Huawei (หัวเหว่ย) เป็นบริษัทสัญชาติจีน 100% ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อแบรนด์สมาร์ทโฟน การเข้ามาทำตลาดแรกๆของหัวเหว่ยไม่ประสบความสำเร็จมากนักในประเทศไทยอาจจะเป็นเพราะคนไทยยังติดอยู่กับการใช้ไอโฟนของ Apple และแอนดรอยในแบรนด์ Samsung ที่เข้ามาทำตลาดก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว แต่หัวเหว่ยใช้เวลาไม่นานนักในการสร้างชื่อในไทย จนก้าวขึ้นมาเบียดกับ Samsung แบบประกบติดอาจจะเป็นเพราะสมาร์ทโฟนของหัวเหว่ยมีหลายระดับราคาตั้งแต่ถูกเครื่องละ 2,000 - 3,000 บาท ไปจนถึงสองหมื่นขึ้น
แต่เดิมนั้นหัวเหว่ยจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์โทรคมนาคม ประเภท Network ,Telecom และอุปกรณ์เครือข่าย ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่สำหรับคนในวงการย่อมรู้จักเป็นอย่างดี ว่าแต่ใครคือผู้ก่อตั้งหัวเหว่ย และเขาคนนั้นมีแนวคิดอย่างไรถึงสามารถพาบริษัทมาไกลสู่ระดับโลกได้
เรามาทำความรู้จักกันครับ ....
หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยเหรินเจิ้งเฟย ... เด็กชายเหรินเจิ้งเฟยเกิดในปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศจีนลำบากที่สุดภายใต้การนำของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดสังคมนิยมแบบเหมาเจ๋อตง อีกทั้งเป็นช่วงภัยสงครามการรุกรานของชาวญี่ปุ่น เขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่เดิมพ่อของเขาเป็นชาวภาคกลาง และย้ายถิ่นฐานมาอยู่กวางโจวเพราะหนีการรุกรานชาวญี่ปุ่น และได้ทำงานในกองทัพของก๊กมินตั๋ง หลังจากนั้นก็ลาออกมาเป็นครูในโรงเรียนชนบทได้แต่งงานกับแม่ของเขาซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเช่นเดียวกัน
เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง Huawei
เหรินเจิ้งเฟย มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เด็กชายเหรินเป็นลุกคนโต มีหน้าที่ดูแลน้องๆ ในทุกๆเดือนค่าใช้จ่ายของครอบครัวสูงมาก พ่อแม่ของเขาหาเงินมาไม่พอกิน ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่าว่าทุกันเปิดเทอม เขาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนให้ครูในราคา 3 หยวน แต่เขาไม่มีเงิน คุณครูจึงกดดันโดยการเรียกเขามาหน้าชั้นเพื่อทำโทษ บางครั้งก็ถูกตี บางครั้งก็ให้ออกไปยืนหน้าห้องเรียน เป็นที่ตลกขบขันของเพื่อนๆ แม่เขาเห็นดังนั้นรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่ลูกโดนกลั่นแกล้ง ทำให้พ่อแม่ต้องออกไปหายืมเงินจากคนข้างบ้านเพื่อมาจ่ายค่าเทอม ในบางครั้งก็โดนครูที่โรงเรียนดุด่าเกี่ยวกับเสื้อผ้าเครื่องแบบที่เก่าและดูสกปรก แต่เด็กชายเหรินไม่กล้าบอกแม่เพราะรู้ดีว่า ถ้าแม่ซื้อให้เขา น้องๆก็จะต้องอดไปด้วย สู้เอาเงินนั้นมาทำอย่างอื่นดีกว่า
ในสมัยก่อนมักจะมีคำกล่าวว่า "มีลูกมาก จะยากจน" ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ครอบครัวของเขาต้องขุดหัวมัน เก็บผักที่ปลูกขึ้นเองตามบ้านมาต้มกิน ต้องเป็นเทศกาลเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้กินหมู เห็ด เป็ดไก่ ครั้งหนึ่งในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาอ่านหนังสือจนหิวมาก แต่ที่บ้านไม่มีอะไรกิน เขาจึงเดินไปหน้าบ้านและเก็บผักแถวๆนั้นมาต้มกับน้ำเปล่า ใส่เกลือ กินเวลาหิว
ในช่วงเวลานั้นแนวคิดสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ถูกปลูกฝังให้กับเยาวชน ในเรื่อง "ชาติต้องมาก่อน" ดังนั้นเขาจึงมีแนวคิดและปณิธานที่ยิ่งใหญ่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาของชาติ ยอมเสียสละ อ่อนน้อมถ่อมตน ทำมากได้น้อยไม่เป็นไร ขอให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดก็เพียงพอแล้ว
เหรินเจิ้งเฟย จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฉงชิ่งและเข้าทำงานในพรรคคอมมิวนิสต์ ในตอนแรกเขาอยากจะเอาดีทางด้านการเป็นทหาร แต่เขากลับมีปากเสียงกับพ่อของเขาบ่อยครั้งเพราะพ่อของเขาอยู่ฝ่ายก๊กมินตั๋ง ที่ไม่ถูกกับพรรคคอมมิวนิสต์ ประกอบกับตอนนั้นพรรคจำเป็นจะต้องปลดคนงานออก 5 แสนคน ซึ่งมีเขาอยุ่ในนั้นด้วย เขาจึงเดินทางไปเมืองเซินเจิ่นเพื่อศึกษาธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์
ในปี 1987 เหรินเจิ้งเฟยก่อตั้งบริษัทหัวเหว่ยด้วยเงินทุน 21,000 หยวน ทำธุรกิจ "เทรดดิ้ง" ซึ่งเขายังไม่นิยามธุรกิจของเขาว่าจะค้าขายอะไรดี แต่คิดว่าน่าจะเป็นอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับ "ไฮเทค" เขาจึงขายตั้งแต่เครื่องส่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ ไปจนถึงยาลดความอ้วน ไปๆมาๆเขาเริ่มจำหน่ายตู้โทรศัพท์ที่นำเข้ามาจากฮ่องกง ซึ่งขายดีมาก ตัวเขาเองจึงเริ่มมองเห็นและนิยามคำว่า "เทรดดิ้ง" ได้แล้วว่า เขาจะค้าขายอะไร ..
หัวเหว่ยเริ่มนำเข้าตู้โทรศัพท์จากฮ่องกงมายังประเทศจีน นานวันเข้า เขาพัฒนามารับติดตั้งตู้โทรศัพท์ ระบบชุมสายโทรศัพท์ตามคำสั่งของรัฐบาลจีน ธุรกิจของเขาเติบโตเร็วมากเป็นเพราะว่าไม่มีคู่แข่งและตัวเขาเองก็มี "คอนเน็คชั่น" ที่ดีกับคนในพรรคคอมมิวนิสต์
ด้วยการศึกษาในวัยเด็ก ทำให้ความคิดของเมาเจ๋องตงมีอิทธิพลกับความคิดของเขามาก โดยทั่วไปชาวจีนที่สร้างตัวจนร่ำรวยแล้ว เขามักจะขายหุ้นออกไป รับเงินก่อนโตและหนีไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเพื่อเริ่มต้นใหม่ มีลูกมีหลานที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา สังคมที่ดีกว่า แต่คงไม่ใช่กับชายที่ชื่อ เหรินเจิ้งเฟย เขามีแนวคิดว่าเมื่อเราประสบความสำเร็จ จำต้องแบ่งปันให้กับประเทศชาติ เขาถึงกับเคยพูดไว้ว่า
"หัวใจของหัวเหว่ย คือ พนักงานและเหมาเจ๋อตง"
หัวเหว่ยเดินหน้าดำเนินธุรกิจในประเทศจีนต่อ กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านอุปกรณ์สื่อสาร โทรคมนาคมของโลก ในปี 2010 หัวเหว่ยติดอันดับ 200 บริษัทยักษ์ใหญ่ของนิตยสาร Fortune ด้วยยอดขายที่มากกว่า 21.8 พันล้านเหรียญ และกำไรสุทธิแตะระดับ 2.67 พันล้านเหรียญ ซึ่งความใหญ่ขนาดนี้สามารถขาย IPO เข้าตลาดหุ้นกลายเป็นมหาชนได้สบาย แต่บริษัทไม่เลือกเส้นทางนั้น กลับยังใช้ชื่อบริษัทจำกัดโดยไม่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป แต่กลับกระจายหุ้นให้เฉพาะกับพนักงานบริษัท ก็ถือเป็นเรื่องราวที่แปลกดีครับ