หุ้นไทยกับไวรัสโควิด-19
หลังจากเก็บความสงสัยมาระยะหนึ่งแล้ว ก็อดรนทนไม่ได้ เพราะไม่สามารถหาคำตอบสำเร็จรูปจากโลกอินเทอร์เน็ตได้ ผมจึงต้องค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง ในเรื่องของผลกระทบจากโรคระบาดในตระกูลโคโรน่าไวรัสที่มีต่อตลาดหุ้นไทย
ไวรัสโคโรน่าที่ว่านั้น ถูกพูดถึงกันมากๆ อยู่ 3 โรค คือ โรคซาร์ส (SARS) โรคเมอร์ส (MERS) และ โควิด-19 (COVID-19)
โรคซาร์ส (SARS) ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome หรือชื่อภาษาไทยว่า “โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ” ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปก็พบว่าผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อซาร์ส เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ต้นตอมาจากประเทศจีน แล้วจึงระบาดออกไปใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยในระยะเวลา 8 เดือน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 8,098 คน เสียชีวิต 774 คน อัตราการเสียชีวิต 9.6%
เมื่อไปดูการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET INDEX) ในช่วงที่ซาร์สระบาดนั้น มีความกังวลที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดการขั้นเด็ดขาดกับซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก โดยกองกำลังที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่บุกไปยึดอิรัก และเปลี่ยนประเทศอิรักเป็นสนามรบ
เมื่อกลับไปดูข่าวในช่วงนั้น นักลงทุนกังวลเรื่องสหรัฐกับอิรักมากกว่าโรคซาร์สเสียอีก แต่โรคซาร์สก็ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 40% ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 46 ทำให้ส่งผลกระทบกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้กระทบต่อตลาดหุ้นในวงกว้างแต่อย่างใด โดยดัชนีราคาหุ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 (โลกรับรู้เรื่องโรคซาร์ส) จนถึงเดือนเมษายน 2546 ดัชนีแกว่งขึ้นลงแถวๆ 370 จุด พอเดือนพฤษภาคม 2546 ดัชนีก็ขยับมาอยู่เหนือ 400 จุด
มาถึงอีกโรคหนึ่งคือ โรคเมอร์ส (MERS) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) พบรายแรกที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือน ก.ย.2555 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะเวลา 8 เดือน มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 108 คน แต่สัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงมาก คือเสียชีวิต 38 คน หรือประมาณ 35% จากนั้นก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งผ่านไป 2 ปีครึ่ง ก็มีผู้ติดเชื้อแตะ 1,000 คน และใช้เวลาเกือบ 8 ปี จึงพบผู้ติดเชื้อประมาณ 2,500 คน ใน 22 ประเทศ
เมื่อดูการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหุ้นในช่วงนั้น ก็ไม่พบว่าโรคเมอร์สจะมีผลต่อตลาดหุ้นแต่อย่างใด โดยดัชนีราคาหุ้นปรับขึ้นจาก 1,300 จุด ไปที่ 1,600 จุด (ช่วงเดือน ก.ย. 55 – มิ.ย. 56) และมาสะดุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งสหรัฐอเมริกาชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดการอัดฉีดเงิน (คิวอี)
เมื่อผมได้ข้อมูลข้างต้นอย่างชัดเจนแล้ว จึงถึงบางอ้อ ว่าทำไม โควิด-19 จึงส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรุนแรงนัก
หนึ่ง เพราะการระบาดที่รวดเร็วและกว้างขวางกว่าซาร์สและเมอร์สมากมายนัก โดยโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อแตะ 1,000 คน ในเวลาเพียง 48 วัน ในขณะที่โรคซาร์ส ใช้เวลา 130 วัน และเมอร์ส ใช้เวลาถึง 903 วัน หรือ 2 ปีครึ่ง ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระจายออกไปถึง 51 ประเทศแล้ว และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 83,000 คน อีกทั้งยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่โรคซาร์สและเมอร์ส กระจายไปแค่ 17 และ 22 ประเทศ และมีผู้ติดเชื้อในหลักพันคนเท่านั้น ไม่ถึงหมื่นคน
สอง ต่อเนื่องมาจากประเด็นแรก เมื่อการระบาดกว้างขวาง และยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลชัดเจน จึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้รายได้ในภาคบริการหดหาย กิจกรรมทางการตลาดจำนวนมากต้องหยุดลง และกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจหายไปทั่วโลก ดูได้จากการลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคผลิต และภาคการบริโภคต่อไปในอนาคต ในที่สุดจะสะท้อนมาที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆ ที่จะลดลง
และหากมองให้ลึกลงไปอีก เราจะเห็นว่าความแตกตื่นเทขายหุ้นเพราะเหตุแห่งไวรัสโคโรน่านี้ เป็นเพราะโลกยังไม่เคยเจอโรคระบาดที่กระจายไปหลายประเทศมากมายขนาดนี้มาก่อน ยังไม่เคยเห็นการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่รวดเร็วขนาดนี้ แต่หาก โควิด-19 นี้ไม่ได้นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความคุ้นชินจะเริ่มเกิดขึ้น ความแตกตื่นลดลง และราคาหุ้นทั่วโลกก็จะดีดกลับ
จับจังหวะกันให้ดีครับ คนติดหุ้นบาดเจ็บแสนสาหัสจาก โควิด-19 แต่คนที่มีเงินสดสะสม และยังสามารถนำไปลงทุนในหุ้นได้ ก็มีโอกาสจะสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้เช่นกัน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก