เงินโฆษณาลด ฉุดสื่อ ช่อง3-ช่องวัน31 ‘กำไรหด’ เวิร์คพอยท์ ‘ขาดทุน’
บทสรุป ธุรกิจสื่อยังเจอความท้าทายในการหารายได้เม็ดเงินโฆษณา เสาหลักสำคัญ ทำให้ช่องทีวีดิจิทัล เผชิญ “กำไรหดตัวลง” จนถึง “ขาดทุน”

ยักษ์ใหญ่วิก 3 พระราม 4 อย่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน)หรือช่อง 3 ผลงานปี 2567 ทำรายได้จากการดำเนินงาน 4,251.5 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมี “กำไรสุทธิ” 96.3 ล้านบาท ลดลง 113.7 ล้านบาท หรือลดลง 54.2% เป็นผลจากการปรับตัวลงของเม็ดเงินสื่อโฆษณา ที่มาจากสภาพเศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ เจาะรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ทั้งปีอยู่ที่ 3,450 ล้านบาท ลดลง 513.1 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 12.9% โดยผู้ใช้งบโฆษณายังลงทุนและใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง สำหรับรายได้โฆษณา ถือเป็นรายหลักของบริษัทด้วยสัดส่วน 81.1% ซึ่งมาจากทีวีดิจิทัล “ช่อง 33” ด้วย ขณะที่รายได้อื่นๆ อย่างการให้ลิขสิทธิ์และบริการอื่น ซึ่งมาจากธุรกิจการจัดจำหน่ายละครไปต่างประเทศ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม และธุรกิจจัดกิจกรรมและบริหารศิลปิน เติบโต 15.4%
ในปี 2568 บีอีซี ฯ มองเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย พร้อมคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Recipt 2.0 การแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และ 3 รวมถึงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งเครื่องแก้ปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนจากสงครามการค้ารอบใหม่ เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจทั้งโลก รวมถึงความขัดแย้งภูมิภาครัฐศาสตร์ รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่จบ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ฯ อาจเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลให้หลายบริษัท “ชะลอใช้เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อปี 2568”
อย่างไรก็ตาม บีอีซีฯ ยังมองเห็นโอกาสเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต มุ่งสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัวหรือ Lean Organization พัฒนาศักยภาพเชิงรุก พร้อมใช้กลยุทธ์ Single Content, Multiple Platforms สายวิชั่นผู้นำทางด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย และจะเสิร์ฟคอนเทนต์ป้อนหรือเข้าถึงคนดูให้มากสุด รวมถึง “ขยายธุรกิจใหม่” นอกเหนือจากธุรกิจโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังต่างประเทศในพื้นที่ใหม่ และเพิ่มการซื้อในประเทศที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว ผลักดันแพลตฟอร์ม 3Plus ไปยังฐานผู้ชที่มีอายุน้อยลง คนรุ่นใหม่ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดผู้ชมที่สมัครสมาชิก(SVoD) ต่อยอดการผนึกพันธมิตร “เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม-บีอีซี เวิลด์” ผลิตภาพยนตร์ 2-3 เรื่อง เป็นต้น
ขณะที่ ช่องวัน 31 ภายใต้การนำทัพของ “ถกลเกียรติ วีวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้นำ Content Creator & Lifestyle Entertainment สร้างความครบวงจรที่เป็นมากกกว่าช่องทีวี ผลประกอบการปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 6,669.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154.35 ล้านบาท หรือเพิ่ม 2.37%
ทว่า “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 426.23 ล้านบาท ลดลง 80.34 ล้านบาท หรือลดลง 15.86% ผลพวงจากสถานการณ์ “อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโทรทัศน์” ที่ “ปรับตัวลดลง” บริษัทจึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้อง โดยใช้เม็ดเงินในการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์คอนเทนต์ โดยเฉพาะ “oneD Original” มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง ทำรายได้รวม 4,245.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.73 ล้านบาท หรือเพิ่ม 1.50% ธุรกิจไอดอล มาร์เก็ตติ้ง โตแกร่ง สร้างรายได้รวม 2,223.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 237.03 ล้านบาท หรือเพิ่ม 11.93% เป็นต้น
สำหรับปี 2568 บริษัทยังเดินโยบาย “Content Creator & Lifestyle Entertainment ” สร้างสรรค์ ผลิตผลงานใหม่ๆ ให้เป็นที่ต้องการของลูกค้า ผู้ชม และแฟนคลับ เสาะหาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างทันท่วงที เมื่อเม็ดเงินและโอกาสในอุตสาหกรรมมาถึง
ด้านบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือช่องเวิร์คพอยท์ ผลการดำเนินงานปี 2567 มีรายได้รวม 2,339.78 ล้านบาท “ลดลง” 79.34 ล้านบาท หรือลดลง 3% และยังมีผล “ขาดทุน” 201.02 ล้านบาท ลดลง 214.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงถึง 1,591% จากปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 13.48 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งมาจากการขายโฆษณา โปโมทในช่วงเวลาต่างๆของช่อง มีรายได้ 1,643.78 ล้านบาท ลดลง 252.45 ล้านบาท หรือลดลง 13% การลดลงยังเกิดขึ้นทั้ง “ทีวีดิจิทัล” และ “ออนไลน์” ด้วย อันเป็นผลพวงกจากเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ส่วนรายได้อื่น เช่น รับจ้างจัดงานอีเวนต์ รับจ้างผลิตฯ เติบโต 78% การจัดคอนเสิร์ตและละครเวที รายได้เติบโต 11% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 บริษัทปรับกลยุทธ์ธุรกิจคอนเสิร์ต “ลด” การจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขัน ส่วนเทศกาลดนตรีจะผนึกพันธมิตรค่ายเพลงและลงทุนร่วมกัน
ทีมา.. https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1168209