต่อปี

จากสมมติฐานนี้ เมื่อเราประเมินมูลค่าของบริษัท A อีกครั้ง เราจะได้มูลค่าของบริษัท A เท่ากับ 36.8 บาทต่อหุ้น

3. กำหนดส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย เพื่อหาราคาซื้อเป้าหมาย

ในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น เป็นการยากมากที่เราจะสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงออกมาได้อย่างแม่นยำ

ดังนั้น เราจึงควรต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety เอาไว้เสมอ

เพื่อหาราคาซื้อหุ้นที่เหมาะสม และไม่ให้เราซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงจนเกินไป

ในกรณีของหุ้น A เราก็อาจจะกำหนดส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเอาไว้ที่ประมาณ 50%

ดังนั้น เราจะซื้อหุ้นของบริษัท A ในราคาที่ไม่เกิน 18.4 บาทต่อหุ้น

สมมติว่าถ้าในปัจจุบัน หุ้น A กำลังซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น

หมายความว่า หุ้น A กำลังซื้อขายกันอยู่ในระดับราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หลังเพิ่มส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย

ดังนั้น ถ้าเราซื้อหุ้นแล้วถือเอาไว้ จนวันที่ราคาหุ้นได้สะท้อนกลับมายังมูลค่าที่แท้จริง ตามที่เราคำนวณไว้ เราก็จะได้รับผลตอบแทน จากการลงทุนสูงถึง 268%

สรุปแล้ว สิ่งที่เราต้องรู้ ก่อนจะนำมาใช้ทำ DCF คือ

- กระแสเงินสดอิสระที่บริษัทสามารถทำได้

- อัตราการเจริญเติบโตของกระแสเงินสดอิสระ ในแต่ละปี

- อัตราคิดลดที่เหมาะสม

ซึ่งเวลาคำนวณกระแสเงินสดอิสระของบริษัทนั้น เราควรตรวจสอบย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี เพื่อดูว่า บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดอิสระออกมาได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่

และที่ผ่านมา กระแสเงินสดอิสระมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของกระแสเงินสดอิสระ จะเป็นเรื่องของการประเมินแนวโน้มในอนาคตของบริษัท

ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจคุณภาพของบริษัทในเชิงลึก จึงจะสามารถกำหนดตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตออกมาได้

สำหรับการคำนวณหาอัตราคิดลดนั้น เราก็อาจจะสามารถใช้วิธีแบบคุณ Warren Buffett ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว มาเป็นอัตราคิดลด

เมื่อเรามีส่วนประกอบทั้งหมดครบถ้วนแล้ว เราก็สามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงออกมาด้วยวิธีการ DCF ได้

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือ การมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเวลาเข้าซื้อหุ้น ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องขาดทุน..

 

References

-หนังสือ Gone Fishing with Buffett: A Young Man Learns Value Investing from a Mysterious Old Man (2012) โดย Sean Seah

-หนังสือ The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns (2007) โดย Mohnish Pabrai

-Bill Ackman: Free Cashflow is All You Should Care About

-Warren Buffett: How to Calculate the Instrinsic Value of a Stock

-หนังสือ The Warren Buffett Way (1994) โดย Robert G. Hagstrom

-หนังสือ The Most Important Thing Illuminated: Uncommon Sense for the Thoughtful Investor (2013) โดย Howard Marks และ Paul Johnson

-หนังสือ Warren Buffett Accounting Book: Reading Financial Statements for Value Investing (2014) โดย Stig Brodersen และ Preston Pysh

 

 


illumitus